เอเอฟพี - เหล่ารัฐมนตรีต่างประเทศสหภาพยุโรปเตรียมเปิดประชุมในวันศุกร์นี้ (15 ส.ค.) เพื่อหารือกันถึงวิกฤตในอิรัก หลังจากชาติสมาชิกสำคัญทั้งฝรั่งเศสและอังกฤษเรียกร้องดำเนินการอย่างมีขอบเขตเพื่อช่วยเหลือพลเมืองผู้บริสุทธิ์ของประเทศในตะวันออกกลางแห่งนี้จากเงื้อมมือของพวกนักรบ
ในถ้อยแถลงที่เผยแพร่เมื่อวันพุธ (13) โฆษกของนางแคเทอลีน แอชตัน หัวหน้าฝ่ายนโยบายต่างประเทศสหภาพยุโรป บอกว่าการประชุมนัดพิเศษ จะพุ่งเป้าไปที่แนวทางตอบสนองของอียูต่อวิกฤติกาลใหญ่ๆ ที่กำลังดำเนินอยู่ โดยเฉพาะอิรักและยูเครน
การหารือของเหล่ารัฐมนตรีต่างประเทศครั้งนี้จะมีขึ้นตามหลังการประชุมของคณะเอกอัครราชทูตของอียูเมื่อวันอังคาร (12) ซึ่งเหล่าชาติสมาชิกเริ่มหาแนวทางประสานงานทำงานร่วมกัน เพื่อช่วยเหลือรัฐบาลอิรักที่ถูกโอบล้่อมโดยพวกนักรบรัฐอิสลาม ซึ่งควบคุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ
ฝรั่งเศสและอิตาลี เรียกร้องมาหลายวันแล้วให้ทางสหภาพยุโรปนัดประชุมฉุกเฉิน เพื่อตอบสนองต่อคำร้องขอความช่วยเหลือทางอาวุธจากชาวเคิร์ดอิรัก ที่ต้องเผชิญหน้ากับการโจมตีของพวกนักรบญิฮัด ทางเหนือของประเทศ
เบื้องต้นบางประเทศไม่สู้เต็มใจจัดส่งอาวุธไปยังเขตความขัดแย้งในทางหลักการ ซึ่งแหล่งข่าวในอียูเชื่อว่ามันจะเป็นอุปสรรคใหญ่ของการประชุมในวันศุกร์ (15) อย่างไรก็ตาม ในการหารือกันของคณะผู้แทนทูตของกลุ่มเมื่อวันอังคาร (12) ปรากฏว่าไม่มีทูตจากชาติใดส่งเสียงคัดค้านคำเรียกร้องจากฝรั่งเศส อิตาลี และอังกฤษแม้แต่น้อย
ในวันพุธ (13) ประธานาธิบดีฟรังซัวส์ ออลลองด์ แห่งฝรั่งเศศ เดินตามรอยอังกฤษ ด้วยการเปิดเผยว่าจะส่งมอบอาวุธแก่กองกำลังอิรักที่กำลังต่อสู้กับพวกนักรบรัฐอิสลามในเวลานี้ หลังจากอังกฤษบอกว่าจะลำเลียงยุทโธปกรณ์ทางทหารให้แก่กองกำลังชาวเคิร์ด ท่ามกลางความกังวลของชาติตะวันตกว่าวิกฤตจะลุกลามไปทั่วภูมิภาค
การประชุมของเหล่าเอกอัครราชทูตอียูเมื่อวันอังคาร (12) ถูกกำหนดมาเพื่อพยายามหาแนวทางประสานกันให้ดียิ่งขึ้นในหมู่ชาติสมาชิก เกี่ยวกับปฏิกิริยาตอบสนองของกลุ่มต่อวิกฤตดังกล่าว ด้วยเหล่าทูตเห็นพ้องอย่างเป็นเอกฉันท์ถึงความจำเป็นที่ต้องให้การสนับสนุนทางมนุษยธรรมเพิ่มเติมและอย่างเร่งด่วน แต่เรื่องนี้ยังต้องผ่านการเห็นชอบจากเหล่ารัฐมนตรีต่างประเทศ ซึ่งมีอำนาจในการดำเนินการประสานงานสำคัญๆของกลุ่ม
อีกด้านหนึ่งในวันพุธ (13) ทางคณะกรรมาธิการยุโรป เพิ่มเงินช่วยเหลืออิรักเป็น 17 ล้านยูโร แต่ความท้าทายที่แท้จริงไม่ใช้ปัญหาขาดแคลบงบประมาณทางมนุษยธรรม แต่เป็นการเข้าถึงพลเรือนที่ถูกพวกนักรบล้อมกรอบมากกว่า ซึ่งในเรื่องนี้สหรัฐฯ ที่กำลังดำเนินการโจมตีทางอากาศต่อที่มั่นต่างๆของพวกนักรบญิฮัด เผยในวันเดียวกันว่ากำลังประเมินทางเลือกต่างๆ ในการให้ความช่วยเหลือชาวบ้านหลายแสนคนที่ติดอยู่บนภูเขาซินจาร์ ท่ามกลางคำเตือนของสหประชาชาติถึงความเป็นไปได้ของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์