เอเอฟพี/ASTVผู้จัดการออนไลน์ - สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (OHCHR) มีถ้อยแถลง “แสดงความวิตกกังวลอย่างยิ่ง” ต่อการจำกัดเสรีภาพนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนในไทยวันนี้ (3 ก.ย.) หลังจากที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกกฎคุมเข้มการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง
สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า ตั้งแต่ คสช.เข้ายึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อเดือนพฤษภาคม กองทัพก็พยายามปิดกั้นไม่ให้ผู้คัดค้านรัฐประหารและสื่อมวลชนที่เห็นต่างได้มีปากมีเสียง และยังขู่จะนำตัวผู้ฝ่าฝืนกฎอัยการศึกขึ้นศาลทหารด้วย
OHCHR กล่าวถึง “บรรยากาศการทำงานเพื่อสิทธิมนุษยชนที่ตกต่ำลง” หลังมีข่าวว่านักเคลื่อนไหวกลุ่มหนึ่งต้องประกาศยกเลิกกิจกรรมเสวนาว่าด้วยการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมในเมืองไทยยุคหลังรัฐประหาร เนื่องจากถูก คสช.กดดัน
“ทางสำนักงาน (OHCHR) มีความกังวลอย่างยิ่งต่อการจำกัดเสรีภาพนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนในไทย ซึ่งทำให้พวกเขาไม่สามารถจัดชุมนุมโดยสันติและแสดงความคิดเห็นได้”
OHCHR ยังเรียกร้องให้รัฐบาลไทยเคารพและปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนสากล
เมื่อวานนี้ (2) ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนซึ่งได้เรียบเรียงรายงานว่าด้วยสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในไทยตั้งแต่เกิดรัฐประหาร เปิดเผยว่า พวกเขาได้รับโทรศัพท์จากนายทหารชั้นผู้ใหญ่ซึ่งเตือนไม่ให้จัดการเสวนาในหัวข้อ “ความยุติธรรมที่ปิดปรับปรุง” เพราะอาจจะเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน
ภาวิณี ชุมศรี ตัวแทนจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งร่วมกับองค์การนิรโทษกรรมสากลประเทศไทย (Amnesty International Thailand) และมูลนิธิผสานวัฒนธรรม จัดกิจกรรมเสวนาดังกล่าวขึ้น ระบุว่า คสช.ได้ออกหนังสือ “ขอความร่วมมือ” ให้ยกเลิกการเสวนาเสีย “เนื่องจากสถานการณ์บ้านเมืองยังไม่ปกติ”
เอเอฟพีรายงานว่า บุคคลที่ต่อต้าน คสช.ถูกเรียกตัวไปกักขัง ถูกออกหมายจับ และในบางกรณีก็ถูกตั้งข้อหาต่อต้านคณะรัฐประหาร
ในช่วงไม่กี่สัปดาห์หลังเกิดการยึดอำนาจ ได้มีนักเคลื่อนไหวบางกลุ่มใช้วิธีแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เช่น การจัดกิจกรรมอ่านหนังสือนวนิยาย 1984 ของ จอร์จ ออร์เวลล์ ซึ่งมีเนื้อหาต่อต้านระบอบเผด็จการ รวมไปถึงปรากฏการณ์ “ชู 3 นิ้ว” ที่ได้แบบอย่างมาจากภาพยนตร์เรื่อง ฮังเกอร์ เกมส์ เป็นต้น
อย่างไรก็ดี การจัดกิจกรรมต้านรัฐประหารในที่สาธารณะเริ่มจะซาลงเรื่อยๆ หลังจากนั้น
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่เมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน ระบุว่า ตนจำเป็นต้องเข้ามาควบคุมอำนาจบริหาร เพราะการชุมนุมขับไล่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยืดเยื้อมานานหลายเดือน และมีคนบางกลุ่มที่ใช้ความรุนแรง จนทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 28 ราย และบาดเจ็บอีกหลายร้อยคน
แม้จะมีเสียงเรียกร้องจากนานาชาติให้ไทยกลับคืนสู่ประชาธิปไตยโดยเร็วที่สุด แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ยืนยันว่า การเลือกตั้งทั่วไปจะไม่เกิดขึ้นก่อนเดือนตุลาคม ปี 2015 เพราะ คสช.ต้องใช้เวลาในการปฏิรูประบบการเมืองและสังคมให้เข้าที่เข้าทางเสียก่อน