เอเอฟพี - การแพร่ระบาดของไวรัสอีโบลาในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก คร่าชีวิตผู้คนไปแล้ว 31 ศพ แต่ยังคงจำกัดวงอยู่ในดินแดนห่างไกลทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ องค์การอนามัยโลกเผยในวันอังคาร (2 ก.ย.) อย่างไรก็ตาม การปรากฏตัวของมันไม่เกี่ยวข้องใดๆกับไวรัสมรณะที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในแถบแอฟริกาตะวันตก
“ตอนนี้มีผู้เสียชีวิต 31 ราย” อูเกเน กัมบาบี หัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์ขององค์การอนามัยโลกในดีอาร์คองโกบอกกับเอเอฟพีโดยอ้างข้อมูลของเจ้าหน้าที่ และย้ำว่าการแพร่ระบาดของยังอยู่ในวงจำกัดในพื้นที่หนึ่งห่างจากกรุงกินซาซา ไปทางเหนือถึง 800 กิโลเมตร
ตัวเลขดังกล่าวถือเป็นการปรับเพิ่มขึ้นที่่น่ากังวลไม่น้อย หลังจากก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขระบุมีผู้เสียชีวิต 13 รายจากไข้เลือดออกร้ายแรงนี้ นับตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม รอบๆ หมู่บ้านโบเอนเด ซึ่งพื้นที่โดยรอบเป็นป่าหนาทึบ ในจังหวัดเอกาเตอร์
กัมบาบี ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์จากเอ็มบันดากา เมืองเอกของจังหวัดเอกาเตอร์ ซึ่งเขาเดินทางไปพร้อมกับนายเฟลิกซ์ กาบันเก นัมบี รัฐมตรีสาธารณสุขและโจเซฟ คาโบเร ตัวแทนขององค์การอนามัยโลกในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก โดยทั้ง 3 คนมีกำหนดลงพื้นที่โบเอนเด ซึ่งถูกกำหนดให้เป็นแหล่งกักกันโรคแล้ว ในช่วงค่ำวันอังคาร (2)
หัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์ขององค์การอนามัยโลกในดีอาร์คองโก บอกต่อว่าจนถึงตอนนี้มีกรณีที่ได้รับการยืนยัน ต้องสงสัยหรือมีความเป็นไปได้ว่าจะติดเชื้อทั้งหมด 53 ราย และมีประชาชนอยู่ภายใต้การสังเกตอาการอีก 185 คน หลับพบว่าพวกเขาเหล่านั้นมีการสัมผัสหรือเชื่อว่ามีการสุงสิงกับผู้ติดเชื้อไวรัสอีโบลา ที่แพร่กระจายได้ง่าย
รัฐบาลแถลงเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม ว่าสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก กำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดของอีโบลาครั้งที่ 7 นับตั้งแต่มันถูกพบเป็นครั้งแรกในดินแดนแห่งนี้เมื่อปี 1976 โดยตอนนั้นยังใช้เชื่อว่าสาธารณรัฐซาอีร์
อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขปฏิเสธความเกี่ยวข้องใดๆ กับอีโบลา สายพันธุ์ที่กำลังแพร่ระบาดอย่างร้ายแรงหลายพื้นที่ของแอฟริกาตะวันตก ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปแล้วมากกว่า 1,500 ศพ บนเหตุผลที่ว่าไม่มีการติดต่อกันระหว่างประเทศต่างๆที่อยู่ห่างไกลเหล่านั้นและโบเอนเด ขณะที่องค์การอนามัยโลกก็ยืนยันอย่างเดียวกัน
เจ้าหน้าที่สาธารณสุขย้ำว่า การแพร่ระบาดถูกจำกัดอยู่ในโซนทางการแพทย์ 4 เขตรอบโบเอนเด ซึ่งเป็นพื้นที่ที่บุคลากรทางการแพทย์จากองค์การอนามัยโลกและองค์การแพทย์ไร้พรมแดน ร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญด้านนักวิทยาการระบาด กำลังต่อสู้กับไวรัสชนิดนี้
องค์การแพทย์ไร้พรมแดนบอกกับเอเอฟพีเมื่อวันจันทร์ (1 ก.ย.) ว่ากำลังเสริมไปถึงพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบแล้ว และกำลังจัดตั้งคลินิกอีโบลา หลังจากต้องใช้เวลาเดินทางหลายวัน ด้วยที่ตั้งของหมู่บ้านอยู่ในแถบป่าหนาทึบ คณะเจ้าหน้าที่สาธารณสุขพร้อมด้วยสิ่งของเครื่องใช้ทางการแพทย์สำหรับรักษาผู้ติดเชื้อ จึงเข้าถึงโบเอนเดยากลำบาก