เอเอฟพี - ผู้ชุมนุมราว 200,000 คนวานนี้ (9 ต.ค.) ร่วมกันจุดเทียนรำลึกวาระครบรอบ 25 ปีการเดินขบวนประท้วงที่เป็นจุดพลิกผันอันนำไปสู่การทำลาย “กำแพงเบอร์ลิน” ในหนึ่งเดือนต่อมา
บรรดาผู้นำประเทศยุโรป และชาติคู่ปรับเก่าได้ร่วมฉลองกับชาวเยอรมัน ในเดินขบวนรำลึกที่เมืองไลพ์ซิจ ทางภาคตะวันออกของเยอรมนี พร้อมกันนี้พวกเขาได้กล่าวเตือนถึงสถานการณ์ความตึงเครียดแบบสงครามเย็น ระหว่างชาติตะวันตกกับรัสเซียที่กำลังทวีความร้อนระอุ
พิธีรำลึกครบรอบ 25 ปีจะมีขึ้นเป็นเวลาหนึ่งเดือน จนถึงวันที่ 9 พฤศจิกายน หนึ่งวันก่อนเมืองหลวงของเยอรมนีหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน นับตั้งแต่เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจคอมมิวนิสต์ร่วมกันทุบทำลายกำแพงอันเป็นที่เกลียดชังในกรุงเบอร์ลิน
ประชาชนชาวเยอรมันตะวันออกจะร่วมเดินขบวนประท้วงรัฐคอมมิวนิสต์ทุกๆ เย็นวันจันทร์ ในฤดูใบไม้ร่วงเมื่อปี 1989 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สำคัญในประวัติศาสตร์
เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 1989 การประท้วงโดยสันติที่เมืองไลพ์ซิจ ซึ่งมีประชาชนเข้าออกมาเข้าร่วมราว 70,000 คน ได้สร้างความตกตะลึงให้แก่เจ้าพนักงานในเยอรมันตะวันออก และทหารโซเวียตที่แทบไม่เชื่อสายตาตนเอง
เหตุการณ์ครั้งนั้นถือเป็นจุดพลิกผันสำคัญ หลังจากเกิดเหตุไม่สงบมานานหลายเดือน จนจุดประกายให้เกิดความหวาดกลัวว่า เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจจะใช้ความรุนแรงปราบปรามผู้ประท้วงจนเกิดเหตุนองเลือดเหมือนที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ในกรุงปักกิ่ง เมื่อเดือนมิถุนายน ในปีนั้น
ประธานาธิบดี โยอาคิม เกาค์ แห่งเยอรมนี อดีตบาทหลวงนิกายลูเธอรัน ซึ่งเคลื่อนไหวสนับสนุนประชาธิปไตยในเยอรมันตะวันออก ดินแดนที่ปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ ได้เรียกปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในคืนวันที่ 9 ตุลาคมว่าเป็นความมหัศจรรย์ พร้อมทั้งชื่นชมความกล้าหาญของกลุ่มผู้ชุมนุม
บุคลสำคัญที่มาร่วมพิธีกับ ประธานาธิบดีเมืองเบียร์ มีดังเช่น ประธานาธิบดีสาธารณรัฐเช็ก, สโลวาเกีย และฮังการี ตลอดจน เจมส์ เบเกอร์ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ และเฮนรี คิสซินเจอร์ นักการทูตอเมริกันเชื้อสายเยอรมัน
การทำลายกำแพงเบอร์ลิน เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 1989 ได้ช่วยทำให้ชาวเยอรมันตะวันออกที่เรียกร้องเสรีภาพในการเดินทางมาเนิ่นนานได้สมปรารถนา และนำไปสู่จุดสิ้นสุดของระบอบปกครองคอมมิวนิสต์ ตลอดจนการรวมสองเยอรมันเข้าเป็นหนึ่งเดียวกันในเดือนตุลาคม 1990