เอเจนซีส์ - สภาจริยศาสตร์แห่งชาติเยอรมันได้ร้องต่อรัฐบาลเยอรมันภายใต้การนำของอังเกลา แมร์เคิลให้แก้กฏหมายอนุญาตให้ความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันถูกกฎหมายหลังเกิดคดีแพทริก ชตูบิง (Patrick Stuebing)ที่มีบุตร 4 คนกับน้องสาวของตนเอง
สื่ออังกฤษ ดิ อินดีเพนเดนต์ รายงานเมื่อวานนี้(24)ว่า สภาจริยศาสตร์แห่งชาติเยอรมันได้ยื่นข้อเสนอแก่รัฐบาลเยอรมันขอแก้กฏหมายอาญาภายใต้มาตรา 173 ห้ามความสัมพันธ์ทางเพศระหว่างบิดามารดาและบุตร หรือระหว่างพี่น้อง โดยอ้างว่าการให้เหตุผลว่าบุตรที่เกิดมาจะพิการนั้นยังไม่มีเหตุผลเพียงพอจะสนับสนุนกฎหมายมาตรานี้
ทั้งนี้คริสเตียน วูเพน (Christiane Woopen ) ประธานสภาจริยศาสตร์แห่งชาติเยอรมันเป็น 1 ใน 14 คนที่สนับสนุนให้มีการแก้กฎหมายอาญามาตรา 173 ในขณะที่สมาชิกอีก 9 คนเห็นคัดค้าน และต้องการให้ยังคงมาตรานี้ต่อไป ส่วนสมาชิกอีก 2 คนงดออกเสียง
แถลงการณ์ของสภาจริยศาสตร์แห่งชาติเยอรมันออกมาเมื่อวานนี้(24)ความว่า “การมีความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องในโลกตะวันตกนั้นมีน้อยมากจากสถิติที่สำรวจได้ แต่กระนั้นผู้ได้รับผลกระทบนั้นตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก เพราะคนเหล่านั้นรู้สึกว่า "ถูกปฎิเสธเสรีภาพขั้นพื้นฐาน" และถูกบังคับให้ต้องแอบซ่อนความสัมพันธ์หรือต้องปฎิเสธความรักของพวกเขา”
ซึ่งทางสภาจริยศาสตร์แห่งชาติเยอรมันได้รับรู้ถึงเรื่องราวของพี่น้องที่ไม่ได้เติบโตมาด้วยกัน และเพิ่งพบกันเมื่อตอนที่คนทั้งคู่โตแล้ว เช่นในกรณีของแพทริก ชตูบิง (Patrick Stuebing) ที่ถูกรับไปเลี้ยงเมื่อตอนยังเล็ก และเขาเริ่มตามหาญาติตามสายเลือดเมื่ออยู่ในวัยต้น 20 ทั้งชตูบิงและน้องสาวของเขา ซูซาน คาโรลิวสกี (Susan Karolewski ) พบกันครั้งแรกในขณะที่ชตูบิงมีอายุได้ 24 ปี และคาโรลิวสกีอายุได้ 16 ปี
อย่างไรก็ตามชตูบิงถูกตัดสินจำคุกข้อหามีเพศสัมพันธ์กับน้องสาวของตนเองในปี 2008 และต้องใช้โทษในเรือนจำเป็นเวลา 3 ปี และประสบความล้มเหลวในการยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเยอรมันในปี 2008 รวมไปถึงศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรปเพื่อร้องให้มีการปกป้องสิทธิของเขาต่อชีวิตครอบครัวในปี 2012 นั้นตกไปด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้รัฐบาลเยอรมันสั่งให้คนทั้งคู่แยกกันอยู่ และอนุญาตให้คาโรลิวสกีสามารถเลี้ยงดูบุตรคนสุดท้องได้ แต่บุตร 3 คนแรกก่อนหน้านั้นตกอยู่ในความดูแลของรัฐเพื่อปกป้องสิทธิเด็ก และมีบุตร 2 คนของทั้งคู่พิการแต่กำเนิด ซึ่งทางสภาจริยศาสตร์แห่งชาติเยอรมันอ้างว่า ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าความพิการนั้นเกิดจากการที่พ่อและแม่มียีนส์ที่ใกล้ชิดกันหรือไม่
