xs
xsm
sm
md
lg

งานวิจัยชี้การเติบโตทางเศรษฐกิจเป็น “ศัตรูตัวฉกาจ” ทำให้ภาษาชนกลุ่มน้อยหายสาบสูญ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - คณะนักวิจัยระบุวันนี้ (3 ก.ย.) ว่าความเจริญทางเศรษฐกิจเป็นศัตรูอันดับหนึ่งของ “ภาษาชนกลุ่มน้อย” พร้อมทั้งชี้ว่าออสเตรเลีย และอเมริกาเหนือคือภูมิภาคซึ่งเผชิญความเสี่ยงที่ภาษาจะสูญหายมากที่สุด

จากการใช้เกณฑ์วิธีประเมินความเสี่ยงในการสูญพันธุ์แบบเดียวกับที่ใช้กับพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ นักวิจัยกลุ่มนี้ได้ข้อสรุปว่า ภาษาราว 1 ใน 4 จากทั้งสิ้น 6,909 ภาษาทั่วโลกกำลังเสี่ยงจะสูญหายไป

คณะนักวิจัยจากสหรัฐฯ และยุโรประบุในบทความด้านชีววิทยา ที่ตีพิมพ์ลงวารสารรอยัลโซไซตี ว่า “ปัจจุบัน ภาษาตายไปอย่างรวดเร็ว ในอัตราที่สูงกว่าการสูญพันธ์ของความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเป็นหายนะแห่งการสูญเสียที่เราต่างทราบกันดี”

“ภาษาที่มีผู้ใช้ไม่มากนักในภูมิภาคที่เศรษฐกิจพัฒนาแล้ว กำลังเผชิญกับภัยคุกคามอย่างมหันต์ เนื่องจากกลุ่มผู้ใช้มีจำนวนลดลงเรื่อยๆ”

ตัวอย่างของกรณีนี้อยู่ที่มลรัฐอะแลสกา ซึ่งพบว่ามีผู้พูดภาษาพื้นเมือง “แอแทแบสแคน” (Athabaskan) เหลือเพียง 24 คนในปี 2009 ขณะที่เด็กๆ ไม่มีโอกาสได้เรียนภาษานี้อีกแล้ว

และที่มลรัฐโอกลาโฮมา ก็มีผู้สื่อสารภาษาวิชิตา ของชาวอินเดียนแดงที่ราบ (Plain Indians) ได้อย่างคล่องแคล่วเพียงคนเดียวเท่านั้น

นักวิจัยกลุ่มนี้ชี้ว่า ภาษาอะบอริจินในออสเตรเลียกำลังเผชิญสถานการณ์เดียวกับภาษามาร์กูที่เพิ่งตายไปเมื่อเร็วๆ นี้ และภาษาเรมบารุงกา ที่เกือบจะสูญหายอยู่รอมร่อก็ “มีผู้ใช้น้อยรายลงเรื่อยๆ”

พวกเขากล่าวว่า “ภูมิภาคที่เศรษฐกิจพัฒนาแล้วอย่าง อเมริกาเหนือ และออสเตรเลียได้สูญเสียภาษาชนกลุ่มน้อยไปมากมาย”

“กระนั้น ภาษาที่มีกลุ่มผู้พูดน้อยก็ยังหลงเหลืออยู่ในภูมิภาคที่สุ่มเสี่ยงเหล่านี้ เราต้องให้ความสำคัญทันที เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงที่ภาษาเหล่านี้จะสูญหายไปในที่สุด”

นอกจากนี้ ภูมิภาคที่เข้าข่ายกลุ่มเสี่ยงยังรวมถึง บรรดาประเทศกำลังพัฒนาที่เศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว อย่างประเทศแถบเขตร้อน และแถบเทือกเขาหิมาลัย เป็นต้นว่า บราซิล และเนปาล

นักวิจัยกลุ่มนี้ได้รวบรวมข้อมูลต่างๆ เช่น จำนวนประชากรผู้ใช้ภาษาแต่ละภาษา ลักษณะทางภูมิศาสตร์ และอัตราการเติบโตหรือลดลงของผู้ใช้ภาษา

จากนั้น พวกเขาก็พิจารณาอิทธิพลที่อาจมีส่วนทำให้ภาษาสูญหายอย่าง กระแสโลกาภิวัตน์ ตลอดจนความเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจสังคม

มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ระบุในคำแถลงว่า จากการเปรียบเทียบข้อมูลพบว่า “ระดับของจีดีพีต่อหัว (ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ) มีความสอดคล้องกับการสูญหายของภาษา กล่าวคือ ยิ่งประสบความสำเร็จด้านเศรษฐกิจมากเท่าไร ภาษาจะยิ่งมีความหลากหลายน้อยลงเร็วขึ้น”

ทัตสึยะ อามาโตะ จากภาควิชาสัตววิทยา มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ซึ่งเป็นผู้ร่วมเขียนงานวิจัยชิ้นนี้ ได้อธิบายว่า บ่อยครั้งในเวลาที่เศรษฐกิจพัฒนา ภาษาหนึ่งๆ จะแผ่อิทธิพลครอบงำแวดวงการเมือง และการศึกษาของชาตินั้นๆ

“ผู้คนถูกบีบให้ปรับตัวเข้าหาภาษาที่มีอิทธิพล มิฉะนั้นก็เสี่ยงที่จะถูกปล่อยไว้นอกแวดวงเศรษฐกิจและการเมืองโดยไม่มีใครเหลียวแล”

หนึ่งในทางรอดจากวิกฤตนี้คือการรู้สองภาษา โดยคณะนักวิจัยระบุว่า จะต้องมีการสนับสนุนให้ประชาชนมีทักษะในการสื่อสารด้วยสองภาษาควบคู่กันไป เพื่อสงวนรักษาความหลากหลายทางภาษาบนโลกใบนี้

พวกเขาระบุว่า “การศึกษาของเรามีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจขั้นพื้นฐานในเรื่องต้นกำเนิด และธำรงรักษาความหลากหลายทางวัฒนธรรมของมนุษย์”

กำลังโหลดความคิดเห็น