เอพี - นักบวชยิว อิหม่าม และบาทหลวงคริสต์เริ่มสวดภาวนา “ใต้หลังคาเดียวกัน” อาจฟังดูเหมือนการเกริ่นนำก่อนเล่าเรื่องตลก แต่ก็มีความเป็นไปได้สูงมาก ที่จะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นจริงที่กรุงเบอร์ลิน
ชาย 3 คนกำลังร่วมมือกันสร้างศาสนสถานร่วมกัน ใจกลางเมืองหลวง ซึ่งมีชื่อว่า “บ้านแห่งความเป็นหนึ่งเดียว” (House of One) โดยพวกเขามีแผนจะรวมเอาโบสถ์คริสต์ มัสยิด และโบสถ์ยิวเข้าในสถานที่เดียวกัน ทั้งยังจะมีการสร้างห้องชุมนุมใหญ่ไว้กึ่งกลางอาคาร
บาทหลวง เกรกอร์ โฮห์เบิร์ก จากสังฆมณฑลเซนต์เปตรี ของกรุงเบอร์ลินกล่าวกับเอพีว่า “เราสังเกตเห็นว่า คนมากมายต้องการพบเจอคนที่มีภูมิหลังแตกต่างกัน และนับถือคนละศาสนา และเรามีความปรารถนาอย่างแรงกล้า ที่จะแสดงให้เห็นว่า คนที่นับถือคนละศาสนาสามารถเป็นเพื่อนกันได้ ... เหมือนที่ชุมชนใจกลางเมืองแห่งนี้ ที่เราต้องการจุดประเด็น และแสดงให้เห็นว่า ศาสนาสามารถก่อให้เกิดสันติภาพได้”
โฮห์เบิร์ก เกิดความคิดที่จะสร้างบ้านแห่งความเป็นหนึ่งเดียว จึงรวมกลุ่มกับ โตเวีย เบน โคริน นักบวชชาวยิวในกรุงเบอร์ลิน และอิหม่าม คาดีร์ ซันซี โดยทั้งสามหวังว่า เร็วๆ นี้ชาวคริสต์ ชาวยิว และชาวมุสลิมจะศึกษาและสวดภาวนาร่วมกัน
เบน โคริน นักบวชยิวกล่าวว่า “พ่อเชื่อในพลังของการสนทนา ... ในโลกของเรา เรามีความเป็นไปได้เพียง 2 ทางเท่านั้น คือไม่สงครามก็สันติภาพ การสร้างสันติภาพเป็นกระบวนการ และคุณต้องพูดคุยกันเพื่อให้ได้มาซึ่งสันติภาพ”
ทั้งสามมีแผนจะสร้างสถานที่นัดพบของคนต่างความเชื่อในอนาคต ขึ้นบริเวณจัตุรัส “เปตรีปลาตซ์” ในตัวเมืองบอร์ลิน ซึ่งตอนนี้มีต้นมะเดื่อใหญ่ไม่กี่ต้นขึ้นบนดินทราย และล้อมรอบไปด้วยถนนอันพลุกพล่าน ตลอดจนอาคารที่พักอาศัย ซึ่งปลูกสร้างในสมัยที่พื้นที่นี้ยังเป็นเยอรมันตะวันออก
อย่างไรก็ตาม พื้นที่นี้มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน โดยเป็นจุดแรกที่มีการก่อตั้งกรุงเบอร์ลินขึ้น ในศตวรรษที่ 13 และเป็นที่ตั้งของโบสถ์เซนต์เปตรี มานานหลายร้อยปี จนกระทั่งศาสนสถานแห่งนี้ได้รับความเสียหายรุนแรงในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของเยอรมันตะวันออกได้รื้อถอนออกไปเมื่อปี 1964
กรุงเบอร์ลิน ซึ่งได้รับที่ดินผืนนี้เป็นมรดกตกทอด ภายหลังที่มีการทุบทำลายกำแพงเบอร์ลินในปี 1989 ได้ไฟเขียวให้มีการก่อสร้างบ้านแห่งความเป็นหนึ่งเดียวกัน
บริษัทสถาปนิก มัลเวซซี คูเอน ของกรุงเบอร์ลินได้ออกแบบให้ศาสนสถานร่วมมีความสูง 40 เมตร และมีหอที่สามารถเปิดให้ผู้เยี่ยมชมขึ้นไปได้ ขณะที่ห้องประชุมตรงกลางซึ่งตั้งอยู่ติดกับโบสถ์คริสต์ โบสถ์ยิว และมัสยิด จะสามารถรองรับศาสนิกชนได้ 380 คน
มีการประมาณการว่า งบประมาณในการก่อสร้างจะอยู่ที่ 43.5 ล้านยูโร (ราว 1.88 พันล้านบาท) โดยที่เงินทั้งหมดจะมาจากการรับบริจาค โดยนักบวชคริสต์ ยิว และอิหม่ามได้รณรงค์หาเงินบริจาคผ่านทางเว็บไซต์ ให้คนทั่วโลกร่วมกันซื้ออิฐสร้างอาคารก้อนละ 10 ยูโร (ราว 432 บาท)
นับตั้งแต่เริ่มดำเนินการโครงการนี้ เมื่อต้นเดือนมิถุนายน พวกเขาก็ได้รับเงินราว 35,000 ยูโร (ราว 1.5 ล้านบาท) โดยที่หัวเรือใหญ่ทั้งสามยังพยายามหาสปอนเซอร์ และเงินบริจาคจากภาคเอกชน ตลอดจนวางแผนจะเริ่มก่อสร้างในปี 2016 แต่ยังไม่ได้ประมาณการว่า บ้านหลังนี้จะแล้วเสร็จเมื่อใด
ในเวลาเดียวกัน เหล่าผู้ศรัทธาที่นับถือคนละศาสนาได้ร่วมกันสวดภาวนากลางแจ้งในพื้นที่ ซึ่งในอนาคตจะเป็นที่ตั้งบ้านแห่งความเป็นหนึ่งเดียว โดยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ประชาชนราว 150 คนได้ร่วมกันสวดภาวนาเพื่อสันติภาพในตะวันออกกลาง และขอให้วิกฤตความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยุติลง