ASTVผู้จัดการออนไลน์ - สายการบินแอร์มัณฑะเลย์ (Air Mandalay) ได้เปิดเผยแผนการซื้อเครื่องบินโดยสารไอพ่น Mitsubishi Regional Jet เพิ่มเป็น 10 ลำ จากที่สั่งซื้อไป 6 ลำ เมื่อปีที่แล้ว ในแผนการปรับปรุงยกระดับการให้บริการ ท่ามกลางการแข่งขันที่นับวันหนักหน่วงรุนแรง และต้นเดือนหน้านี้จะกลับมาบินอีกครั้งหนึ่ง ด้วยเครื่องบิน Regional Jet ที่ผลิตจากประเทศบราซิล
แอร์มัณฑะเลย์ กล่าวว่า วันที่ 1 พ.ค. นี้ จะประเดิมเครื่องบินเช่าขนาด 50 ที่นั่ง รุ่นใหม่ 2 ลำ คือ เอ็มเบร ERJ-145 (Embraer Regional Jet) นำผู้แทนสื่อแขนงต่างๆ บินไปยังงาปาลี (Ngapali) เมืองท่องเที่ยวชายทะเล ที่มีหาดทรายสวยงามริมทะเลเบงกอล ทางภาคตะวันตกของประเทศ หนังสือพิมพ์โกบอลนิวไล้ท์ออฟเมียนมาร์ (Global New Light of Myanmar) รายงานเรื่องนี้ ในฉบับวางจำหน่ายวันอาทิตย์ 5 เม.ย.
“เรากลับมาอีกครั้งด้วยความรู้สึกใหม่ ในการให้บริการที่ดีกว่า และด้วยความมุ่งหวังจะชิงตำแหน่งผู้นำในตลาดการบินในพม่ากลับมาเป็นของเราอีกครั้ง” นายสายคำปัก (Sai Kham Park) ซีอีโอของแอร์มัณฑะเลย์ บอก GNLM
แอร์มัณฑะเลย์ เป็นสายการบินเอกชนแห่งแรกในพม่า ก่อตั้งเมื่อปี 2537 บินเส้นทางในประเทศตลอดมา จนถึงปีที่แล้วมีเครื่องบิน 3 ลำ เป็น ATR72 จำนวน 2 ลำ ATR42 อีก 1 ลำ แต่ต้องหยุดให้บริการชั่วคราวในปลายเดือน ธ.ค.2557 หลังจากเครื่องบิน ERJ เช่าทั้ง 2 ลำ ไปไม่ทันกำหนดส่งมอบเดือน พ.ย.ปีที่แล้ว
.
.
สายการบินนี้มีปัญหาเกี่ยวกับเครื่องบินมาเป็นระยะๆ ปีที่แล้วต้องลดเที่ยวบินเป็นเวลาหลายเดือน ก็เนื่องจากปัญหาที่เกิดจากความเก่าของเอทีอาร์ทั้ง 3 ลำ ก่อนหน้านั้น เมื่อปี 2553 ต้องหยุดบินถึง 2 เดือน เนื่องจากต้องนำเครื่องบินทั้ง 3 ลำ เข้าซ่อมบำรุงครั้งใหญ่
แอร์มัณฑะเลย์ เซ็นซื้อ MRJ จากมิตซูบิชิแอร์คราฟต์คอร์ปอเรชั่น (Mitsubishi Aircraft Corporation) จำนวน 6 ลำ ในเดือน พ.ค.2557 เป็นลูกค้ารายที่ 6 ทั้ง MRJ-70 (70 ที่นั่ง) และ MRL-90 (90 ที่นั่ง) มีกำหนดส่งมอบลำแรกในปี 2561 มี “ออปชัน” ที่สามารถซื้อเพิ่มเติมได้อีก 4 ลำ ซึ่งยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดว่าอีก 4 ลำ จะเซ็นสัญญาเมื่อไร
.
2
3
แอร์มัณฑะเลย์ ท่าอากาศยานนานาชาตินครย่างกุ้ง เป็นศูนย์การบิน ด้วบ ERJ ทั้ง 3 เครื่อง จะทำให้สามารถให้บริการเส้นทางหลักเดิมๆ ได้อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งรวมทั้งนครมัณฑะเลย์ กับเมืองมี๊ตจีนาในรัฐกะฉิ่น 3 เที่ยวต่อสัปดาห์ และบินประจำทุกวันไปยังเมืองสิตตเว รัฐระไค เมืองนองอู (Nuang U) กับเฮเฮาะ (Heho) ทางตอนกลางของประเทศ และบินไปกรุงเนปีดอ เมืองหลวง สัปดาห์ละ 3 เที่ยว
สำหรับ “สายใต้” แอร์มัณฑะเลย์ยังบินเส้นทางย่างกุ้ง-ทวาย กับ ย่างกุ้ง-เกาะสอง รวม 3 เที่ยวต่อสัปดาห์ ผู้บริหารกล่าวก่อนหน้านี้ว่า ในระหว่างรอเครื่องบินรุ่นใหม่ อาจจะต้องหา ATR มาให้บริการในฝูงอีกจำนวนหนึ่ง
ด้วยเครื่องบินเจ็ตที่ผลิตจากญี่ปุ่น จะทำให้แอร์มัณฑะเลย์สามารถขยายเส้นทางบินเชื่อมประเทศเพื่อนบ้านได้ จ.เชียงใหม่ ของไทยก็รวมอยู่ในแผนการด้วย
บริษัทมิตซูบิชิเฮฟวี่อินดัสตรี (Mitsubishi Heavy Industry) เริ่มโครงการผลิตไอพ่น MRJ มาตั้งแต่ปี 2548-2549 เป็นเครื่องบินโดยสารรุ่นแรกในรอบ 50 ปี ที่ออกแบบและสร้างในญี่ปุ่น นับตั้งแต่บริษัทนิฮงแอร์คราฟต์ฯ (Nihon Aircraft Manufacturing Corp) ผลิตเครื่องบินเทอร์โบพร็อพแบบ YS-11 ออกมาเมื่อปี พ.ศ.2508 และหยุดไปในปี 2517 เนื่องจากขาดทุน
มิตซูบิชิฯ ได้เลื่อนกำหนดการเกี่ยวกับ MRJ มาหลายครั้ง เนื่องจากปัญหาการผลิตชิ้นส่วน ครั้งล่าสุด บริษัทแพร็ตแอนด์วิตนีย์ จากแคนาดาส่งเครื่องยนต์ให้ไม่ทัน ทำให้กำหนดขึ้นบินเที่ยวปฐมฤกษ์ต้องเลื่อนจากปลายปีที่แล้ว มาเป็นเดือน ม.ค.ปีนี้ และต้องเลื่อนการส่งมอบจากปี 2558 ออกไปเป็น 2560
ปัจจุบัน มิตซูบิชิฯ ผลิตเครื่องบินต้นแบบ MRJ ออกมา 2 ลำ คือ MRJ-70 และ MRJ-90 อย่างละ 1 ลำ.
4
5