เอเอฟพี – คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติลงมติอย่างเป็นเอกฉันท์เมื่อวานนี้ (15) ให้มุ่งลดกำลังรบของกลุ่มอิสลามิสต์ในอิรัก ขณะที่มีกระแสรายงานมาว่า กลุ่มนักรบญิฮาดรัฐอิสลาม (ไอเอส) ได้สังหารชาวบ้านไปหลายสิบคนในพื้นที่ของชนกลุ่มน้อยยาซิดี
สื่อตะวันตกรายงานว่า ชายหลายสิบคนจากลัทธิความเชื่อยาซิดีถูกสังหารหมู่ในหมู่บ้านโคโช ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองซินจาร์ที่อยู่ในการควบคุมของชาวเคิร์ดราว 45 กิโลเมตร
บางรายงานระบุว่า ชาวบ้านหลายคนถูกบังคับให้เลือกว่าจะเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม หรือจะถูกประหารโดยทันที
ขณะที่รายละเอียดของเหตุการณ์ล่าสุดยังไม่ได้รับการยืนยัน การโจมตีเช่นนี้ในอดีตได้ทำให้กองทัพสหรัฐต้องเดินหน้าปฏิบัติการโจมตีมาแล้ว
ประธานาธิบดี บารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ ระบุว่า การจู่โจมทางอากาศเป็นสัปดาห์แรกได้ทลายการปิดล้อมภูเขาซินจาร์ทางตอนเหนือ ที่ซึ่งพลเรือนจำนวนหนึ่งถูกพวกนักรบญิฮาดปิดล้อมเป็นเวลามากกว่า 10 วัน
กองทัพสหรัฐระบุว่า ได้ปฏิบัติการโจมตีอากาศเพิ่มเติมเมื่อวานนี้ (15) หลังจากได้รับรายงานมาว่ากลุ่มก่อการร้ายรัฐอิสลาม “กำลังบุกโจมตีพลเรือน” ในพื้นที่ดังกล่าว
ขณะที่บรรดาองค์กรบรรเทาทุกข์ก็พยายามรับมือกับประชาชนหลายแสนที่ต้องพลัดถิ่นฐานเพราะการรุกคืบของกลุ่มอิสลามิสต์ในภาคเหนือของอิรัก กระบวนการตอบโต้กลุ่มไอเอสก็เริ่มเข้าเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา
ในนครนิวยอร์ก คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้ออกมติมุ่งลดกำลังรบของกลุ่มอิสลามิสต์ในอิรักและซีเรีย ด้วยการตัดลดช่องทางเงินทุนและคลื่นนักรบต่างชาติที่หลั่งไหลเข้าไปร่วมต่อสู้
นอกจากนี้ รัฐมนตรีสหภาพยุโรปก็มีมติเห็นชอบให้จัดการประชุมฉุกเฉินในกรุงบรัสเซลส์ เพื่อสนับสนุนการติดอาวุธให้กับกลุ่มนักรบชาวเคิร์ดในอิรัก ขณะที่ผู้มีอำนาจในต่างแดนและอิรักก็ต่างแสดงความปลอดโปร่งโล่งใจ หลังจากเมื่อวันอังคาร (12) นายกรัฐมนตรี นูรี อัล-มาลิกี แห่งอิรักตัดสินใจยอมลงจากตำแหน่งแล้ว
ซูซาน ไรซ์ ที่ปรึกษาด้านนโยบายความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ ชี้ว่า “นี่นับเป็นความก้าวหน้าที่ยิ่งใหญ่อีกอ้าวก้าวหนึ่ง” ในการวมอิรักเป็นหนึ่ง หลังจากถูกกลุ่มนักรบญิฮาดเข้าตียึดดินแดนได้อย่างกว้างขวางด้วยการบุกจู่โจมแบบสายฟ้าแลบและโหดเหี้ยมป่าเถื่อน ซึ่งก่อให้เกิดความหวั่นเกรงไปถึงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
บัน คี-มูน เลขาธิการสหประชาชาติ ก็ยินดีต่อท่าทีประนีประนอมของ มาลิกี ผู้สร้างความแตกแยกในอิรัก และเรียกร้องให้มีการจัดตั้งรัฐบาลที่อยู่บนความหลากหลายและครอบคลุมทุกฝักฝ่ายขึ้นมาโดยเร็ว เพื่อที่จะเดินหน้าแก้ปัญหาที่กำลังรุมเร้าอยู่นี้ในทันที
เสียงสนับสนุนที่มีให้กับ ไฮดาร์ อัล-อบาดี ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งให้เข้ามาสวมตำแหน่งของ อัลมาลิกี หลั่งไหลมากจากทั่วสารทิศ รวมถึงจากอิหร่านและซาอุดีอาระเบียด้วย
เมื่อครั้งที่กองกำลังญิฮาดเปิดฉากโจมตีเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน กองกำลังเปชเมอร์กาของชาวเคิร์ดต่างทำหน้าที่ได้ดีกว่ากองทหารของรัฐบาลอิรักที่ส่วนใหญ่ล่าถอย แต่ทว่าอาวุธยุทโธปกรณ์ที่กองทัพรัฐบาลเหลือทิ้งไว้ได้ทำให้กลุ่มไอเอสกลับมาเป็นศัตรูที่น่ากลัวอีกครั้ง ซึ่งอาวุธทรงอานุภาพเหล่านั้นก็ล้วนผลิตในสหรัฐฯ