xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus : นักรบญิฮาด “ฆ่าตัดหัว” นักข่าวมะกันพูดสำเนียง “บริติช” ทำให้ “อังกฤษ” โดนเพ่งเล็ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กลายเป็นข่าวสะเทือนขวัญคนทั้งโลก เมื่อกลุ่มก่อการร้ายรัฐอิสลาม หรือ “ไอเอส” ที่บุกยึดพื้นที่ตอนเหนือของอิรักและภาคตะวันออกของซีเรียได้เผยแพร่คลิปวิดีโอบันทึกนาทีฆ่าตัดหัวผู้สื่อข่าวชาวอเมริกัน เจมส์ โฟลีย์ เพื่อแก้แค้นปฏิบัติการโจมตีทางอากาศของสหรัฐฯ สร้างความตกตะลึงและเรียกเสียงประณามอย่างรุนแรงจากนานาชาติ ไม่เว้นกระทั่งผู้นำชาวมุสลิม แต่ประเด็นที่น่าสังเกตก็คือ นักรบปกปิดใบหน้าที่ลงมือสังหาร โฟลีย์ นั้นพูดภาษาอังกฤษด้วยสำเนียงแบบคนอังกฤษแท้ๆ ก่อให้เกิดคำถามคาใจชาวโลกว่า เมืองผู้ดีอังกฤษกำลังกลายเป็นชาติ “ผู้ส่งออกนักรบญิฮาด” หรือไม่



คลิปวิดีโอที่ถูกเผยแพร่เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม ยังทำให้รัฐบาลอังกฤษต้องฉุกคิดว่า ทุกวันนี้มีผู้ก่อการร้ายเดินปะปนกับพลเมืองทั่วไปบนท้องถนนเมืองผู้ดีมากน้อยแค่ไหน และนักรบญิฮาดเลือดอังกฤษที่เข้าไปร่วมต่อสู้ในสมรภูมิอิรักและซีเรียจะกลายมาเป็นภัยคุกคามต่อบ้านเกิดของพวกเขาหรือไม่

ผู้สันทัดกรณีอธิบายว่า เด็กวัยรุ่นซึ่งเป็นสมาชิกรุ่นที่ 2 หรือ 3 ในครอบครัวผู้อพยพมักจะรู้สึกแปลกแยกจากสังคม และเมื่อมีฐานะทางเศรษฐกิจด้อยกว่าคนส่วนใหญ่ ก็ยิ่งทำให้พวกเขาเลือกที่จะแสวงหาเกียรติยศจากการพลีชีพเพื่อศาสนา

“เด็กรุ่นนี้เป็นกลุ่มที่ไม่ประสบความสำเร็จเท่ารุ่นพ่อแม่” เอริน มารี ซอลต์แมน นักวิจัยอาวุโสจากสถาบันควิลเลียม (Quilliam) ซึ่งเป็นคลังสมองด้านการต่อต้านก่อการร้าย ให้สัมภาษณ์

“พวกเขาต้องเผชิญการต่อสู้แข่งขันและใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก โดยเฉพาะในยุคโลกาภิวัตน์ซึ่งอัตลักษณ์ของคนเราเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว... วัยรุ่นบางคนจึงเสี่ยงที่จะตกเป็นเหยื่อกลุ่มก่อการร้ายที่ให้สัญญาว่า จะช่วยให้พวกเขาได้รับการยกย่องเยี่ยงวีรบุรุษ บุคคลในตำนาน และได้เป็นส่วนหนึ่งในการปกป้องโลกนี้”

ริชาร์ด บาร์เร็ตต์ อดีตหัวหน้าฝ่ายต่อต้านก่อการร้ายของ MI6 ให้สัมภาษณ์ต่อสถานีโทรทัศน์บีบีซีเมื่อเดือนมิถุนายนว่า พลเมืองอังกฤษที่ข้ามน้ำข้ามทะเลไปเข้าร่วมกับกลุ่มติดอาวุธในอิรักและซีเรีย “อาจมีมากถึง 500 คน”

คำเตือนของ บาร์เร็ตต์ มีขึ้น หลังปรากฏคลิปวิดีโอในเว็บไซต์ยูทิวบ์เป็นภาพนักรบญิฮาดวัยรุ่นชาวอังกฤษออกมาเชิญชวนผู้คนให้ร่วมสานต่ออุดมการณ์ของ ไอเอส

“สิ่งที่น่ากังวลที่สุดก็คือ คุณไม่มีทางรู้ได้เลยว่าพวกเขาคนไหนจะกลับมาอังกฤษเพื่อใช้ชีวิตต่อไปตามปกติ และคนไหนที่จะกลับมาพร้อมแนวคิดรุนแรง”

ผู้พลีชีพในตำนาน

อัฟซาล อัชรอฟ ผู้เชี่ยวชาญด้านค่านิยมก่อการร้ายจากสถาบัน Royal United Services Institute (RUSI) ชี้ว่า สมาชิกกลุ่มติดอาวุธนั้นมีอยู่ไม่น้อยที่เป็นอาชญากร หรือพวกอันธพาลที่ถูกล้างสมองและเปลี่ยนศาสนาขณะถูกจำคุก ทว่าความรู้สึกโกรธแค้นต่อเหตุการณ์ปัจจุบันที่เกิดขึ้นกับชุมชนมุสลิมทั่วโลกยังถือเป็นปัจจัยกระตุ้นที่สำคัญที่สุด

