เอเจนซีส์ / MGR online – เจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ ออกโรงชื่นชมรัฐบาลมองโกเลียในวันพุธ ( 9 ธ.ค.) หลังจากที่ทางการของประเทศซึ่งมีประชากรเบาบาง ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกแห่งนี้ตัดสินใจยกเลิกการบังคับใช้ “โทษประหาร” ในประเทศของตนอย่างเป็นทางการ
เซอิด ราอัด อัล ฮุสเซน ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ ออกคำแถลงในวันพุธ (9) แสดงความยินดีต่อการที่ “ฮูราล” หรือรัฐสภาของมองโกเลียลงมติด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น ให้ยกเลิกการบังคับใช้โทษประหารชีวิตอย่างเป็นทางการ หลังการอภิปรายอย่างยาวนานเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา
“นี่ถือเป็นพัฒนาการที่ควรได้รับการยกย่อง และถือเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของความก้าวหน้าในเชิงบวก ในการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนสำหรับทุกชีวิตบนโลกใบนี้ ไม่ว่าจะเป็นผู้คนปกติในสังคมทั่วไป รวมถึงบรรดาผู้ที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดจากการก่ออาชญากรรมที่เลวร้าย” ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนของยูเอ็นกล่าวผ่านถ้อยแถลง
ด้านคิชิกเดมเบเรล เตมูจิน รัฐมนตรียุติธรรมของมองโกเลีย ให้สัมภาษณ์ผ่านสำนักข่าว “มอนต์ซาเม” โดยระบุ สังคมมองโกเลียมีความคาดหวังต่อการยกเลิกโทษประหารชีวิตมายาวนาน และกฏหมายฉบับใหม่ที่กำหนดบทลงโทษสูงสูดทางอาญาเอาไว้ที่การจำคุกตลอดชีวิตนั้นจึงเป็น “คำตอบ” ที่สอดคล้องกับความคิดและความต้องการของชาวมองโกเลียส่วนใหญ่
ความเคลื่อนไหวล่าสุดส่งผลให้มองโกเลียกลายเป็นประเทศที่ 105 ของโลกที่มีการยกเลิกการบังคับใช้โทษประหารชีวิตอย่างเป็นทางการ ขณะที่อีกราว 60 ประเทศทั่วโลกซึ่งถึงแม้จะยังไม่มีการยกเลิกโทษประหารชีวิตแต่ก็ไม่มีการตัดสินประหารชีวิตนักโทษแม้แต่รายเดียวตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ การยกเลิกโทษประหารชีวิตอย่างเป็นทางการ ถือเป็นหนึ่งในนโยบายหลักของประธานาธิบดีซาเคียจิอิน เอลเบกดอร์จ นับตั้งแต่ที่เขาก้าวขึ้นครองอำนาจในฐานะผู้นำสูงสุดของมองโกเลียเมื่อปี 2010 ขณะที่ข้อมูลจากองค์การนิรโทษกรรมสากล (Amnesty International : AI) ซึ่งมีฐานอยู่ในกรุงลอนดอนของสหราชอาณาจักร ระบุว่า การประหารชีวิตครั้งสุดท้ายในประเทศมองโกเลียนั้นเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อปี 2008