เอเอฟพี - “พีพ เดอะ มิชชันนารี” เต่ายักษ์ดาวเด่นแห่งหมู่เกาะกาลาปาโกสซึ่งได้รับการถ่ายภาพออกไปเผยแพร่มากที่สุดตัวหนึ่ง เสียชีวิตลงแล้วด้วยวัย 60 ปี เจ้าหน้าที่ประจำอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะกาลาปาโกสในเอกวาดอร์ แถลงเมื่อวานนี้ (22 ส.ค.)
วิกเตอร์ แคร์เรียน ผู้อำนวยการแผนกระบบนิเวศของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะกาลาปาโกส ระบุว่าพีพจบชีวิตลงด้วยสาเหตุทางธรรมชาติ
“อวัยวะภายในของมันค่อยๆ ล้มเหลว” แคร์เรียนให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพี พร้อมชี้ว่าเต่ายักษ์ตัวนี้มีน้ำหนักเกินพิกัด
ด้าน อาร์ตูโร อิซูริเอตา ผู้อำนวยการอุทยานแห่งชาติ ก็ได้โพสต์ข้อความอาลัยเจ้าเต่ายักษ์ตัวนี้ลงในทวิตเตอร์
“ความทรงจำเกี่ยวกับพีพ เดอะ มิชชันนารี ตลอด 60 ปีที่ผ่านมาจะยังอยู่ในใจของพวกเราตลอดไป”
อิซูริเอตายังแจ้งข่าวดีต่อบรรดานักอนุรักษ์ทั้งหลายว่า “การจากไปของพีพ ไม่ได้ทำให้สายพันธุ์ของมันสูญสิ้นไป”
พีพ เป็นเต่ายักษ์สายพันธุ์ Chelonoidis becki ซึ่งมีถิ่นกำเนิดที่ภูเขาไฟโวลฟ์ บนเกาะอิซาเบลลา ปัจจุบันยังมีเต่าพันธุ์นี้อาศัยอยู่ในถิ่นกำเนิดเดิมของพวกมันราวๆ 2,000 ตัว
พีพ ถูกนำออกจากธรรมชาติและกลายเป็นเต่าเลี้ยงของครอบครัวหนึ่งบนเกาะ ซาน คริสโตบัล เมื่อทศวรรษ 1940 ชาวประมงท้องถิ่นเรียกมันว่า “พีพ” ซึ่งภายหลังได้ถูกขยายเพิ่มเติมเป็น “พีพ เดอะ มิชชันนารี” หลังจากที่มันถูกมอบให้แก่คณะมิชชันนารีคริสต์นิกายฟรานซิสกันในปี 1967
พีพ ได้กลายเป็น “มาสคอต” ของคณะมิชชันนารี และเป็นที่รักของชุมชนที่มันอาศัยอยู่ มันถูกถ่ายภาพและให้อาหารโดยนักเดินทางที่มาเยือนอย่างสม่ำเสมอ
คณะมิชชันนารีได้ยกพีพให้แก่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะกาลาปาโกสในปี 2012 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่ “จอร์จ ผู้เดียวดาย” เต่าสายพันธุ์ Geochelone nigra abingdoni ตัวสุดท้ายของโลกได้ตายจากไป
หมู่เกาะกาลาปาโกสกลายเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก หลังจากที่ ชาร์ลส์ ดาร์วิน ได้มาเยือนหมู่เกาะแห่งนี้ในปี 1835 และทำการศึกษาวิจัยจนคิดค้น “ทฤษฎีวิวัฒนาการ” ได้สำเร็จ