เอพี - ขณะที่กลุ่มติดอาวุธมุสลิมสุหนี่หัวรุนแรง “รัฐอิสลาม” (ไอเอส) ก่อเหตุโจมตีทั่วซีเรียและอิรัก พร้อมเปิดฉากรุกไล่กองทัพที่มีขนาดใหญ่กว่า และเข้ายึดครองเมืองทั้งเมือง ทั้งยังเคลื่อนไหวทางสื่อที่ซับซ้อนแยบยลขึ้นเรื่อยๆ เพื่อปลุกระดมคนหนุ่มสาวที่ต้องการการยอมรับ จนสามารถพุ่งแซงหน้ารัฐบาลชาติอาหรับที่กำลังพยายามขจัดความน่าดึงดูดของกลุ่มหัวรุนแรงไปอย่างเชื่องช้าไม่ทันกาล
เมื่อก่อนบรรดาผู้นำกลุ่มติดอาวุธหัวรุนแรงอย่าง โอซามะ บินลาดิน เคยลอบส่งวีดีโอคุณภาพต่ำ ไปยังสำนักข่าวอัลญะซีเราะห์ ตอนนี้ ผู้สนับสนุนรัฐอิสลามกำลังใช้ทั้งทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก และเครือข่ายสังคมออนไลน์อื่นๆ ชักชวนสมาชิกหน้าใหม่ ด้วยคลิปวีดีที่ทำขึ้นอย่างมืออาชีพ ที่ถ่ายทอดภาพกลุ่มนักรบญิฮาดประกาศสงครามศักดิ์สิทธิ์ และสร้างโลกในอุดมคติของอิสลาม
บรรดาฝ่ายต่อต้านกลุ่มหัวรุนแรงกล่าวว่า แม้ว่ากลุ่มรัฐอิสลามกำลังฉุดโลกกลับสู่ยุคกลาง ด้วยการก่อเหตุฆ่าตัดคอ และการสังหารหมู่อย่างสะเทือนขวัญ ทว่า กลยุทธ์ในการใช้สื่อที่จำเป็นต้องอาศัยความชำนิชำนาญทางด้านเทคโนโลยีได้ทำให้รัฐบาลชาติอาหรับ และเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจด้านศาสนากลายเป็นพวกโบราณค่ำครึไปเลยทีเดียว
เหล่าผู้สันทัดกรณีชี้ว่า รัฐบาลอาหรับโดยส่วนใหญ่มองว่า สื่อสังคมออนไลน์เป็นภัยคุกคามต่อเสถียรภาพ และส่วนใหญ่อยู่เกินอำนาจการควบคุมของพวกเขา ทว่า พวกเขากลับพยายามสอดส่อง และเซนเซอร์อินเทอร์เน็ตขณะที่ออกคำแถลง และคำเทศนาที่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐผ่านทางสื่อล้าสมัยที่บริหารโดยทางการ
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สภานักวิชาการด้านศาสนาสูงสุดของซาอุดีอาระเบีย ได้ออกคำแถลงภาษาอาหรับยาวเหยียดทางสำนักข่าวของรัฐ เพื่อประณามการก่อการร้าย และเรียกร้องให้พลเมืองสนับสนุนความพยายามปราบปรามกลุ่มหัวรุนแรงอย่างรัฐอิสลาม และอัลกออิดะห์ ขณะที่บรรดาเจ้าหน้าผู้มีอำนาจแถวหน้าของอียิปต์ ซึ่งเป็นชาวมุสลิมสุหนี่ก็ออกคำแถลงที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล คล้ายๆ กันออกมา
เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มรัฐอิสลามแล้วจะพบว่า สำนักข่าว ฟูร์กัน ของกลุ่มติดอาวุธสามารถผลิตวีดีโออันทันสมัย ที่ประกอบด้วยบทสัมภาษณ์ ภาพกราฟฟิก คลอด้วยเสียงบทสวดของพวกนักรบญิฮาด ทั้งยังมีซับไตเติลเป็นภาษาอาหรับและภาษาอังกฤษ นอกจากนี้ สำนักข่าวดังกล่าวยังโปรโมทวีดีโอ และนิตยสารรายเดือนที่พิมพ์บนกระดาษอาร์ตมัน ผ่านช่สื่อสังคมออนไลน์อันทันสมัย เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มประชาชนในโลกอาหรับและอื่นๆ ยิ่งไปกว่านั้น นักรบรัฐอิสลามยังทวีตความคืบหน้าระหว่างอยู่ในสนามรบแบบเกาะติดสถานการณ์ และโต้แย้งบรรดาผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์ไอเอสทางโลกออนไลน์ ในประเด็นเทววิทยา
กลุ่มรัฐอิสลามอวดอ้างว่า มีกำลังนักรบต่างชาติหลายหมื่นคน ซึ่งส่วนใหญ่ถูกกลุ่มนี้ดึงดูดทางโลกไซเบอร์สเปซ นอกจากนี่ไอเอสยังใช้สื่อสังคมออนไลน์เป็นช่องทางระดมเงินทุนช่วยเหลืออีกด้วย
ฟาดี ซาเลม นักวิจัยด้านการกำกับดูแลอินเทอร์เน็ตในโลกอาหรับ ในดูไบกล่าวว่า วิธีการที่รัฐบาลตะวันออกกลางใช้ตอบสนองพลังของสื่อสังคมออนไลน์ทันทีคือ “การควบคุม การบล็อก และการเซ็นเซอร์ ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้”
