เอเอฟพี - มอสโกวันนี้ (5 ส.ค.) ตัดสินใจระงับการประชุมกับรัฐมนตรีระดับสูงของญี่ปุ่น เพื่อเป็นการตอบโต้มาตรการคว่ำบาตรระลอกใหม่ ที่แดนอาทิตย์อุทัยประกาศใช้กับบุคคลสำคัญระดับอาวุโสของแดนหมีขาวที่มีส่วนพัวพันในเหตุการณ์รัสเซีย “ผนวกคาบสมุทรไครเมีย” ซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของยูเครน
กระทรวงการต่างประเทศรัสเซียระบุในคำแถลงว่า การหารือระหว่างรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของรัสเซียกับญี่ปุ่น ณ กรุงมอสโก ซึ่งแต่เดิมกำหนดจะมีขึ้นในเดือนนี้ “จะกลายเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม ในยามที่โตเกียวประกาศมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียเมื่อล่าสุดนี้”
กระทรวงการต่างประเทศรัสเซียยังระบุด้วยว่า การปรึกษาหารือคราวนี้ถูก “เลื่อนออกไป” พร้อมทั้งระบุว่า โตเกียวรับทราบการตัดสินใจของมอสโกแล้ว
ทั้งนี้ เป็นที่คาดหมายกันว่า การประชุมคราวนี้จะมุ่งประเด็นสำคัญไปที่ “กรณีพิพาทเขตแดน” ที่กำลังระอุคุกรุ่น ที่ทำให้การค้าขายระหว่างสองชาติต้องหยุดชะงัก และขัดขวางไม่ให้มอสโกกับโตเกียวลงนามสนธิสัญญาสันติภาพ เพื่อยุติความเป็นคู่สงครามตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างเป็นทางการ
ทั้งรัฐบาลรัสเซีย และนายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ แห่งญี่ปุ่นต่างคาดหวังที่จะเริ่มฟื้นฟูสายสัมพันธ์เพื่อกระตุ้นการค้า ในเวลาที่แดนอาทิตย์อุทัยกำลังพยายามขยายโอกาสเข้าถึงแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ของรัสเซีย
เมื่อเดือนเมษายน ปี 2013 ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซียได้ต้อนรับนายกรัฐมนตรี อาเบะ ด้วยการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับผู้นำอย่างเป็นทางการ เป็นครั้งแรกที่กรุงมอสโกในรอบ 1 ทศวรรษที่ผ่านมา
ผู้นำทั้งสองได้ตกลงจะเริ่มจัดการประชุมระดับสูงหลายนัด เพื่อหารือถึงกรณีที่โตเกียวอ้างกรรมสิทธิ์เหนือเกาะ 4 แห่งทางใต้สุด ในหมู่เกาะคูริล ซึ่งญี่ปุ่นเรียกว่า “ดินแดนทางเหนือ” แต่รัสเซียรู้จักในนาม “กลุ่มเกาะคูริลใต้”
คาดการณ์กันว่า ในการหารือระหว่าง อิกอร์ มอร์กูลอฟ รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศรัสเซียกับ ชินสุเกะ สุกิยามะ รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศญี่ปุ่น ซึ่งแต่เดิมได้ถูกกำหนดขึ้นในวันที่ 19 สิงหาคมนี้ จะมุ่งความสนใจไปที่กรณีพิพาทเขตแดน
วันนี้ (5) โตเกียวได้ประกาศมาตรการคว่ำบาตรทางการเงินกับ 40 บุคคล และอีก 2 กลุ่ม ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับวิกฤตการณ์ในยูเครน ทั้งนี้เพื่อบีบให้ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน หยุดใช้อิทธิพลหนุนหลังกลุ่มแบ่งแยกดินแดน และยอมช่วยคลี่คลายความขัดแย้งในยูเครนอย่างสันติ
การประกาศคว่ำบาตรรอบนี้ ทำให้บุคคลที่ปรากฏในรายชื่อของแดนอาทิตย์อุทัย เช่น อดีตประธานาธิบดี วิกเตอร์ ยานูโควิช แห่งยูเครน และนายกรัฐมนตรี เซียร์เกย์ อักสโยนอฟ แห่งสาธารณรัฐไครเมีย ถูกยึดทรัพย์ และบริษัทญี่ปุ่นที่ต้องการนำเข้าสินค้าจากไครเมีย จะต้องขออนุญาตจากรัฐบาลโตเกียวเสียก่อน