เอเอฟพี - กัปตันและพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินโดยสารเสี่ยงที่จะเป็น “มะเร็งผิวหนัง” มากกว่าคนทั่วไปถึง 2 เท่า เพราะต้องสัมผัสรังสีอัลตราไวโอเลตจากดวงอาทิตย์อย่างสม่ำเสมอขณะบินอยู่ที่ความสูงหลายหมื่นฟุต ผลการศึกษาโดยทีมนักวิจัยสหรัฐฯ ระบุ
จากการวิเคราะห์ผลการศึกษา 19 ชิ้นซึ่งใช้กลุ่มตัวอย่างมากกว่า 266,000 คนพบว่า นักบินมีอัตราการเกิดมะเร็งผิวหนังเมลาโนมา (melanoma) สูงกว่าคนทั่วไปราว 2.21-2.22 จุด และ 2.09 จุดสำหรับบรรดาแอร์โฮสเตส และสจ๊วต
ผู้วิจัยชี้ว่า อัตราการเกิดมะเร็งผิวหนังมีปัจจัยกระตุ้นที่สำคัญคือ รังสีอัลตราไวโอเลต ซึ่งแทรกซึมผ่านทางกระจกในห้องนักบินและหน้าต่างห้องโดยสาร ขณะที่เครื่องบินเดินทางอยู่ที่ระดับความสูงหลายหมื่นฟุต
มาร์ตินา ซานโลเรนโซ จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียในนครซานฟรานซิสโก ระบุว่า งานวิจัยชิ้นนี้ “มีนัยสำคัญอย่างยิ่งต่อสุขภาวะในการทำงาน และการปกป้องผู้ที่อยู่ในสายอาชีพเหล่านี้”
งานวิจัยดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสารสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งอเมริกา
คณะผู้วิจัยระบุว่า ที่ความสูง 30,000 ฟุตซึ่งเป็นระดับเดินทางของเครื่องบินโดยสารทั่วไป รังสีคาร์ซิโนเจนิก อัลตราไวโอเลต จะเข้มข้นกว่าบนพื้นโลกถึง 1 เท่าตัว และจะเข้มข้นยิ่งขึ้นเมื่อเครื่องบินบินฝ่ากลุ่มเมฆหนาซึ่งสะท้อนรังสีอันตรายเข้าสู่ตัวเครื่องบินถึงร้อยละ 85
แม้จะเป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า นักบินและพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินเสี่ยงต่อการได้รับรังสีไอออไนซ์ (ionizing radiation) แต่ปัญหาเกี่ยวกับรังสีอัลตราไวโอเลตกลับยังไม่มีการพูดถึงมากนัก
สหรัฐฯ พบผู้ป่วยมะเร็งผิวหนังเมลาโนมาแล้วถึง 76,000 รายในปีนี้ และมีแนวโน้มที่จะเสียชีวิตถึง 9,710 ราย