เอเอฟพี/บีบีซี - คณะนักโบราณคดีระบุวานนี้ (10 ก.ย.) ว่า จากการใช้เครื่องสแกนที่มีเทคโนโลยีชั้นสูง พบว่าลึกลงไปใต้ผืนดินรอบกลุ่มแท่งหิน “สโตนเฮนจ์” อันมีชื่อเสียงของอังกฤษ นั้นมีกลุ่มอนุสรณ์กระจายตัวเป็นวงกว้าง
กลุ่มแท่งหินปริศนาซึ่งวางตัวเป็นวงกลมบนที่ราบ “ซอลส์บรี” ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของอังกฤษ คือ หนึ่งในโบราณสถานที่มีความโดดเด่นที่สุดของยุโรป และที่เราเชื่อฝังใจกันมานานแล้วว่า แท่งหินเหล่านี้มีเท่าที่เราเห็นด้วยตาเปล่าเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อใช้เครื่องสแกนความคมชัดสูงตรวจสอบพื้นที่ขนาด 12 ตารางกิโลเมตรโดยรอบสโตนเฮนจ์ก็พบว่า ลึกลงไปใต้ดิน 3 กิโลเมตรยังมีวิหาร 17 แห่งแวดล้อมอยู่
ศจ.วินเซนต์ แกฟนีย์ หัวหน้าโครงการสำรวจกล่าวในนิทรรศการวิทยาศาสตร์ “บริติชไซส์เฟสติวัล” ในเมืองเบอร์มิงแฮม ทางภาคกลางของอังกฤษว่า “สโตนเฮนจ์ คือ โบราณสถานที่มีลักษณะโดดเด่นที่สุดบนโลกใบนี้ เช่นเดียวกับพีระมิด”
“พื้นที่ส่วนใหญ่รอบสโตนเฮนจ์เป็นแดนสนธยาที่ไม่เคยมีใครสำรวจมาก่อน และทุกสิ่งทุกอย่างที่เราคิดเกี่ยวกับสโตนเฮนจ์ ก็เป็นเพียงสมมติฐานของพวกเรา”
“การค้นพบคราวนี้จะทำให้เรามองสโตนเฮนจ์ต่างไปจากเดิม แต่ก็ยังไม่ถึงกับเป็นการค้นพบความจริงจากสโตนเฮนจ์ แต่เป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยพาเราไปยังทิศทางที่ถูกต้อง”
ในระหว่างการศึกษานาน 4 ปี ทีมงานได้ใช้เครื่องวัดความเข้มข้นสนามแม่เหล็ก เรดาร์แบบทะลุผ่านผิวดิน อุปกรณ์ตรวจจับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า และเครื่องแกนเลเซอร์ 3 มิติ
การค้นพบโบราณสถานเก่าแก่ 6,000 ปีครั้งนี้ รวมถึงหลักฐานจำพวกโครงสร้างที่ไม้และหิน ซึ่งไม่เคยพบมาก่อน 17 แห่ง ตลอดจนเนินหินหลายสิบเนินที่อยู่ลึกลงไปใต้ดิน
นอกจากนี้ คณะนักโบราณคดียังค้นพบหลุมขนาดยักษ์ ซึ่งบางส่วนวางตัวตามหลักดาราศาสตร์
ภาพจากเครื่องสแกนชี้ว่า ครั้งหนึ่งแนวรั้ว “ดูร์ริงตัน วอลส์” ในบริเวณใกล้เคียง ซึ่งมีความยาวเส้นรอบวงเกือบ 1.5 กิโลเมตร นั้นเคยถูกขนาบด้วยเสาหิน 60 แท่งที่มีความสูง 3 เมตร
เนินหินใต้ดินจำนวนมากที่ถูกค้นพบครั้งนี้รวมถึง เนินสุสานความยาว 33 เมตร ซึ่งแต่ก่อนด้านในน่าจะมีสิ่งปลูกสร้างขนาดยักษ์ที่ทำจากไม้ซุง
ทั้งนี้ เป็นที่เข้าใจกันว่า เนินแห่งนี้คือสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ซึ่งรวมถึงพิธีศพที่มีการเลาะเนื้อหนังและตัดแขนของผู้เสียชีวิต
แกฟนีย์ กล่าวว่า “โครงการนี้ช่วยเผยความจริงว่า พื้นที่รอบสโตนเฮนจ์เต็มไปด้วยโบราณสถานที่เราไม่เคยพบเห็นมาก่อน อีกทั้งยังชี้ด้วยว่า การนำเทคโนโลยีใหม่มาประยุกต์ใช้ช่วยเปิดมุมมองใหม่ๆ ให้นักโบราณคดีและสาธารณชนต่อ หนึ่งในภูมิประเทศที่มีการศึกษาอย่างละเอียดมากที่สุดในโลก”
เมื่อพิจารณาในส่วนของขนาด การออกแบบแบบร่วมศูนย์กลางอันซับซ้อนแยบยล และรูปแบบทางสถาปัตยกรรมอันละเอียดอ่อน สโตนเฮนจ์ ถือเป็นหนึ่งในสถานที่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งสร้างจากหิน ที่น่าประทับใจมากที่สุด และองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ได้ขึ้นทะเบียนให้เป็น “มรดกโลก”
บรรดาผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า สถานแห่งนี้ถูกออกแบบมาให้เป็นสถานที่ชมมหรสพ โดยที่จะมีสโตนเฮนจ์โผล่พ้นขึ้นมาจากภูมิทัศน์ทีละน้อย ให้บรรดาแขกผู้มาร่วมพิธีเดินขบวนมุ่งหน้าไปตามเส้นทางโบราณ