เอเจนซีส์/ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ผู้โดยสารชาวสหรัฐฯ และผู้โดยสารชาติอื่นที่บินด้วยสายการบินสหรัฐฯ และสายการบินนานาชาติเป็นต้นว่า เอมิเรตส์ และคาเธ่ย์แปซิฟิค ต้องกุมขมับและทำใจ เมื่อพบว่าสายการบินทั้งสองได้ตอบรับข้อเสนอของสมาคมการขนส่งระหว่างประเทศ หรือ The International Air Transport Association (IATA) ที่ได้ประกาศเป็นแนวทางการปฏิบัติในวันอังคาร (9) ที่ผ่านมา สำหรับแนวทางปฏิบัติข้อกำหนดของมาตรฐานกระเป๋าเดินทางส่วนตัวที่อนุญาตนำขึ้นห้องเคบินผู้โดยสารนั้นจะต้องมีขนาดเล็กลงกว่าปัจจุบัน 21% โดยอ้างว่าจะทำให้ผู้โดยสารบนเครื่องขนาด 120 นั่งสามารถมีที่เพียงพอในการเก็บกระเป๋าเดินทางเคบินได้ทุกคน ซึ่งในส่วนสายการบินสัญชาติไทยยังไม่มีรายงานความเคลื่อนไหว แต่ทว่า หากสายการบินสัญชาติไทย เป็นต้นว่า ไทยแอร์เวย์ส หรือไทยสไมล์แอร์ ยอมตอบรับแนวทางใหม่ของ IATA แล้วจะทำให้ผู้โดยสารต้องยอมขนสัมภาระออกถึงเกือบครึ่งของขนาดกระเป๋าที่กำหนดในปัจจุบัน
อแลสกา ดิสแพตช์ นิวส์ สื่อสหรัฐฯ รายงานในวันพฤหัสบดี (11) ว่าหลังการออกมาประกาศถึงแนวทางปฏิบัติจากกลุ่มสมาคมการขนส่งระหว่างประเทศ หรือ The International Air Transport Association (IATA) ในวันอังคาร (9) ที่ผ่านมา ที่เห็นควรให้เปลี่ยนแปลงข้อกำหนดการอนุญาตผู้โดยสารหิ้วกระเป๋าเดินทางแบบโหลดบนเคบินใหม่ โดยเห็นควรให้ลดขนาดกระเป๋าเดินทางลงราว 21% หรือ 21.5 *13.5 *7.5 นิ้ว จากแต่เดิมในปัจจุบันที่มาตรฐานกระเป๋าเดินทางขึ้นเครื่องทั่วไปจะมีขนาด 22 * 14 * 9 นิ้ว วอชิงตันโพสต์ สื่อสหรัฐฯ รายงาน
และไทมส์ยังรายงานเพิ่มเติมว่า หนึ่งในเหตุผลที่ทาง IATA ต้องการกำหนดให้กระเป๋าเดินทางให้มีขนาดเล็กลงเพื่อที่ว่าจะทำให้ผู้โดยสารบนเครื่องบินขนาด 120 ที่นั่งทุกคนสามารถนำกระเป๋าเดินทางส่วนตัวโหลดภายในห้องผู้โดยสารได้
แต่ทว่าจากความเห็นของ Henry Harteveldt ที่ปรึกษาอุตสาหกรรมธุรกิจการบินให้สัมภาษณ์กับเอพีผ่านการรายงานของอแลสกา ดิสแพตช์อธิบายว่า เหตุที่พื้นที่โหลดกระเป๋าเหนือศีรษะของผู้โดยสารไม่เพียงพอ เป็นเพราะความเห็นแก่ได้ของบริษัทสายการบินที่ผลักภาระให้กับผู้โดยสารที่ต้องให้เสียเงินสำหรับการนำกระเป๋าเดินทางติดตัวไปด้วย และยังเพิ่มจำนวนที่นั่งเข้าไปบนเครื่องบินอย่างแออัด จนทำให้พื้นที่สัมภาระไม่เพียงพออย่างที่ปรากฏ
