เอเอฟพี - เหล่าผู้บริจาคนานาชาติวานนี้ (12 ต.ค.) ต่างให้คำมั่นจะมอบเงินช่วยเหลือราว 5.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.75 แสนล้านบาท) เพื่อบูรณะฉนวนกาซา ที่พังพินาศย่อยยับจากปฏิบัติการโจมตีทางอากาศของกองทัพอิสราเอลเมือเดือนสิงหาคม พร้อมทั้งเรียกร้องให้รัฐยิว กับปาเลสไตน์หวนคืนสู่โต๊ะเจรจาสันติภาพอีกครั้งหนึ่ง
การประชุมครั้งนี่ ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงไคโร อียิปต์ มีจุดมุ่งหมายเพื่อระดมเงินบริจาค สำหรับบูรณะซ่อมแซมฉนวนกาซา ที่ถูกทำลายอย่างกว้างขวาง ระหว่างสงคราม 50 วัน เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ช่วงเวลาที่อิสราเอลส่งเครื่องบินรบไปทิ้งระเบิดโจมตีกลุ่มอิสลามิสต์ “ฮามาส” ซึ่งตอบโต้กลับมาด้วยการกระหน่ำยิงจรวดใส่รัฐยิว
บอรจ์ เบรนเด รัฐมนตรีต่างประเทศนอร์เวย์ อ่านคำแถลงปิดการประชุม ซึ่งนอร์เวย์ร่วมเป็นเจ้าภาพ โดยระบุว่า “ผู้เข้าร่วมประชุมได้สัญญาว่าจะบริจาคเงินประมาณ 5.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ”
กาตาร์ ซึ่งเป็นประเทศเศรษฐีน้ำมันเป็นหัวเรือใหญ่ในการบริจาคเงินครั้งนี้ โดยสัญญาจะมอบเงินช่วยเหลือ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.2 หมื่นล้านบาท) ให้แก่ถิ่นที่อยู่อาศัยของชาวปาเลสไตน์ ที่ตั้งอยู่ติดทะเลแห่งนี้
จอห์น เคร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ แถลงว่า กาซากำลังเผชิญกับความท้าทาย “ระดับมหึมา”
เคร์รีกล่าวในที่ประชุม ซึ่งมีผู้แทนจากราว 30 ชาติทั่วโลกมาเข้าร่วมว่า “ชาวกาซากำลังต้องการความช่วยเหลือจากเราอย่างสิ้นหวังจริงๆ พวกเขาไม่สามารถรอได้ถึงพรุ่งนี้ หรือสัปดาห์หน้า แต่พวกเขาต้องการตอนนี้”
เคร์รี ผู้ที่ประสบความล้มเหลวในการผลักดันข้อตกลงสันติภาพระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ได้เรียกร้องให้มีการเจรจาสันติภาพ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุรุนแรงในฉนวนกาซาขึ้นอีก และกล่าวว่าอิสราเอลกับปาเลสไตน์จำเป็นต้องตัดสินใจครั้งยิ่งใหญ่
บรรดาผู้แทนจากชาติอาหรับ และยุโรปก็ออกมาเน้นย้ำข้อเรียกร้องของ เคร์รี
บัน คีมูน เลขาธิการองค์การสหประชาชาชาติ (ยูเอ็น) เตือนว่า ฉนวนกาซา ที่มีชาวปาเลสไตน์อาศัยอยู่อย่างหนาแน่น และปกครองโดยขบวนการอิสลามิสต์ “ฮามาส” มานับตั้งแต่ปี 2007 นั้นยังเป็น “ชนวนเหตุ” พร้อมกันนี้เขาได้ประกาศแผนเดินทางเยือนกาซาในวันพรุ่งนี้ (14)
ทั้งนี้ ชาวปาเลสไตน์ได้ขอเงินบริจาคราว 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากนานาชาติเพื่อซ่อมแซมความเสียหายในฉนวนกาซา
วานนี้ (12) วอชิงตันให้คำมั่นจะบริจาคเงิน 212 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 6.87 พันล้านบาท) และสหภาพยุโรสัญญาวจะมอบเงินช่วยเหลือ 450 ล้านยูโร (ราว 1.85 หมื่นล้านบาท) ขณะที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และคูเวตประกาศจะบริจาคชาติละ 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 6.48 พันล้านบาท)
ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคมได้คร่าชีวิตชาวปาเลสไตน์ไปเกือบ 2,200 คน โดยในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นพลเรือน ขณะที่การจู่โจมจากฝั่งกาซาได้สังหารพลเมืองอิสราเอลไป 73 คน โดยส่วนใหญ่เป็นทหาร
นอกจากนี้ปฏิบัติการทหารของกองทัพยิวยังทำให้สิ่งปลูกสร้างในกาซากลายเป็นซากปรักหักพัง ส่งผลให้ประชากรกว่า 1 ใน 4 ของฉนวนกาซาจากทั้งหมด 1.7 ล้านคนต้องพลัดจากถิ่นที่อยู่ และทำให้ชาวปาเลสไตน์ 100,000 คนต้องกลายเป็นคนไร้ที่อยู่
องค์การสหประชาชาติได้วางแผนจะระดมเงินทุนมูลค่า 2.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 6.8 หมื่นล้านบาท) โดยจะมอบ 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 5.2 หมื่นล้านบาท) ให้แก่สำนักงานบรรเทาทุกข์และจัดหางานของสหประชาชาติสำหรับผู้ลี้ภัยปาเลสไตน์ในตะวันออกใกล้ (UNRWA) รวมถึงกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ตลอดจนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP)
คำถามที่สำคัญคือ แล้วนานาชาติจะสามารถส่งความช่วยเหลือเข้าไปยังกาซาได้อย่างไร โดยเฉพาะเมื่ออิสราเอลปิดล้อมดินแดนแห่งนี้อย่างเข้มงวดกวดขันมาตั้งแต่ปี 2006
เบรนเด กล่าวว่า เงินบริจาคครึ่งหนึ่งจะถูกนำไปใช้บูรณะซ่อมแซมสิ่งปลูกสร้างในฉนวนกาซา ขณะที่ส่วนที่เหลือจะใช้เป็นงบประมาณสนับสนุนองค์การบริหารแห่งชาติปาเลสไตน์ (พีเอ) และโครงการพัฒนาต่างๆ ในเขตเวสต์แบงก์
แม้ว่าอิสราเอลจะไม่ได้รับเชิญให้มาเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ แต่ เอวิกดอร์ ลีเบอร์แมน รัฐมนตรีต่างประเทศอิสราเอลกล่าวว่า ก่อนจะมีการลงมือดำเนินการใดๆ ก็ตามจะเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลอิสราเอลเสียก่อน
ลีเบอร์แมน ระบุทางเว็บไซต์ข่าววายเน็ตว่า “กาซาไม่สามารถดำเนินการบูรณะโดยไม่ได้รับความร่วมมือ และการมีส่วนร่วมจากอิสราเอล” กระนั้นเขาก็กล่าวเสริมว่า อิสราเอล “เต็มใจ” ที่จะวางแผน “ซ่อมแซมโครงสร้างขั้นพื้นฐานของพลเรือนในฉนวนกาซา”