xs
xsm
sm
md
lg

สนธิสัญญา “คุมค้าอาวุธ” UN มีผลบังคับใช้ภายในสิ้นปี หลัง 53 ชาติให้สัตยาบันเว้น “มะกัน-รัสเซีย”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมาชิกกองกำลังซีเรียอิสระ (เอฟเอสเอ) ยิงปืนต่อสู้อากาศยานใส่เครื่องบินรบของกองกำลังซึ่งภักดีต่อประธานาธิบดี บาชาร์ อัล-อัสซาด แถบชานเมืองฮามา เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (19 ก.ย.)
เอเอฟพี - สนธิสัญญาขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ซึ่งมุ่งควบคุมไม่ให้อาวุธยุทโธปกรณ์ไหลบ่าเข้าสู่เขตสู้รบเป็นครั้งแรก จะมีผลบังคับใช้ในปีนี้ หลังจากมีประเทศร่วมลงนามเพิ่มขึ้นอีก 8 ประเทศ

สนธิสัญญาฉบับดังกล่าวกำหนดให้ประเทศภาคีควบคุมปริมาณการส่งออกอาวุธในระดับนานาชาติ และห้ามไม่ให้ส่งอาวุธข้ามพรมแดน หากมีแนวโน้มที่อาวุธเหล่านั้นอาจถูกนำไปใช้ละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือก่อเหตุโจมตีพลเรือน แต่ผู้วิจารณ์ชี้ว่า บรรดาชาติผู้ส่งออกอาวุธรายใหญ่ยังไม่ได้ร่วมเป็นภาคี หรือให้สัตยาบันสนธิสัญญาฉบับนี้

ยูเอ็นแถลงว่า สนธิสัญญาฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคมนี้เป็นต้นไป หลังจาก 8 ประเทศที่ร่วมลงนามเมื่อล่าสุดให้สัตยาบัน ในที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ซึ่งเป็นการผลักดันให้ความตกลงดังกล่าวมีผลบังคับใช้ในราว 50 ประเทศ

บัน คีมูน เลขาธิการยูเอ็นได้แสดงความยินดีที่สนธิสัญญาฉบับนี้จะมีผลในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า พร้อมเน้นย้ำว่า “อาวุธอานุภาพทำลายล้างสูงจะยังจะเดินทางไปถึงมือพวกไร้ความรับผิดชอบ”

เขากล่าวว่า “ทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้าอาวุธต้องรับผิด เมื่อสนธิสัญญาควบคุมการค้าอาวุธมีผลบังคับใช้ ประเทศภาคีจะร่วมกันสนับสนุนการยึดมั่นในพันธกรณีอันแน่วแน่และถูกกฎหมาย เพื่อดำเนินมาตรการที่เป็นความหวังของประชาชนหลายล้านคนทั่วโลก”

8 ชาติที่ให้สัตยาบันสนธิสัญญาฉบับนี้เมื่อล่าสุด ได้แก่ อาร์เจนตินา บาฮามาส บอสเนีย สาธารณรัฐเช็ก โปรตุเกส เซนต์ลูเซีย เซเนกัล และอุรุกวัย ทำให้มีประเทศที่ให้สัตยาบันรวมทั้งสิ้น 53 ประเทศ

แม้ว่าสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกอาวุธรายใหญ่ที่สุดในโลกได้ร่วมลงนามสนธิสัญญาฉบับนี้ แต่ไม่ได้ให้สัตยาบัน

ในที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติเมื่อปีที่แล้ว จอห์น เคร์รี รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้ลงนามสนธิสัญญาฉบับนี้อย่างเป็นทางการ และกล่าวเองว่า ข้อตกลงฉบับนี้จะช่วยป้องกันไม่ให้อาวุธตกไปอยู่ในมือ “ผู้ก่อการร้าย และผู้มีพฤติกรรมเป็นอันธพาล”

อย่างไรก็ตาม สมาชิกวุฒิสภาสหรัฐฯ ผู้นี้กลับไม่ได้ให้สัตยาบัน เนื่องจากถูกบรรดากิจการผู้ผลิตอาวุธอันทรงอิทธิพลลอบบีขัดขวาง

ทางด้าน รัสเซียซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกอาวุธรายใหญ่อันดับสอง และชาติยักษ์ใหญ่ด้านอาวุธอื่นๆ อย่างจีน และอินเดียได้งดลงออกเสียง ระหว่างที่มีการลงมติเห็นชอบสนธิสัญญาฉบับนี้

รัสเซีย ซึ่งเป็นผู้ส่งออกอาวุธให้แก่ประธานาธิบดี บาชาร์ อัล-อัสซาด แห่งซีเรียที่กำลังถูกกบฏลุกฮือต่อต้านชี้ว่า สนธิสัญญาฉบับนี้มีลักษณะคลุมเครือเกินไป และอาจถูกใช้เพื่อหวังผลทางการเมือง

เมื่อปีที่แล้ว มีประเทศที่โหวตคัดค้านสนธิสัญญาฉบับนี้เพียงสามประเทศเท่านั้น ได้แก่ อิหร่าน เกาหลีเหนือ และซีเรีย
เด็กชายชาวยูเครนนั่งบนยานลำเลียงพลหุ้มเกราะที่กลุ่มติดอาวุธนิยมรัสเซียในเมืองลูกันสค์ ทางภาคตะวันออกของยูเครนนำมาเข้าร่วมพิธีสวนสนาม (14 ก.ย.)
กำลังโหลดความคิดเห็น