แต่อย่างไรก็ตาม วอชิงตันโพสต์รายงานเพิ่มเติมว่า แนวทางปฏิบัติเหล่านี้ขึ้นกับการตัดสินใจของบริษัทสายการบินแต่ละแห่งที่จะเห็นควรนำไปใช้ แต่ทว่าเป็นที่น่าตกใจว่า สายการบินระดับอินเตอร์เนชันแนลขนาดใหญ่จำนวน 8 แห่งอ้าแขนรับแนวทางปฎิบัติใหม่นี้เรียบร้อยแล้ว รวมไปถึง แอร์ไชน่า เอเวียนกา อาซุล คาเธ่ย์แปซิฟิค ไชน่าเซาเทิร์น เอมิเรตส์ ลุฟท์ฮันซ่า และกาตาร์
และยังพบว่าสายการบินสัญชาติสหรัฐฯ เช่นอเมริกัน แอร์ไลน์สนั้นยังคงต้องการเวลาตัดสินใจที่จะตอบรับแนวทางปฏิบัติของ IATA แต่ทว่า คริส โกเตอร์ (Chris Goater) โฆษก IATA ให้สัมภาษณ์ว่า “เราจะประกาศรายชื่อบริษัทสายการบินรายใหญ่ที่ตอบรับแนวทางปฏิบัติใหม่มากขึ้นอย่างแน่นอน”
ไทม์สยังรายงายเพิ่มเติมในรายละเอียดที่ผู้โดยสารนอกจากต้องวางแผนในการจัดกระเป๋าสัมภาระใหม่ ยังไม่รวมไปถึงต้องเสียเงินให้กับบรรดาบริษัทผู้ผลิตกระเป๋าเดินทางชั้นนำไม่ว่าจะเป็น แซมโซไนท์ เดลซี และทูมี รวมไปถึงวิกตอริน็อกซ์ สวิสอาร์มี ในการซื้อกระเป๋าใบใหม่ที่จะมีตราโลโก้ “IATA Cabin OK” ติดบนกระเป๋าเพื่อเป็นหลักประกันว่าจะไม่มีเรื่องปวดหัวหากพบว่ากระเป๋าใบใหม่ที่เพิ่งซื้อมาไม่สามารถบินไปพร้อมกับผู้โดยสารได้
โดยไทมส์ชี้ว่า หากแนวทางปฏิบัติของ IATA เป็นที่ยอมรับแล้ว ผู้โดยสารที่บินกับบริติชแอร์เวย์จะต้องเสียเนื้อที่ในการนำสัมภาระขึ้นเครื่องไปถึง 45% เพราะในปัจจุบันบริษัทสายการบินสัญชาติอังกฤษอนุญาตให้ผู้โดยสารสามารถนำกระเป๋าเคบินขนาด 22*18*10 นิ้ว ขึ้นเครื่องได้ ส่วนอแลสกา แอร์ไลน์ส นั้นจะทำให้ผู้โดยสารต้องมีเนื้อที่บรรจุสัมภาระลดลงถึง 46% เมื่อเทียบกับปัจจุบันที่ทางสายการบินอนุญาตให้ผู้โดยสารสามารถนำกระเป๋าขนาด 24 *17*10 นิ้ว ขึ้นเครื่องได้ และผู้โดยสารสายการบินลุฟท์ฮันซ่าจะต้องยอมนำสัมภาระออกไปราว 28% เพราะในปัจจุบันผู้โดยสารสายการบินสัญชาติเยอรมันได้รับอนุญาตให้นำกระเป๋าขนาด 21*15.7*9 นิ้ว ขึ้นห้องผู้โดยสารได้
นอกจากนี้ ในส่วนสายการบินไทย เช่น ไทยสไมล์แอร์ และการบินไทยกำหนดให้กระเป๋าโหลดเหนือศีรษะต้องมีขนาด 22 *18*10 นิ้ว และผู้โดยสารต้องยอมนำสัมภาระออกไปราว 45% หรือเกือบครึ่งหนึ่งของมาตรฐานปัจจุบันของสายการบินแห่งนี้หากไทยสไมล์แอร์ หรือบริษัทการบินไทยตอบรับกับแนวทางปฏิบัติใหม่ของ IATA ที่กำหนดให้กระเป๋าแบบแครีออลมีขนาดไม่เกิน 21.5 *13.5 *7.5 นิ้ว