xs
xsm
sm
md
lg

รบ.แดนอาทิตย์อุทัยท้วง เหตุ “ที่ปรึกษาปูติน” เยือนเกาะพิพาทญี่ปุ่น-รัสเซีย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โยชิฮิเดะ สุกะ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น
รอยเตอร์ - ญี่ปุ่นเตรียมยื่นหนังสือประท้วงต่อรัสเซีย หลังจากหัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ไปเยือนหมู่ที่เป็นดินแดนพิพาทกับโตเกียว ทว่า นโยบายคงการเจรจากับมอสโกเอาไว้จะไม่มีการเปลี่ยนแปลง โฆษกอาวุโสของรัฐบาลแดนอาทิตย์อุทัย แถลงวันนี้ (24 ก.ย.)

เมื่อช่วงเช้าวันนี้ (24) โยชิฮิเดะ สุกะ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นหลังจาก เซอร์เกย์ อิวานอฟ ไปเยือนเกาะแห่งหนึ่งในหมู่เกาะพิพาทที่ญี่ปุ่นเรียกว่า “ดินแดนเหนือ” (Northen Territories) และรัสเซียเรียกว่า หมู่เกาะคูริลใต้

สุกะ บอกต่อที่แถลงข่าวว่า “การเยือนลักษณะนี้โดยบุคคลระดับสูงภายในรัฐบาลรัสเซียขัดแย้งต่อจุดยืนของญี่ปุ่นที่มีต่อดินแดนตอนเหนือ มันทำร้ายความรู้สึกของประชาชนชาวญี่ปุ่นและน่าเศร้าใจอย่างที่สุด”

ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 จะสิ้นสุดลงเพียงไม่กี่วันทหารสหภาพโซเวียตได้เข้ายึดครองหมู่เกาะดังกล่าว ตั้งแต่นั้นมาข้อขัดแย้งเรื่องดินแดนก็เป็นตัวถ่วงความสัมพันธ์ทางการทูตของทั้งสองชาติ และยังทำให้สนธิสัญญาสันติภาพระหว่างสองประเทศไม่อาจเกิดขึ้นได้
เซอร์เกย์ อิวานอฟ หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ของ ปูติน
อย่างไรก็ตาม สุกะระบุว่า การเยือนดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อข้อตกลงซึ่งเห็นชอบร่วมกันในการสนทนาทางโทรศัพท์ระหว่างปูติน และนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ของญี่ปุ่นเมื่อวันอาทิตย์ (21) เพื่อคงการเจรจาทวิภาคีเอาไว้

สุกะเผยว่า ระหว่างการสนทนาดังกล่าว อาเบะเสนอว่าญี่ปุ่นและรัสเซียควรจัดการพูดคุยกันที่งานประชุมนานาชาตินัดต่างๆ อย่างเช่น การประชุมสุดยอดความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก (เอเปก) ที่กรุงปักกิ่งในเดือนพฤศจิกายน

ความสัมพันธ์ของทั้งสองชาติก็ตกอยู่ในภาวะตึงเครียดในช่วงไม่กี่เดือนมานี้ด้วย จากการที่ญี่ปุ่นใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซีย เช่น การระงับวีซ่า และการอายัดทรัพย์ จากกรณีวิกฤตยูเครน และมาตรการตอบโต้ของแดนหมีขาว

ญี่ปุ่นซึ่งต้องการให้หมู่เกาะพิพาทแห่งนี้กลับคืนมาเป็นของแดนอาทิตย์อุทัยในที่สุด จำเป็นต้องเดินเกมอย่างรอบคอบเพื่อหลีกเลี่ยงการทำลายความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างทั้งสองชาติ ขณะเดียวกันก็ไม่ต้องการทำตัวให้ดูเหมือนว่าปรานีต่อรัสเซียมากกว่าประเทศอื่นๆ ในกลุ่ม G7

กำลังโหลดความคิดเห็น