เอเอฟพี – อนาคตอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์อเมริกันเต็มไปด้วยขวากหนามเบื้องหน้า หลังจากพวกบริษัทสื่อยักษ์ใหญ่พากันหันมาใช้วิธีแตกกิจการ โดยแยกเอาธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ออกไปเป็นบริษัทต่างหาก ส่งผลให้หนังสือพิมพ์และนิตยสารมากมายไร้บริษัทแม่กระเป๋าหนักคอยให้เงินอัดฉีด
คลื่นการแตกกิจการเกิดขึ้นขณะที่หนังสือพิมพ์และนิตยสารในสหรัฐฯ กำลังดิ้นรนปรับเปลี่ยนตัวเองรับยุคดิจิตอล และผู้ถือหุ้นกลุ่มกิจการสื่ออดรนทนไม่ได้มากขึ้นเรื่อยๆ กับธุรกิจสิ่งพิมพ์ที่ถูกมองว่ากำลังหมดอนาคตและกลายเป็นตัวถ่วง
แกนเน็ตต์ บริษัทผู้ตีพิมพ์ยูเอสเอ ทูเดย์ และหนังสือพิมพ์อีกนับสิบหัวในสหรัฐฯ เป็นรายล่าสุดที่ประกาศแผนการแยกธุรกิจสิ่งพิมพ์กับทีวีออกจากกัน โดยให้เหตุผลว่าเพื่อปรับโฟกัสธุรกิจแต่ละแขนงให้แหลมคมยิ่งขึ้น
ความเคลื่อนไหวนี้มีขึ้นหลังจากเครือบริษัททรีบูน ได้แตกธุรกิจหนังสือพิมพ์ของตน ซึ่งมีทั้ง ลอสแองเจลีส ไทมส์ และชิคาโก ทรีบูน ออกไปเป็นกิจการต่างหาก เช่นเดียวกับ ไทม์ วอร์เนอร์ ประกาศแยกกลุ่มธุรกิจนิตยสารออกมาเป็นบริษัทไทม์ อิงก์
ย้อนกลับไปเมื่อเดือนที่แล้ว กิจการหนังสือพิมพ์อีกสองกลุ่มคือ อีดับเบิลยู สคริปส์ และ เจอร์นัล คอมมิวนิเคชันส์ ประกาศผนวกกิจการกันและแยกเอาธุรกิจหนังสือพิมพ์ออกมา พร้อมทั้งตั้งบริษัทใหม่ที่เน้นทีวีและสื่อดิจิตอลโดยเฉพาะ
อันที่จริง แนวโน้มเช่นนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ปีที่แล้ว เมื่อเจ้าพ่อสื่ออย่าง รูเพิร์ต เมอร์ดอค แยกอาณาจักรของตนเองออกเป็นทะเวนตี้ เซ็นจูรี่ ฟ็อกซ์ ที่มุ่งเน้นสื่อทีวีและธุรกิจบันเทิง กับ นิวส์ คอร์ป ที่มีการปรับโครงสร้างใหม่และโฟกัสธุรกิจสิ่งพิมพ์
มาร์ก เจอร์โควิตซ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการของโครงการวารสารศาสตร์ ของพิว รีเสิร์ช เซนเตอร์ ชี้ว่า กระแสการแตกกิจการนี้เปรียบได้กับการที่บังคับให้ลูกแยกย้ายออกจากบ้านพ่อแม่
หลายปีก่อน หนังสือพิมพ์หัวต่างๆ ในสหรัฐฯ ถูกพวกบริษัทสื่อรุมซื้อในยุคที่สามารถทำเงินกันได้อย่างมากมายมหาศาล แต่วันนี้ธุรกิจแขนงอื่นในอาณาจักรสื่อ อาทิ ทีวีในท้องถิ่น กลายเป็นตัวทำเงินใหม่ ทำให้ตลาดวอลล์สตรีทไม่สนใจอนาคตของหนังสือพิมพ์อะไรนัก
อลัน มัตเตอร์ ที่ปรึกษาในอุตสาหกรรมสื่อ โต้แย้งว่า จริงๆ แล้วพวกธุรกิจหนังสือพิมพ์ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนซื้อขายกันอยู่ในตลาดหุ้นนั้น ยังคงทำส่วนต่างกำไรโดยเฉลี่ยได้ถึง 16% สูงกว่าส่วนต่างกำไรของวอลมาร์ทและอะเมซอนด้วยซ้ำ
