เอเอฟพี – คณะผู้จัดงานเทศกาลภาพยนตร์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียออกมาปกป้องการตัดสินใจของพวกเขาที่จะฉายภาพยนตร์ที่กำลังเป็นข้อถกเถียงเรื่องหนึ่ง ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับโศกนาฏกรรมเรือเฟอร์รีของเกาหลีใต้ ขณะที่งานเทศกาลนี้ ซึ่งมีจำนวนผู้เข้าเยี่ยมชมมากเป็นเป็นประวัติการณ์ ใกล้ปิดฉากลงแล้วในวันนี้ (11)
ภาพยนตร์สารคดีรอบปฐมทัศน์เรื่อง “Diving Bell” หรือ “ความจริงจะต้องไม่จมหายไปกับเซวอล” ได้สร้างความอึมครึมครอบงำงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน (บีไอเอฟเอฟ) ครั้งที่ 19 ซึ่งจัดเป็นเวลา 10 วัน
ภาพยนตร์เรื่องนี้ตั้งคำถามถึงปฏิบัติการกู้ภัยในช่วงโศกนาฏกรรมเรือเฟอร์รีเซวอลเมื่อเดือนสิงหาคมที่คร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 300 คน โดยส่วนใหญ่เป็นเด็กนักเรียน อีกทั้งยังมีการนำชื่อของอุปกรณ์จากปฏิบัติการกู้ภัยมาเป็นชื่อเรื่องด้วย
“ผู้คนเพียงแค่กำลังแสดงทัศนะของพวกเขาเท่านั้น” ลี ยอง-ควาน หัวหน้าผู้จัดงานเทศกาลพูดถึงการถกเถียงดังกล่าว “เมื่อเราได้ตัดสินใจฉายภาพยนตร์เรื่องนี้แล้ว เราจำต้องรับผิดชอบการตัดสินใจนั้น”
ตามกระแสข่าวระบุว่า คณะผู้จัดงานกำลังถูกกดดันจากพวกนักการเมืองท้องถิ่น รวมถึงนายกเทศมนตรีเมืองปูซานให้ถอนภาพยนตร์เรื่องนี้ออกจากโปรแกรมการฉาย เพราะเนื้อหาอันอ่อนไหวของมัน
ด้านกลุ่มผู้กำกับชาวเกาหลีก็ได้ขึ้นโต๊ะแถลงข่าวในช่วงงานเทศกาลนี้ด้วย โดยพวกเขาเรียกร้องให้ทางการสืบสวนโศกนาฏกรรมดังกล่าว
โดยรวมแล้ว บีไอเอฟเอฟดึงดูดผู้เข้าชมได้ 226,473 คนเป็นประวัติการณ์ โดยพวกเขาได้ชมภาพยนตร์ไปแล้วมากกว่า 300 เรื่อง ในจำนวนดังกล่าวเป็นรอบปฐมทัศน์ของโลก 96 เรื่อง
อย่างไรก็ตาม ภาพยนตร์เรื่อง “Diving Bell” ยังคงเป็นประเด็นร้อนตลอดงานนี้
การตัดสินใจฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ของผู้จัดงานเทศกาลนำมาซึ่งเสียงชื่นชมจาก โจชัว ออพเพนไฮเมอร์ ผู้สร้างภาพยนตร์สารคดีอเมริกันเรื่อง “The Act of Killing” ซึ่งได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลออสการ์ และเป็นผู้ขึ้นรับรางวัล ปูซาน ซีเนไฟล์ ซึ่งมาจากการที่นักศึกษาภาพยนตร์พื้นเมืองเทคะแนนโหวตให้กับภาพยนตร์เรื่อง “Look of Silence” อีกหนึ่งผลงานที่ตามมาของเขา
“ถ้าพวกเขาไม่ทำเช่นนั้น งานเทศกาลภาพยนตร์ครั้งนี้จะตกต่ำลงท่ามกลางความอัปยศและความฉาวโฉ่” ออพเพนไฮเมอร์ ซึ่งอุทิศรางวัลของเขาแก่เหล่าผู้ที่ “แสวงหาเสรีภาพและความยุติธรรม และให้กับประชาชนชาวอินโดนีเซียในโศกนาฏกรรมการสังหารหมู่ด้วย” กล่าว
ทั้ง “Act of Killing” และ “Look of Silence” มีเนื้อหาพุ่งไปที่ประเด็นการสังหารหมู่ประชาชนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ในอินโดนีเซีย เมื่อช่วงทศวรรษ 1960