เอพี - ประธานาธิบดีเรเซป ตอยยิป เออร์โดแกน แห่งตุรกีวานนี้ (22 ก.ย.) ได้ชี้แจงเป็นครั้งแรกว่า ประเทศของเขาอาจยอมปล่อยตัวนักโทษที่เป็นสมาชิกกลุ่มติดอาวุธมุสลิมสุหนี่หัวรุนแรง “รัฐอิสลาม” (ไอเอส) เพื่อแลกกับอิสรภาพของชาวตุรกี 49 คนที่ถูกไอเอสจับเป็นตัวประกัน
เมื่อสอบถามผู้นำตุรกีถึงเรื่องนี้ ขณะที่เขาอยู่ในนครนิวยอร์กเมื่อวานนี้ (22) เออร์โดแกนกล่าวว่า “เรื่องแบบนั้นก็อาจเกิดขึ้นได้” พร้อมทั้งชี้ว่ากระทั่งอิสราเอลยังยอมปล่อยนักโทษชาวปาเลสไตน์ 1,500 คนเพื่อแลกกับตัวประกันชาวยิวเพียงคนเดียว เขากล่าวเสริมว่า “คุณก็คงเห็นแล้วว่าเรื่องแบบนี้อาจเกิดขึ้นได้”
ตัวประกันเหล่านี้ซึ่งเป็นชาวเติร์ก 46 คน และชาวอิรัก 3 คนถูกส่งตัวกลับตุรกีเมื่อวันเสาร์ (20) ภายหลังที่พวกเขาตกอยู่ในกำมือกลุ่มรัฐอิสลามมานานกว่า 3 เดือน หลังถูกจับตัวไปในช่วงที่ไอเอสเข้ายึดครองเมืองโมซุล ของอิรัก เมื่อเดือนมิถุนายน
บรรดาเจ้าหน้าที่รัฐบาลตุรกีไม่ได้เปิดเผยว่า พวกใช้วิธีใดกลุ่มติดอาวุธกลุ่มนี้จึงยอมปล่อยตัวประกันเป็นอิสระ ขณะที่เออร์โดแกนย้ำว่า ไม่ได้จ่ายค่าไถ่ แต่เขามาก็ไม่ได้ระบุให้ชัดเจนว่า มีการแลกเปลี่ยนตัวนักโทษกับไอเอสหรือไม่
เออร์โดแกนดูเหมือนจะพยายามบ่ายเบี่ยงที่จะตอบคำถาม ระหว่างการแถลง ณ สภาความสัมพันธ์ต่างประเทศ (ซีเอฟอาร์) ในนิวยอร์ก
เขากล่าวว่า “สำนักงานข่าวกรองแห่งชาติตุรกีก็มีส่วนในกระบวนการเจรจาขอปล่อยตัวนักโทษซึ่งกินเวลานาน 102 วันครั้งนี้ด้วย...เป็นกระบวนการที่สำคัญมาก ระดับประวัติศาสตร์”
เออร์โดแกนเน้นย้ำว่า ไม่ได้จ่ายค่าไถ่ให้กลุ่มรัฐอิสลาม “คุณไม่สามารถคาดหวังให้เราเปิดเผยต่อสาธารณะอย่างหมดเปลือกว่า บรรดาหน่วยงานนานาชาติได้ทำอะไรบ้าง แต่ผลก็คือเจ้าหน้าที่กงสุลทั้ง 49 คนได้รับการปล่อยตัวแล้ว”
เมื่อถูกคาดคั้นหนักขึ้นเรื่อยๆ เขาก็ยอมรับว่า อาจมีการแลกตัวนักโทษ
เขาชี้ว่า “เรื่องแบบนั้นก็อาจเป็นไปได้”
สิ่งที่ตุรกีอาจทำ หรือไม่ได้ทำ เพื่อให้ไอเอสยอมปล่อยตัวประกันนั้นเป็นเรื่องที่ถูกคาดเดากันไปสารพัด โดยผู้สังเกตการณ์จำนวนมากคลางแคลงใจว่า กลุ่มติดอาวุธที่โหดเหี้ยมอำมหิตอย่างไอเอสหรือจะยอมละทิ้งเครื่องต่อรองสำคัญในมือไปโดยไม่ได้อะไรตอบแทน
เมื่อถามว่า ตุรกีจะเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับนานาชาติเพื่อต่อสู้กลุ่มรัฐอิสลามในซีเรียหรือไม่ เออร์โดแกนกล่าวว่า ตุรกี “ไม่เคยลังเลหากสามารถทำสิ่งใดเพื่อปราบปรามการก่อการร้าย”
เขากล่าวว่า ตุรกีมักจะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างไม่เป็นธรรม จากการที่ไม่แสดงจุดยืนต่อประเด็นไอเอสให้ชัดเจนกว่านี้ “เพราะเรากังวลว่าจะทำให้พลเมืองของเราตกอยู่ในอันตราย”
วานนี้ (22) จอห์น เคร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ แถลงว่า เขาคาดหวังว่าตุรกียกระดับภารกิจต่อสู้กลุ่มรัฐอิสลามทันที่ที่ตัวประกันได้รับการปล่อยตัว
เคร์รีระบุผ่านช่องโทรทัศน์ดาวเทียมเอ็มเอสเอ็นบีซีว่า ตุรกี ซึ่งเป็นชาติพันธมิตรของสหรัฐฯ และประเทศสมาชิกนาโต (องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ) ได้ให้คำมั่นในที่ประชุมระดับภูมิภาคหลายต่อหลายครั้งว่าจะ ร่วมมือต้านกลุ่มรัฐอิสลาม แต่จนถึงตอนนี้ตุรกียังมีส่วนร่วมไม่มากนักเพราะ “พวกเขาต้องจัดการกับวิกฤตตัวประกันเป็นอันดับแรก”
เคร์รีกล่าวว่า “ตอนนี้จึงต้องรอดูกันต่อไป”