อย่างไรก็ดี มัตเตอร์เสริมว่า ทั้งอัตราผลกำไรและทั้งพนักงานในกองบรรณาธิการต่างได้รับผลกระทบอย่างหนักหน่วงในช่วงหลายปีมานี้ นอกจากนั้น หนังสือพิมพ์ยังตามไม่ทันกระแสดิจิตอล เพราะแทนที่จะยึดกุมคนอ่านเหมือนที่เคยเป็นมา หนังสือพิมพ์ทุกฉบับกลับพึ่งพิงกูเกิล เฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ ในการสร้างทราฟฟิก ซึ่งเป็นเส้นเลือดใหญ่ของกิจการสื่อทั้งหมด
แดน เคนเนดี้ ศาสตราจารย์วารสารศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยนอร์ทอีสเทิร์น ขานรับว่ากิจการหนังสือพิมพ์กำลังฟื้นตัวขึ้นมาจากผลลบของกระแสการผนวกกิจการก่อนหน้านี้ โดยเขามองว่า การผนวกกิจการหมายถึงหนี้สินที่เพิ่มขึ้นของบริษัท ตลอดจนความคาดหวังซึ่งมากขึ้นของวอลล์สตรีท และเรื่องแบบนี้ส่งผลกระทบด้านลบต่อหนังสือพิมพ์พอๆ กับการเผชิญคู่แข่งใหม่ๆ อย่างเว็บไซต์สมัครงานและโฆษณาย่อยทีเดียว
เคนเนดี้ชี้ว่า ส่วนต่างกำไรของหนังสือพิมพ์ยังอยู่ในระดับที่น่าพอใจ จึงถือว่าธุรกิจนี้ยังมีอนาคต โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ที่เป็นของบริษัทเอกชนที่ไม่มีหนี้สิน
มีนักวิเคราะห์บางคนมองว่า การแตกกิจการของบริษัทสื่อชนิดที่แยกสื่อสิ่งพิมพ์ออกมาเป็นกิจการต่างหาก อาจบีบให้บริษัทสิ่งพิมพ์ต้องเร่งหาวิธีเข้าถึงผู้อ่านออนไลน์เพื่อหารายได้จากกระแสดิจิตอลและอยู่รอดต่อไป
สายตาทุกคู่กำลังจับจ้องความพยายามของหนังสือพิมพ์ อาทิ นิวยอร์ก ไทมส์ที่กำลังทดลองแผนการบุกแวดวงดิจิตอล และวอชิงตัน โพสต์ ที่สามารถเพิ่มยอดผู้อ่านออนไลน์ได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ภายใต้เจ้าของใหม่ที่ชื่อว่า เจฟฟ์ เบซอส ผู้ก่อตั้งอะเมซอน
เคนเนดี้สำทับว่า แม้หนังสือพิมพ์อาจยังทำกำไรได้และเป็นส่วนสำคัญของชุมชน แต่ธุรกิจนี้อาจไม่สามารถตอบสนองความคาดหวังของนักลงทุนวอลล์สตรีทในแง่การเติบโต
เพราะแม้เจ้าของที่เป็นบริษัทเอกชนยังทำให้หนังสือพิมพ์ทำกำไรได้ เช่น จอห์น เฮนรี นักลงทุนจากแวดวงกีฬาและเจ้าของใหม่ของบอสตัน โกลบ แต่หนังสือพิมพ์ยังต้องทุ่มทุนอีกมากเพื่อสร้างกระบวนการเปลี่ยนผ่านอย่างชาญฉลาดสู่ยุคดิจิตอลภายในไม่กี่ปีนี้
ปีเตอร์ โคปแลนด์ อดีตบรรณาธิการและผู้จัดการใหญ่สคริปส์ โฮเวิร์ด นิวส์ เซอร์วิส ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาวงการสื่อ มองว่าเป็นเรื่องดีที่หนังสือพิมพ์และทีวีแยกจากกัน เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ต่างกันมาก เขาบอกด้วยว่า ในอนาคตหนังสือพิมพ์อาจคืนสู่รากเหง้าเดิมคือการเป็นกิจการของนักลงทุนเอกชนระดับท้องถิ่น แทนที่จะเป็นส่วนหนึ่งในอาณาจักรสื่อยักษ์ใหญ่เหมือนเช่นเมื่อหลายปีก่อน
“ผมคิดว่า หนังสือพิมพ์กำลังก้าวเข้าสู่เฟสใหม่ที่ไม่ใช่เฟสสุดท้าย แต่เป็นอีกเฟสหนึ่งของวงจรชีวิต”