เอเอฟพี - สายการบิน “เจแปนแอร์ไลน์ส” (JAL) แถลงวันนี้ (28 ส.ค.) ว่ากำลังจะสั่งซื้อเครื่องบินสำหรับการเดินทางในประเทศ จากบริษัทในเครือของ “มิตซูบิชิ เฮฟวี อินดัสทรีส์” และกิจการผู้ผลิตอากาศยาน “เอ็มบราแอร์” (Embraer) ของบราซิลรวม 59 ลำ ขณะที่สายการบินแดนอาทิตย์อุทัยมีแผนจะปลดประจำการฝูงบินผลิตในประเทศที่สิ้นเปลืองเชื้อเพลิงออกไปบางส่วน
อดีตสายการบินแห่งชาติญี่ปุ่นได้ประกาศแผนสั่งซื้อเครื่องบินที่ญี่ปุ่นผลิตเองเป็นรุ่นแรกทั้งหมด 32 ลำ ขณะที่จะสั่งซื้ออีก 27 ลำจากเอ็มบราแอร์
สายการบินเจ้านี้ไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดด้านราคา แต่ก่อนหน้านี้ “มิตซูบิชิ รีเจียนนัล เจ็ต” (MRJ) กล่าวว่า คำสั่งซื้ออากาศยาน 32 ลำนั้นคิดเป็นมูลค่าราว 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 4.8 หมื่นล้านบาท) อย่างไรก็ตาม โดยปกติแล้วสายการบินต่างๆ มักจะได้รับส่วนลดเมื่อสั่งซื้อเครื่องบินฝูงใหญ่
เจแปนแอร์ไลน์สแถลงว่า คาดการณ์ว่ามิตซูบิชิจะส่งมอบอากาศยานให้ในปี 2021 ขณะที่บริษัทแดนแซมบ้าจะเริ่มส่งมอบเอ็มบราแอร์ 170 และ 190 ให้ในปี 2015
สายการบิน “แอร์นิปปอนแอร์เวย์ส” (ANA) ซึ่งเป็นคู่แข่งตัวฉกาจของเจแปนแอร์ไลน์สได้สั่งเครื่องบินจาก MRJ ทั้งสิ้น 25 ลำ โดย ANA เป็นลูกค้ารายแรกที่สั่งซื้ออากาศยานจากบริษัทแดนอาทิตย์อุทัย
ทั้งนี้ บริษัทผู้ผลิตเครื่องบิน “มิตซูบิชิ แอร์คราฟต์” ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2008 และมีแผนจะเปิดตัวอากาศยานรุ่นแรกในปี 2017
โครงการผลิตเครื่องบินของมิตซูบิชิซึ่งได้รับการสนับสนุนจากทางการญี่ปุ่นโครงการนี้ ตั้งเป้าจะแข่งขันกับอากาศยานรุ่นเล็กที่ผลิตโดยเอ็มบราแอร์, บอมบาร์ดิเอร์ ของแคนาดา ตลอดจนเครื่องบินที่ออกแบบโดยบริษัทรัสเซียและจีน
โครงการนี้จะเป็นอากาศยานโดยสารพาณิชย์ฝูงแรกในรอบ 4 ทศวรรษ และเป็นเครื่องบินไอพ่นลำแรกที่ได้รับการพัฒนาในญี่ปุ่น
ในอดีต ญี่ปุ่นได้พัฒนาอากาศยานเครื่องยนต์เทอร์โบพรอป YS-11 ขึ้นมา ซึ่งเป็นอากาศยานเพียงรุ่นเดียวที่โตเกียวผลิตเองนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2
อากาศยานลำดังกล่าวได้ทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้าเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1962 จากนั้นก็เลิกผลิตไปในปี 1974
เครื่องบินของมิตซูบิชิจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้ตั้งแต่ 70-90 คน และติดตั้งเครื่องยนต์รุ่นใหม่แบบ “geared turbofan” ที่บริษัท “แพร็ต แอนด์ วิทนีย์” ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในสหรัฐฯ ออกแบบมาให้ประหยัดเชื้อเพลิง
หนังสือพิมพ์ธุรกิจรายวัน “นิกเกอิ” รายงานว่า นอกจากคำสั่งซื้อจาก เจแปนแอร์ไลน์ส แล้ว มิตซูบิชิยังได้รับใบสั่งซื้ออากาศยานสำหรับเดินทางในประเทศอีก 400 ลำ ซึ่งเป็นจำนวนขั้นต่ำที่จะสร้างกำไรให้แก่โครงการนี้