เอเอฟพี – รัสเซียอาจตอบโต้ด้วยคำสั่ง “ปิดน่านฟ้า” ห้ามเครื่องบินสัญชาติยุโรปผ่าน หากถูกตะวันตกคว่ำบาตรเพิ่มเติม นายกรัฐมนตรี ดมิตรี เมดเวเดฟ กล่าวเตือนในบทสัมภาษณ์ซึ่งเผยแพร่ผ่านสื่อรัสเซียวันนี้(8)
ในขณะที่สหภาพยุโรป (อียู) มีแนวโน้มที่จะประกาศคว่ำบาตรแดนหมีขาวเพิ่มเติมในวันนี้(8) ซึ่งจะยิ่งบั่นทอนเศรษฐกิจของรัสเซียที่เกือบจะดิ่งสู่ภาวะถดถอยอยู่แล้ว แต่ เมดเวเดฟ ยืนยันว่า มาตรการคว่ำบาตรของตะวันตกไม่อาจทำให้รัสเซียเปลี่ยนจุดยืน มีแต่จะยิ่งทำให้ชาวรัสเซียผนึกกำลังต่อสู้ เช่นเดียวกับที่ “จีน” ทำมาแล้ว
ก่อนหน้านี้ บรัสเซลส์ระบุว่า พร้อมที่จะทบทวนความจำเป็นในการคว่ำบาตรรัสเซีย หากข้อตกลงหยุดยิงระหว่างกองทัพยูเครนกับพวกกบฏแบ่งแยกดินแดนในภาคตะวันออกที่ได้รัสเซียคอยหนุนหลังมีผลคับใช้ได้จริง
“ผมนึกว่าหุ้นส่วนของเราจะมีวิสัยทัศน์ที่ดีมากกว่านี้ แต่อนิจจา...” เมดเวเดฟ ซึ่งเคยครองเก้าอี้ประธานาธิบดีอยู่ 4 ปี ก่อนจะถอยให้ วลาดิเมียร์ ปูติน กลับมาเถลิงอำนาจเป็นสมัยที่ 3 เมื่อปี 2012 ให้สัมภาษณ์ต่อหนังสือพิมพ์ธุรกิจเวโดโมสติ
“หากธุรกิจพลังงานหรือภาคการเงินของเราถูกปิดกั้น รัสเซียก็จำเป็นต้องตอบโต้ให้หนักยิ่งกว่า” เมดเวเดฟ ระบุ พร้อมเตือนว่า รัฐบาลอาจพุ่งเป้าไปที่ “เครื่องบินโดยสาร” ซึ่งต้องใช้เส้นทางผ่านน่านฟ้ารัสเซีย
“น่านฟ้ารัสเซียเปิดรับเครื่องบินโดยสารต่างชาติ เพราะเรายึดถือความสัมพันธ์อันดีที่มีต่อหุ้นส่วนทุกราย แต่หากพวกเขาตั้งข้อจำกัดกับเรามากนัก เราก็จำเป็นต้องตอบโต้”
เมดเวเดฟ ยังขู่สำทับอีกว่า การตอบโต้ของรัสเซียอาจทำให้สายการบินหลายบริษัทถึงขั้น “ล้มละลาย”
“มันคงเป็นเรื่องน่าเศร้า... เราเพียงต้องการให้หุ้นส่วนของเราได้ตระหนักขึ้นมาบ้างว่า การคว่ำบาตรไม่ได้ช่วยให้เกิดสันติภาพในยูเครน มันการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด และนักการเมืองส่วนใหญ่ก็ทราบดี”
มอสโกออกมาเตือนเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนที่แล้วว่า อาจพิจารณาเพิกถอนสิทธิ์การบินผ่านน่านฟ้าของสายการบินยุโรป (overflight rights) ซึ่งช่วยย่นระยะทางเที่ยวบินระหว่างทวีปยุโรปและเอเชียได้มากที่สุด
สำหรับสายการบินสหรัฐฯ นั้นไม่ได้รับอนุญาตให้ผ่านน่านฟ้าไซบีเรียมานานหลายปีแล้ว และยังคงเรียกร้องให้มอสโกทบทวนนโยบายนี้อยู่
เมดเวเดฟ เตือนด้วยว่า การบีบคั้นรัสเซียอย่างครอบคลุมอาจนำไปสู่การละเมิดความมั่นคงระหว่างประเทศ
“ผมหวังว่าหุ้นส่วนตะวันตกคงไม่ต้องการเช่นนั้น และพวกผู้มีอำนาจตัดสินใจก็คงไม่มีใครบ้าพอ”
เมดเวเดฟ ยังเปรียบเทียบความเหมือนระหว่างรัสเซียกับจีน ซึ่งเคยถูกตะวันตกคว่ำบาตรหลังใช้กำลังเข้าปราบปรามขบวนการนักศึกษาที่จตุรัสเทียนอันเหมิน เมื่อปี 1989
“ลองคิดดู พัฒนาการทางเศรษฐกิจของจีนเสื่อมถอยลงหรือไม่? ไม่เลยสักนิด”
“จีนรู้สึกว่าตัวเองถูกลงโทษไหม? ก็เปล่า พวกเขาก็แค่ระดมทรัพยากรที่มีอยู่มาขับเคลื่อนประเทศ และหากจะว่าไปแล้วการคว่ำบาตรก็เป็นผลดีต่อจีนในบางแง่มุมด้วยซ้ำ”