สภาจริยศาสตร์แห่งชาติเยอรมันจึงสรุปว่าชีวิตของชบิงโกและคาโรลิวสกีต้องอยุ่ในความยากลำบากสืบเนื่องมาจากการมีอยู่ของกฎหมายอาญามาตรา 173 โดยมติเสียงข้างมากของสภาจริยศาสตร์แห่งชาติเยอรมันเห็นควรว่า ไม่มีความเหมาะสมที่จะให้กฎหมายอาญาเยอรมันยังคงห้ามการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างพี่น้อง เพราะไม่ควรปล่อยให้ความกลัวต่อผลลัพท์ด้านลบที่จะมีต่อครอบครัว หรือความพิการที่เกิดจากเพศสัมพันธ์ระหว่างญาติสนิททางสายเลือดทำให้กฎหมายอาญามาตร 173 ยังคงมีน้ำหนักมากพอที่จะบังคับใช้
ซึ่งแท้ที่จริงแล้วสิทธิขั้นพื้นฐานของชาวเยอรมันในฐานะพี่น้องที่มีความรู้สึกฉันชู้สาวต่อกันนั้นถือว่ามีคุณค่าควรให้การพิจารณามากกว่าเหตุผลทางครอบครัวที่มีคำอธิบายประกอบอย่างคลุมเคลือ อย่างไรก็ตามสมาชิกของสภาที่เห็นแย้งได้โต้ว่า การอนุญาตให้มีการแก้กฏหมายมาตรา 173 จะทำให้คุณค่าจริยศาสตร์ทางครอบครัวต่อการพัฒนาบุคคลนั้นเสื่อมลง
ทั้งนี้สถาบันMax Planck รายงานว่า มีชาวเยอรมัน 2% - 4% มีประสบการณ์ความสัมพันธ์ทางเพศกับญาติสนิททางสายเลือด การห้ามการมีประเวณีในหมู่ญาติใกล้ชิดเกิดขึ้นในอังกฤษ และประเทศส่วนใหญ่ในยุโป แต่ฝรั่งเศสได้ยกเลิกกฎหมายนี้ในสมัยจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 และในเยอรมันมีการโต้เถียงกันมากขึ้นในเรื่องนี้
ด้านเอลิซาเบธ วินเคลไมเออร์-เบคเกอร์ (Elisabeth Winkelmeier-Becker )โฆษกของพรรค CDU ของอังเกลา แมร์เคิล โต้มติแถลงการณ์ของสภาจริยศาสตร์แห่งชาติเยอรมันกับสื่อเยอรมัน Deutsche Welle ว่า การยกเลิกกฎหมายอาญาห้ามการมีความสัมพันธ์ในเครือญาติใกล้ชิดทางสายเลือดจะเป็นการส่งสัญญาณที่ผิดออกมา
“การยกเลิกการลงโทษต่อการมีความสัมพันธ์ทางเพศในเครือญาติใกล้ชิดนั้นจะขัดแย้งกับการปกป้องพัฒนาการของเด็ก”
อนึ่งมติของสภาจริยศาสตร์แห่งชาติเยอรมันครอบคลุมแค่ความสัมพันธ์ทางเพศระหว่างพี่น้อง แต่ม่รวมไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างบิดามารดากับบุตรแต่อย่างใด
สภาจริยศาสตร์แห่งชาติเยอรมันเป็นหนึ่งในหน่วยงานอิสระของสหพันธรัฐเยอรมัน ได้รับงบประมาณจากรัฐบาลเยอรมันราว 1,695 ล้านยูโร และในแผนงานตามที่เว็บไซต์ของหน่วยงานระบุรวมไปถึง
#1 สมองตายและการตัดสินใจในการบริจาคอวัยวะ
#2 การป้องกันการมีเพศสัมพันธ์ในหมู่ญาติใกล้ชิดทางสายเลือด
#3 สเต็มเซลล์