เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - ทางการยูกันดายืนยันพบการระบาดของไวรัส “มาร์เบิร์ก” ซึ่งมีลักษณะทางพันธุกรรมใกล้เคียงกับเชื้อไวรัส “อีโบลา” ล่าสุดพบผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 1 ราย ขณะที่ยอดผู้ต้องสงสัยว่าติดเชื้อมีทั้งสิ้นกว่า 80 คน ย้ำชัดยัง “ไม่มีหนทางรักษา”
รัฐบาลยูกันดา อดีตดินแดนอาณานิคมของอังกฤษในแอฟริกาตะวันออก ออกคำแถลงล่าสุดในวันอังคาร (7) โดยยืนยันว่าดินแดนของตนซึ่งเป็นบ้านของประชากรมากกว่า 35.8 ล้านคน กำลังเผชิญกับ “หายนะครั้งใหญ่ทางด้านสาธารณสุข” หลังพบการระบาดของเชื้อไวรัสมรณะ “มาร์เบิร์ก” ซึ่งมีลักษณะทางพันธุกรรมใกล้เคียงกับเชื้อไวรัสอีโบลาที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตกเวลานี้
คำแถลงของรัฐบาลยูกันดาระบุ ขณะนี้พบผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสมาร์เบิร์กแล้ว 1 ราย โดยผู้เสียชีวิตเป็นเจ้าหน้าที่เทคนิคการแพทย์เพศชายวัย 30 ปีซึ่งมีร่างกายแข็งแรงและทำงานอยู่ในโรงพยาบาล “เมงโก” ในกรุงกัมปาลา เมืองหลวงของประเทศ
รัฐบาลยูกันดาระบุว่า ชายคนดังกล่าวได้เสียชีวิตลงตั้งแต่เมื่อวันที่ 28 กันยายนที่ผ่านมา หลังรับเชื้อไวรัสมาร์เบิร์กเข้าสู่ร่างกายได้เพียง 11 วัน
นอกเหนือจากผู้เสียชีวิตรายดังกล่าวแล้ว ทางการยูกันดายืนยันว่าพบผู้ต้องสงสัยว่า อาจติดเชื้อไวรัสมาร์เบิร์กซึ่งยังไม่มีหนทางรักษาและไม่มีวัคซีนรวมอย่างน้อย 80 รายซึ่งถูกกักตัวไว้สังเกตอาการ โดยในจำนวนนี้มีผู้ต้องสงสัยว่าอาจติดเชื้อที่เป็นแพทย์ พยาบาลและบุคลากรด้านสาธารณสุขรวมอยู่ด้วยถึง 60 คน และประชาชนทั่วไปอีก 20 คน
ด้านนายกรัฐมนตรีรูฮากานา รูกุนดา แห่งยูกันดา ออกมาเปิดเผยผ่านทวิตเตอร์ โดยขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนกพร้อมย้ำรัฐบาลยูกันดามีประสบการณ์ในการรับมือกับการระบาดของโรคร้ายหลายชนิดมาก่อน และย้ำว่าการระบาดของไวรัสมาร์เบิร์กยังอยู่ในวงจำกัด
ทั้งนี้ เชื้อไวรัสมาร์เบิร์กถูกค้นพบครั้งแรกในโลกเมื่อปี ค.ศ. 1967 ที่เมืองมาร์เบิร์ก (หรือมาร์บวร์ก) ในประเทศเยอรมนี ก่อนจะมีการแพร่ระบาดไปยังนครแฟรงค์เฟิร์ต รวมถึงที่กรุงเบลเกรด เมืองหลวงของยูโกสลาเวียในเวลานั้น โดยไวรัสมาร์เบิร์กซึ่งติดต่อระหว่างคนสู่คนผ่านทาง “สารคัดหลั่ง” และของเหลวจากร่างกายนั้นมีอัตราการเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อสูงสุดถึง “88 เปอร์เซ็นต์”
อย่างไรก็ดี จนถึงขณะนี้ยังไม่เป็นที่แน่ชัดถึงสาเหตุของการระบาดของเชื้อไวรัสมาร์เบิร์กในยูกันดาครั้งนี้ มีเพียงการเปิดเผยข้อมูลว่าอดีตสหภาพโซเวียตเคยมีการนำเชื้อไวรัสชนิดนี้มาพัฒนาเป็น “อาวุธชีวภาพ”แต่หัวเชื้อจำนวนมากที่เคยถูกเก็บไว้ในห้องทดลองของโซเวียตได้หายไปอย่างเป็นปริศนาหลังการล่มสลายของระบอบคอมมิวนิสต์เมื่อช่วงต้นทศวรรษ 1990