xs
xsm
sm
md
lg

UN ประกาศภาวะฉุกเฉินขั้นสูงสุดในอิรัก-โอบามากร้าวเดินหน้าถล่มทางอากาศต่อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อัลญะซีเราะห์ - สหประชาชาติประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินระดับสูงสุดในอิรักเมื่อวันพฤหัสบดี (14 ส.ค.) ขณะที่การปะทะรอบใหม่ระหว่างทหารรัฐบาลและพวกนักรบสุหนี่ คร่าชีวิตเด็กน้อยผู้บริสุทธิ์ 4 รายทางตะวันตกของกรุงแบกแดด แต่อีกด้านหนึ่งประธานาธิบดีบารัค โอบามาแห่งสหรัฐฯ แถลงสถานการณ์ชนกลุ่มน้อยที่อพยพหนีการจู่โจมของฝ่ายกบฏรัฐอิสลามขึ้นไปอยู่บนภูเขาดีขึ้นแล้ว และยังไม่จำเป็นต้องดำเนินการอพยพเพิ่มเติม

เหตุปะทะปะทุขึ้นในตอนเช้าวันพฤหัสบดี (14) ในเมืองฟัลลูจาห์ ที่ฝ่ายกบฏยึดครองและอยู่ห่างจากแบกแดด ไปทางตะวันตกแค่ 65 กิโลเมตร โดยอาห์เมด ชามี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลฟัลลูจาห์ เปิดเผยว่าการสู้รบบริเวณชานเมืองทางเหนือของเมือง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 15 ราย ประกอบด้วยเด็ก 4 คน ผู้หญิง 1 คนและพวกนักรบอย่างต่ำ 10 คน

ฟัลลูจาห์อยู่ในการควบคุมของพวกนักรบรัฐอิสลามมาตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม ช่วงที่กบฏกลุ่มนี้ยึดครองพื้นที่ส่วนมากของจังหวัดอันบาร์ เช่นเดียวกับพื้นที่บางส่วนของเมืองรามาดี เมืองเอกของจังหวัด

เหตุสู้รบมีขึ้นขณะที่สหประชาชาติประกาศสถานการณ์ในอิรักอยู่ในขั้น “ฉุกเฉินระดับ3” ซึ่งเป็นระดับเลวร้ายสุด พัฒนาการอันเสื่อมทรามที่จะกระตุ้นความช่วยเหลือด้านสิ่งของบรรเทาทุกข์และเงินทุนเพิ่มเติม เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้ที่พลัดถิ่นฐาน นิกโคเลย์ มลาเดนอฟ ทูตพิเศษของสหประชาชาติชี้ให้เห็นถึงขอบเขตและความซับซ้อนของหายนะทางมนุษยธรรมในอิรัก ณ ปัจจุบัน

คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติบอกด้วยว่า พวกเขาให้การสนับสนุนผู้ถูกเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ในความหวังว่าเขาจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลที่ครอบคลุมไม่แบ่งฝักแบ่งฝ่าย ซึ่งสามารถตอบโต้ภัยคุกคามจากพวกกบฏ ทีฉุดอิรักเข้าสู่วิกฤตครั้งเลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่สหรัฐฯ ถอนทหารออกไปในปี 2011

ชนกลุ่มน้อยยาซิดีหลายหมื่นคนหลบหนีการรุกคืบของกลุ่มรัฐอิสลาม อพยพขึ้นไปอยู่บนภูเขาซินจาร์ แต่พวกเขาก็ต้องอยู่ในสถานการณ์วิกฤตท่ามกลางการโอบล้อมของพวกนักรบ จนสหรัฐฯและทหารอิรัก ต้องหย่อนเสบียงอาหารและน้ำในความช่วยเหลือเบื้องต้น

