xs
xsm
sm
md
lg

ผู้เชี่ยวชาญแนะใช้ “เลือดผู้รอดชีวิต” รักษาคนไข้โรค “อีโบลา”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์ - องค์การอนามัยโลก (ฮู) เปิดประชุมในวันนี้ (4 ก.ย.) เพื่อหารือแนวทางและตัวยาในการรักษาโรคอีโบลา ซึ่งขณะนี้มีเหยื่อสังเวยชีวิตแล้วกว่า 1,900 ราย โดยผู้เชี่ยวชาญกลุ่มหนึ่งเสนอวิธีที่แหวกแนวแต่ไม่ซับซ้อน ด้วยการนำเลือดของผู้รอดชีวิตมาต่อสู้กับเชื้อไวรัสร้ายนี้ ในขณะที่ยังไม่มีวัคซีนป้องกันหรือตัวยารักษาที่ผ่านการทดสอบยืนยันแล้ว

แม้ยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับประสิทธิภาพการใช้แอนติบอดี้ที่สกัดจากโลหิตของผู้รอดชีวิตจากไวรัสอีโบลา ทว่า การที่โลกยังไม่มียาหรือวัคซีนที่ได้รับการรับรองว่า สามารถใช้กับอีโบลาได้ ทำให้ทางเลือกใหม่นี้คุ้มค่าต่อการทดลอง

ดร.ปีเตอร์ ไพอ็อต ผู้อำนวยการสถาบัน ลอนดอน สกูล ออฟ ไฮยีน แอนด์ ทรอปิคัล เมดิซิน และผู้ร่วมค้นพบไวรัสอีโบลา ขานรับว่า วิธีการดังกล่าวนี้ยังทำได้ง่ายๆ

การใช้เลือดของผู้รอดชีวิตนี้ ถือเป็นหนึ่งในแนวทางการรักษาอีโบลาที่ยังอยู่ในขั้นทดลอง โดยที่แนวทางทั้งหลายเหล่านี้ จะได้มีการหยิบยกขึ้นหารือกัน ในการประชุมที่องค์การอนามัยโลก (ฮู) ซึ่งจัดขึ้นเป็นเวลา 2 วันที่นครเจนีวา เริ่มต้นตั้งแต่วันพฤหัสบดี (4) โดยมีผู้เชี่ยวชาญกว่า 200 คนปิดห้องร่วมกันถกเถียงอภิปรายเกี่ยวกับแนวทางการรักษาและตัวยาต่างๆ ที่ควรเร่งรัดทดลองและผลิต ระหว่างที่ไวรัสนี้กำลังระบาดรุนแรงในแอฟริกาตะวันตก

ทั้งนี้ ฮูระบุว่า มีผู้เสียชีวิตจากอีโบลารวมแล้วกว่า 1,900 รายในแอฟริกาตะวันตก โดย 40% ของจำนวนนี้เสียชีวิตในช่วง 3 สัปดาห์สุดท้ายจนถึงวันที่ 3 กันยายนนี้ สำหรับจำนวนผู้ติดเชื้อที่ได้รับการยืนยันหรือสงสัยติดเชื้อมีทั้งสิ้นราว 3,500 คน ในกินี เซียร์ราลีโอน และไลบีเรีย

ฮูยังเตือนว่า อาจมีผู้ติดเชื้อกว่า 20,000 คนก่อนที่โลกจะหาวิธีควบคุมการระบาดของอีโบลาได้ และอาจต้องใช้งบประมาณเพื่อการนี้อย่างน้อย 600 ล้านดอลลาร์

ปัจจุบัน มีการพัฒนายาและวัคซีนไม่ถึง 10 ตัว แต่ไม่มีตัวใดที่เคยทดลองกับคน ยกเว้นวัคซีนตัวหนึ่งที่เพิ่งเริ่มทดสอบเบื้องต้นในสัปดาห์นี้ที่อเมริกา