ซาเลมกล่าวว่า “แทบจะไม่มีรัฐบาลใดที่มองว่า พลังของสื่อสังคมออนไลน์เป็นโอกาสมากกว่าความเสี่ยง”
ในปี 2011 อียิปต์ได้ปิดช่องทางการเข้าสู่อินเทอร์เน็ต ในช่วงที่เกิดเหตุนองเลือด ระหว่างการลุกฮือขึ้นโค่นประธานาธิบดี ฮอสนี มูบารัค และซีเรียก็ตัดช่องทางการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ในจังหวัดที่กบฏยึดครอง ไม่นานนักหลังการเคลื่อนไหวเพื่อโค่นอำนาจประธานาธิบดี บาชาร์ อัล- อัสซาดแห่งซีเรียปะทุขึ้น
เมื่อเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมา รัฐบาลอิรักก็ทำแบบเดียวกัน เมื่อกลุ่มติดอาวุธรัฐอิสลามจู่โจมกวาดล้างพื้นที่ทางภาคเหนือและตะวันตกของประเทศ โดยรัฐบาลแบกแดดได้ตัดช่องทางการเข้าสู่อินเทอร์เน็ตในพื้นที่หลายแห่งที่ถูกกลุ่มหัวรุนแรงยึดครอง เช่น เมืองโมกุล ซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศ
ผลการศึกษาที่จัดทำโดยศูนย์วิจัยพลเมือง “ซิติเซนแล็บ” แห่งมหาวิทยาลัยโตรอนโต แสดงให้เห็นว่า แม้ว่าเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจอิรักจะบล็อกแอพลิเคชันส่งข้อความทางมือถือ และเครือข่ายสังคมออนไลน์ แต่กลับไม่ได้บล็อกเว็บไซต์ที่มีส่วนเชื่อมโยง หรือสนับสนุนกลุ่มรัฐอิสลาม โดยพบว่า มีแอคเคานต์ใหม่ๆ ผุดขึ้นมาอย่างรวดเร็วเท่าๆ กับที่แอคเคานต์เก่าๆ ถูกถอดออกไป หลังได้รับรายงานถึงความไม่เหมาะสม
ตามรายงานของสถาบันวิจัย “ดูไบ สคูล ออฟ โกเวอร์เมนต์” เฟซบุ๊กระบุว่า ประชากรในภูมิภาคตะวันออกกลางมากถึง 71 ล้านใช้งานเฟซบุ๊กเป็นประจำทุกเดือน และราว 70 เปอร์เซ็นต์ของผู้ใช้เฟซบุ๊กในภูมิภาคตะวันออกกลางมีอายุระหว่าง 15 ถึง 29 ปี
สหรัฐฯ ซึ่งต่อสู้ดิ้นรนเพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ทางการทูตสาธารณะกับภูมิภาคตะวันออกกลางมาเนิ่นนาน ได้สังเกตสถานการณ์ที่เกิดขึ้น กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ จึงเริ่มรณรงค์โครงการ “Think Again Turn Away” (ตรองดูอีกทีแล้วหลีกหนี) ทางเว็บไซต์ยูทิวบ์ เฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ โดยมีซับไตเติลทั้งภาษาอาหรับและภาษาอังกฤษคล้ายกับของรัฐอิสลาม และอัลกออิดะห์ โดยคลิปวีดีโอหนึ่งที่มีชื่อว่า “เปิดโปงความชั่วของอัลกออิดะห์ให้โลกรู้” และอีกคลิปหนึ่งเผยให้เห็นเด็กๆ ที่กลุ่มหัวรุนแรงกลุ่มนี้สังหาร
อย่างไรก็ตาม ไม่มีอะไรสามารถฉุดกระแสคลิปวีดีโอของกลุ่มรัฐอิสลาม ซึ่งมีทั้งภาพการกราดยิงฝูงชน และการฆ่าตัดคออย่างโหดร้ายป่าเถื่อน เพื่อขู่ให้ศัตรูขยาดกลัว และถ่ายทอดนักรบของกลุ่มไอเอส ให้เป็นบุคคลตัวอย่างที่กล้าหาญและมีศรัทธาต่อศาสนาอย่างแก่กล้า
คลิปวีดีโอเหล่านี้ได้ถ่ายทอดสารถึงชายในภูมิภาคตะวันออกกลางและทั่วโลกที่รู้สึกแปลกแยกจากสังคมว่า พวกเขาเองก็สามารถประกาศสงครามศักดิ์สิทธิ์ได้เช่นกัน และสามารถแก้เผ็ดพวกที่ถูกมองว่า กดขี่ชาวมุสลิม ตลอดจนสร้างสังคมอันยุติธรรมที่ปกครองด้วยกฎสวรรค์
ซาเลมกล่าวว่า “การเซนเซอร์หรือบล็อกโดยสมบูรณ์ไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ได้ผลจริงๆ แต่เหมือนเกมแมวไล่จับหนู วิธีการแก้ปัญหาอีกวิธีหนึ่งคือการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ดึงดูดผู้คนออกจากความคิดเหล่านั้น ซึ่งจะต้องใช้ทั้งสองวิธีการควบคู่กันไป”