xs
xsm
sm
md
lg

In Pics: ผู้เชี่ยวชาญชี้ “ภูเขาไฟออนทาเกะ” ปะทุแบบ “ไร้สัญญาณเตือน-ไม่มีทางป้องกันทัน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สำนักงานพัฒนาประจำเขตจูบุ สังกัดกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน และคมนาคมญี่ปุ่น เผยแพร่ภาพการปะทุของภูเขาไฟออนทาเกะในจังหวัดนางาโน ทางตอนกลางของญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 27 กันยายนที่ผ่านมา
เอเอฟพี – การปะทุอย่างกะทันหันและไร้สัญญาณเตือนของภูเขาไฟออนทาเกะในภาคกลางของญี่ปุ่นเป็นปรากฏการณ์ที่แทบไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จึงทำให้หน่วยงานท้องถิ่นไม่สามารถป้องกันเหตุล่วงหน้าได้ ผู้เชี่ยวชาญด้านภูเขาไฟจากฝรั่งเศสให้สัมภาษณ์เมื่อวานนี้(28)

หลังจากสงบนิ่งมานานเกือบ 35 ปี ภูเขาไฟออนทาเกะความสูง 3,067 เมตรได้ตื่นจากความหลับใหลเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา(27) และปลดปล่อยเถ้าถ่าน ไอน้ำ และหินร้อนลงสู่ลาดเขา ซึ่งเป็นเส้นทางท่องเที่ยวยอดนิยมของบรรดานักปีนเขา

ฌาคส์-มารี บาร์แดงต์เซฟฟ์ นักภูเขาไฟวิทยาจากมหาวิทยาลัย Paris-Sud Orsay และมหาวิทยาลัย Cergy-Pontoise ระบุว่า การปะทุในลักษณะนี้เกิดขึ้นไม่บ่อย

“โดยทั่วไปแล้ว หากภูเขาไฟกลับมามีพลังอีกครั้งภายในระยะเวลา 30-40 ปี ซึ่งถือว่าสั้นมาก จะต้องมีสัญญาณเตือนอย่างต่ำ 24-72 ชั่วโมง จะมีการเคลื่อนตัวของแมกมา แผ่นดินสั่นสะเทือนเล็กน้อย และอุณหภูมิเปลี่ยนแปลง” บาร์แดงต์เซฟฟ์ ระบุ พร้อมชี้ว่า ช่วงเวลาดังกล่าวเพียงพอที่ทางการจะประกาศอพยพประชาชน หรือสั่งห้ามเข้าไปยังแหล่งท่องเที่ยวที่มีความเสี่ยง

อย่างไรก็ดี การปะทุที่ส่งสัญญาณเตือนล่วงหน้าแค่ไม่กี่นาทีเช่นนี้ ใช่ว่าจะไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเลย

การปะทุของภูเขาไฟออนทาเกะซึ่งคร่าชีวิตนักปีนเขาไปแล้วกว่า 30 ราย ไม่เพียงปัจจุบันทันด่วน แต่ยังมีอันตรายสูงมาก เนื่องจากเกิดขึ้นในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ที่มีนักท่องเที่ยวไปเยือนอย่างคับคั่ง

ภูเขาไฟลูกนี้เป็นที่รู้จักกว้างขวางในหมู่นักปีนเขา ซึ่งนิยมมาเที่ยวกันในช่วงปลายเดือนกันยายนเพื่อชมความงดงามของใบไม้เปลี่ยนสีในฤดูใบไม้ร่วง

“ด้วยปัจจัยต่างๆ รวมกัน การปะทุครั้งนี้จึงกลายเป็นหายนะ” บาร์แดงต์เซฟฟ์ กล่าว พร้อมชี้ว่ายังพอจะมีคำอธิบายอื่นๆ อีกสำหรับการปะทุแบบไร้สัญญาณล่วงหน้าเช่นนี้

“ธารแมกมาอาจจะแทรกมาตามรอยแตกของหิน และพุ่งขึ้นในคราวเดียว ซึ่งพบน้อยมาก”

ทั้งนี้ ยังมีการปะทุแบบอื่นๆ ที่น่ากลัวไม่แพ้กัน เช่น แบบ hydrovolcanic และ phreatomagmatic เป็นต้น

“บนภูเขาไฟส่วนใหญ่จะมีน้ำขังอยู่ เมื่อแมกมาเคลื่อนตัวสู่ผิวโลกพร้อมกับคลื่นความร้อนมหาศาล น้ำเหล่านั้นจะระเหยเป็นไออย่างรวดเร็ว ซึ่งทำให้เกิดแรงดันสูงคล้ายหม้อแรงดันไอน้ำ” ผู้เชี่ยวชาญภูเขาไฟจากเมืองน้ำหอม อธิบาย

“หากแรงดันนั้นมากเกินกว่าที่พื้นดินเบื้องบนจะต้านทานไหว หินจะแตกออกเป็นเสี่ยงๆ หรือที่เรียกว่า ระเบิดกรวดภูเขาไฟ (cinder bomb)” ซึ่งการปะทุลักษณะนี้อันตรายมากเป็นพิเศษ เพราะเกิดขึ้นชั่วพริบตาโดยไม่มีสัญญาณเตือนใดๆ เลย

บาร์แดงต์เซฟฟ์ ยอมรับว่า หากยังไม่มีอุปกรณ์ตรวจวัดแผ่นดินไหวที่ซับซ้อนกว่าในปัจจุบัน “เราก็คงป้องกันอะไรไม่ได้” ในสถานการณ์เช่นนี้

ล่าสุด ยังไม่มีข้อสันนิษฐานใดได้รับการยืนยันว่าเป็นสาเหตุการปะทุของภูเขาไฟออนทาเกะ

บาร์แดงต์เซฟฟ์ ระบุว่า ออนทาเกะ เป็นภูเขาไฟที่ “คลาสสิก” แห่งหนึ่งในญี่ปุ่น

“ญี่ปุ่นเป็นดินแดนของภูเขาไฟและมีธรณีพลศาสตร์ที่ซับซ้อน ภูเขาไฟแต่ละลูกจะสลับกันปะทุไปเรื่อยๆ” เขากล่าว พร้อมอธิบายต่อว่า ภูเขาไฟเหล่านี้เสี่ยงต่อการระเบิดโดยธรรมชาติ และเถ้าถ่านที่ลอยสูงขึ้นไปบนท้องฟ้าราว 11 กิโลเมตร ก็ถือเป็นมาตรฐานปกติ

“แต่สิ่งที่ไม่ธรรมดาก็คือ การปะทุที่เกิดขึ้นอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย” เขากล่าวทิ้งท้าย









กำลังโหลดความคิดเห็น