เอเอฟพี - รัฐบาลออสเตรเลียเผชิญเสียงเรียกร้องให้ต้องตรวจสอบการอุ้มบุญเชิงพาณิชย์อย่างจริงจัง หลังผู้พิพากษาอาวุโสออกมาเปิดเผยว่าสามีภรรยาชาวออสซีอีกคู่ปฏิเสธบุตรที่เกิดจากแม่อุ้มบุญชาวอินเดีย คล้ายกับกรณี “น้องแกรมมี่” ในไทย
ไดอานา ไบรอันต์ หัวหน้าผู้พิพากษาศาลครอบครัว แถลงว่า เจ้าหน้าที่สถานกงสุลออสเตรเลียในกรุงนิวเดลีต้องช่วยหาบ้านให้แก่เด็กคู่แฝดที่เกิดจากการอุ้มบุญ หลังคู่สามีภรรยาที่ว่าจ้างให้หญิงชาวภารตะช่วยอุ้มท้องแทนยืนกรานว่าต้องการลูกแค่คนเดียว
“เจ้าหน้าที่บอกกับดิฉันว่า แม่อุ้มบุญได้ให้กำเนิดลูกแฝด แต่คู่สามีภรรยาออสเตรเลียต้องการเด็กเพียงคนเดียว” ไบรอันต์ให้สัมภาษณ์ต่อสำนักข่าวออสเตรเลียน บรอดคาสติง คอร์ปอเรชัน
เธอกล่าวเสริมว่า ได้รับทราบปัญหานี้จากเจ้าหน้าที่สถานกงสุลตั้งแต่ปี 2012
“พวกเธอกังวลต่อสิ่งที่เกิดขึ้นมาก และพยายามทำดีที่สุดแล้วที่จะโน้มน้าวพ่อแม่ออสเตรเลียให้ยอมรับเด็กทั้ง 2 คน”
ไบรอันต์ กล่าวในเวทีเสวนาว่าด้วยเรื่องครอบครัวที่นครซิดนีย์วานนี้ (8) ว่า บุคคลคนหนึ่งที่อ้างว่าเป็น “เพื่อน” ของสามีภรรยาคู่นี้ได้ขอรับเด็กอีกคนไปเลี้ยง
“(เจ้าหน้าที่กงสุล) บอกดิฉันมาอย่างนี้ แต่พวกเธอก็สงสัยว่าเป็นความจริงหรือไม่ และคิดว่าอาจจะมีการจ่ายเงินว่าจ้างก็เป็นได้... ซึ่งเท่ากับเป็นการค้ามนุษย์”
ทางการแดนจิงโจ้ยังไม่ทราบว่าเด็กซึ่งพ่อแม่ไม่ต้องการคนนี้ถูกพาไปแห่งหนตำบลใด
การอุ้มบุญเชิงพาณิชย์กลายเป็นประเด็นถกเถียงระดับโลกจากกรณีของน้องแกรมมี่ ทารกเพศชายซึ่งเกิดจากแม่อุ้มบุญชาวไทยเมื่อเดือนธันวาคม และป่วยเป็นดาวน์ซินโดรมแต่กำเนิด โดยพ่อแม่บังเกิดเกล้าชาวออสเตรเลียที่เป็นคนว่าจ้างอุ้มบุญได้พาลูกสาวที่เป็นคู่แฝดของแกรมมี่กลับไปบ้านเกิด แต่ทอดทิ้งเด็กชายไว้ที่เมืองไทย
จอห์น ปาสโค ผู้พิพากษาศาลรัฐบาลกลางออสเตรเลีย เรียกร้องให้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนเรื่องนี้ โดยเตือนว่า “การอุ้มบุญเชิงพาณิชย์ข้ามประเทศกำลังกลายเป็นรูปแบบใหม่ของการค้ามนุษย์”
“จากประวัติที่ผ่านๆ มาทำให้เรามีหลักฐานพอจะเชื่อได้ว่า คนเรามักจะว่าจ้างอุ้มบุญโดยไม่มีมาตรการปกป้องทั้งเด็กที่จะเกิดมาและตัวแม่อุ้มบุญเท่าที่ควร” ปาสโคกล่าวในเวทีเสวนา ขณะที่ ไบรอันต์ ก็กล่าวสนับสนุนข้อเสนอที่ให้รัฐเข้ามาสอบสวนเรื่องนี้
“บางรัฐและบางดินแดนของเรามีกฎหมายห้ามการอุ้มบุญเชิงพาณิชย์ข้ามประเทศ แต่ถึงกระนั้นพ่อแม่บางคนก็ยังทำ ทั้งๆ ที่รู้ว่ามันผิดกฎหมาย” เธอให้สัมภาษณ์
“ปัจจุบันนี้กฎหมายอุ้มบุญยังไม่ได้ถูกบังคับใช้อย่างจริงจัง ซึ่งดิฉันมองว่าเป็นสิ่งที่เลวร้ายมาก มันทำให้ศาลตกอยู่ในภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก และเป็นการแสดงให้สังคมรับรู้ถึงความเลวร้ายที่เกิดขึ้น ในเมื่อเรามีกฎหมายแล้วก็ต้องใช้มันให้เต็มที่ หากไม่ใช้ก็ยกเลิกไปเสียเถอะ”