ในบรรดายาและวัคซีนเหล่านี้ ความสนใจส่วนใหญ่มุ่งไปที่ “ซีแมปป์” ซึ่งถูกนำมาใช้รักษาผู้ป่วยไปแล้ว 7 คน ปรากฏว่า 5 คนมีอาการดีขึ้นจนออกจากโรงพยาบาลได้ แต่มี 2 คนเสียชีวิต อย่างไรก็ดี ปัญหาสำคัญยังอยู่ที่ว่า สต็อกวัคซีนตัวนี้มีปริมาณจำกัด และบริษัทผู้พัฒนาระบุว่า ต้องใช้เวลานานหลายเดือนในการผลิตแม้เพียงปริมาณเล็กน้อยก็ตาม

ในทางกลับกัน เครือข่ายโลหิตของฮู ซึ่งเป็นกลุ่มผู้คุมกฎเกี่ยวกับโลหิตระหว่างประเทศอยู่แล้ว ชี้ว่าสามารถติดต่อขอรับบริจาคโลหิตจากผู้รอดชีวิตจากการระบาดของอีโบลาในแอฟริกาในอดีตได้เป็นจำนวนหลายพันคน

เมื่อไม่นานมานี้ เครือข่ายนี้ได้ออกเอกสารอธิบายวิธีการนี้ โดยระบุว่า ควรพิจารณานำเลือดของผู้รอดชีวิตมาทำการทดลอง โดยเฉพาะในช่วงที่อีโบลากำลังระบาดหนักเช่นตอนนี้

ผู้เชี่ยวชาญบางคนคิดว่า สารแอนติบอดี้ในโลหิตของผู้รอดชีวิตอาจช่วยผู้ป่วยที่ติดเชื้ออีโบลาได้

ทั้งนี้ สารแอนติบอดี้ผลิตขึ้นโดยระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายเพื่อต่อสู้กับไวรัสต่างๆ สารนี้จะยังคงอยู่ในเลือดและพร้อมต่อสู้กับสิ่งแปลกแปลมชนิดเดิมที่กลับมาโจมตี

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า สามารถจัดเก็บโลหิตจากผู้รอดชีวิตและนำเข้าสู่กระบวนการเพื่อนำไปใช้กับผู้ป่วยจำนวนมาก หรือไม่ก็ให้ผู้รอดชีวิตบริจาคโลหิตแก่ผู้ป่วยโดยตรง อย่างไรก็ดี ทั้งสองวิธีนี้จำเป็นต้องมีการคัดกรองโลหิตเพื่อหาเชื้ออื่นๆ เช่น เอชไอวีหรือมาเลเรีย

ทอม เกสเบิร์ต ผู้เชี่ยวชาญด้านอีโบลาจากมหาวิทยาลัยเทกซัส สาขาแพทย์ศาสตร์ วิทยาเขตกัลเวสตัน แจงว่า แม้การบริจาคเลือดโดยตรงทำได้ง่ายกว่า แต่ระดับของสารแอนติบอดี้ที่ร่างกายผู้รอดชีวิตแต่ละคนผลิตขึ้นอาจแตกต่างกัน ทางที่ดีคือควรมีการวัดปริมาณแอนติบอดี้ก่อน

ที่ผ่านมา ยังไม่เคยมีการพยายามอย่างเป็นระบบเพื่อนำโลหิตจากผู้รอดชีวิตมารักษาผู้ป่วยในแอฟริกาตะวันตก อย่างไรก็ดี เมื่อเดือนกรกฏาคม มีการนำโลหิตของเด็กชายวัย 14 ปีที่รอดชีวิต ไปให้แก่เคนต์ แบรนต์ลีย์ แพทย์อเมริกันที่ติดเชื้ออีโบลาในไลบีเรีย และแบรนต์ลีย์ที่ได้รับวัคซีนซีแมปป์ร่วมด้วย ก็สามารถออกจากโรงพยาบาลได้เมื่อเดือนที่แล้ว โดยยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่า เป็นผลจากวัคซีนหรือเลือดที่ได้รับบริจาค
กำลังโหลดความคิดเห็น