ทั้งนี้ ในช่วงหลายวันที่ผ่านมา กองกำลังชาวเคิร์ดจากซีเรีย ชาติเพื่อนบ้านเข้าร่วมต่อสู้เพื่อเปิดช่องทางจากภูเขา ช่วยชาวบ้านหลบหนีออกมาได้ราว 45,000 คน อย่างไรก็ตามเพนตากอนเผยเมื่อวันพฤหัสบดี (14) ยอมรับว่าสหรัฐฯ คงยังจะไม่มีภารกิจอพยพพลเรือนที่อยู่บนภูเขาซินจาร์ หลังทีมประเมินที่ส่งลงพื้นที่พบว่าสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนไม่ได้เลวร้ายอย่างที่กังวล

ต่อมาประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ แถลงในวันพฤหัสบดี (14) ว่าสถานการณ์บนภูเขาซินจาร์ดีขึ้นอย่างมาก จากการถล่มทางอากาศของเครื่องบินรบวอชิงตัน และคาดหมายว่าคงไม่จำเป็นต้องดำเนินภารกิจอพยพผู้คนลงมาเพิ่มเติม อย่างไรก็ตามเขายืนยันว่าจะเดินหน้าโจมตีทางอากาศเพื่อปกป้องหน่วยงานต่างๆและบุคลากรของอเมริกาในอิรักต่อไป ในนั้นรวมถึงเมืองอาร์บิล และเรียกร้องขอความสามัคคีในชาวอิรัก เพื่อปราบกองกำลังรัฐอิสลามให้แพ้พ่าย

สหประชาชาติเปิดเผยว่า พวกเขาจะเพิ่มความช่วยเหลือแก่ผู้ที่หลบหนีออกมาจากภูเขาซินจาร์ได้แล้ว รวมถึงชาวอิรักอีกกว่า 400,000 คนที่เข้าไปลี้ภัยในจังหวัดดาฮุก ทางตะวันตกของเขตปกครองตนเองเคอร์ดิสถานแห่งอิรักนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน ขณะที่อีกจำนวนหนึ่งหลบหนีไปยังพื้นที่อื่นๆของเขตปกครองตนเองชาวเคิร์ดหรือลงไปทางใต้สุด

โดยรวมแล้วมีพลเรือนต้องอพยพจากการสู้รบมากกว่า 15 ล้านคน นับตั้งแต่ฝ่ายกบฏจู่โจมเข้ายึดโมซุล เมืองใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของอิรัก และรุกคืบเข้าควบคุมพื้นที่อื่นๆของประเทศอย่างสายฟ้าแลบ

ทั้งนี้ เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา พวกนักรบรัฐอิสลามรุกคืบเข้าโจมตีเมืองต่างๆในเขตปกครองตนเองชาวเคิร์ด เดือดร้อนให้สหรัฐฯต้องปฏิบัติการถล่มทางอากาศ เพื่อขัดขวางกบฏกลุ่มนี้ จากการยึดเมืองเออร์บิล และให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ชาวคริสต์และชนกลุ่มน้อยชาว “ยาซิดี” ที่หลบหนีขึ้นไปอาศัยอยู่บนภูเขา “ซินจาร์” ภายในวงล้อมของกลุ่มติดอาวุธ

ขณะเดียวกัน รัฐบาลกลางของอิรักในแบกแดด ยังคงติดหล่มอยู่กลางความยุ่งเหยิงทางการเมือง หลังประธานาธิบดีเสนอชื่อนายไฮเดอร์ อัล-อบาดี นักการเมืองชีอะห์ ให้จัดตั้งรัฐบาลใหม่ภายใน 30 วัน วางให้เขาอยู่บนเส้นทางของการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทนนายนูรี อัล-มาลิกี

อย่างไรก็ตาม ในวันพุธ (13) นายมาลิกี บอกว่าเขาจะยอมสละอำนาจจนกว่าศาลรัฐบาลกลางจะวินิจฉัยในสิ่งที่เขาเรียกว่าเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญโดยประธานาธิบดีฟาอุด มาซุม
กำลังโหลดความคิดเห็น