“สงครามกลางเมืองสเปนเคยทำให้เกิดกวีที่ยิ่งใหญ่อย่าง ลอรี ลี, เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ และอีกหลายคนที่รู้สึกในฐานะคนหนุ่มสาวยุคนั้นว่า สังคมกำลังถูกกดขี่”

“ในทำนองเดียวกัน วัยรุ่นมุสลิมจำนวนมากก็รู้สึกว่าโลกมุสลิมกำลังถูกกดขี่จากรัฐบาลตะวันตก หรือแม้กระทั่งรัฐบาลในตะวันออกกลางที่เป็นพันธมิตรกับตะวันตก”

อย่างไรก็ตาม อัชรอฟ มองว่าโอกาสที่เด็กหนุ่มเหล่านี้จะย้อนกลับไปก่อเหตุรุนแรงในบ้านเกิดยังมีน้อย เพราะส่วนใหญ่จะรู้สึกเทิดทูนความเป็นนักรบพลีชีพในตำนานจนไม่อยากกลับไปใช้ชีวิตในประเทศเดิมอีก

ซอลต์แมนชี้ว่า แม้ฆาตกรผู้สังหาร เจมส์ โฟลีย์ อาจเป็นชาวอังกฤษ แต่ก็ไม่ควรสรุปว่าคนอังกฤษมีนิสัยป่าเถื่อนมากกว่าชนชาติอื่น ทว่าความเป็นอังกฤษนี้กำลังถูกใช้เพื่อ “โฆษณาชวนเชื่อ” มากกว่า

“ดิฉันมองว่าพวกเขาจงใจเลือกเหยื่อที่เป็นชาวอเมริกัน และนักรบที่เป็นชาวอังกฤษ” เธอกล่าว

“การที่เราได้เห็นคนๆ หนึ่งซึ่งเติบโตในสังคมประชาธิปไตยกลับกลายเป็นคนโหดร้ายเช่นนี้ มันย่อมกระทบต่อจิตใจมากเป็นพิเศษ”

อัชรอฟชี้ว่า ในความเป็นจริงแล้ว นักรบญิฮาดชาวอังกฤษมักถูกมอบหมายให้ทำภารกิจชั้นรองๆ เช่น ระเบิดพลีชีพ หรือเป็นการ์ดคุ้มกัน เพราะพวกเขาไม่ได้รับความไว้วางใจจากกลุ่มเท่าที่ควร และส่วนใหญ่ก็พูดภาษาอาหรับไม่ได้

เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา มูฮัมหมัด ฮามิดูร์ เราะห์มาน วัย 25 ปี ซึ่งเคยเป็นพนักงานในเครือร้านจำหน่ายเสื้อผ้า Primark กลายเป็นชาวอังกฤษคนล่าสุดที่ตัดสินใจเข้าร่วมกับกลุ่มไอเอส ซึ่งกรณีของเขาชี้ให้เห็นว่าวัยรุ่นที่จะถูกชักจูงเป็นนักรบญิฮาดในอนาคตอาจมีบุคลิกภายนอกไม่แตกต่างจากเด็กทั่วไปเลย

นักรบชาวอังกฤษหลายคนยังใช้สื่อสังคมออนไลน์เป็นเครื่องมือหาแนวร่วม เช่น มาธี ฮัสซัน วัย 19 ปี ซึ่งเผยแพร่ภาพถ่ายตนเองขณะถือขวดครีมช็อกโกแลตผสมเฮเซลนัท “นูเทลลา” เพื่อให้วัยรุ่นคนอื่นๆ ที่อยากเป็นสมาชิกกลุ่มก่อการร้ายมั่นใจว่า พวกเขาจะไม่ขาดแคลนความสุขสบายที่เคยได้รับในบ้านเกิด

กระนั้นก็ดี ซอลต์แมนยังเชื่อว่าเมล็ดพันธุ์แห่งลัทธิหัวรุนแรงถูกหว่านในโลกภายนอกมากกว่าโลกอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกลุ่มไอเอสเริ่มจะเป็นฝ่ายได้เปรียบในการสู้รบ

“หากเป็นเมื่อหนึ่งเดือนก่อน ดิฉันอาจตอบว่าจะมีชาวอังกฤษเข้าร่วมต่อสู้กับไอเอสน้อยลงเรื่อยๆ แต่เวลานี้ไอเอสดูเหมือนจะเข้าใกล้ชัยชนะมากขึ้นทุกที และคนส่วนใหญ่ย่อมอยากอยู่ข้างผู้ชนะเสมอ”

อัชรอฟ ไม่เห็นด้วยในประเด็นนี้ และกล่าวฟันธงว่า ไอเอสจะหาแนวร่วมได้ยากขึ้น

“การกระทำของพวกเขาสร้างความเสื่อมเสียต่อประชาชาติมุสลิมอย่างร้ายแรง และหากว่ากันตามความจริงแล้ว พวกเขาก็คือผู้แพ้ต่างหาก” เขากล่าวทิ้งท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น