xs
xsm
sm
md
lg

“เคร์รี” เร่งไทยคืนสู่ประชาธิปไตย ฟื้นการเลือกตั้ง-ให้สิทธิประชาชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



รอยเตอร์/เอเอฟพี/เอเจนซีส์ - รัฐมนตรีต่างประเทศ จอห์น เคร์รี ของสหรัฐฯ กล่าวปราศรัยที่ฮาวายในวันพุธ (13 ส.ค.) เป็นการแถลงปิดทัวร์เอเชียรวม 8 วันของเขา ด้วยการเน้นย้ำเรียกร้องจีนและประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ให้ส่งเสริมประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะไทยที่สถานการณ์ประชาธิปไตย “ถอยหลัง” เขาเร่งเร้าผู้มีอำนาจคืนสิทธิและเสรีภาพให้แก่ประชาชน และฟื้นระบอบประชาธิปไตยผ่านการเลือกตั้งอย่างเสรีและเป็นธรรม

ในการปราศรัยที่ศูนย์อีสต์-เวสต์ เซ็นเตอร์ ในเมืองโฮโนลูลู มลรัฐฮาวาย คราวนี้ เคร์รีเน้นย้ำไปที่แผนยุทธศาสตร์ของคณะรัฐบาลประธานาธิบดีบารัค โอบามา ซึ่งมุ่งมั่นที่จะดำเนินการ “ปักหมุด” หรือ “ปรับสมดุลใหม่” เพื่อหวนกลับมาแสดงบทบาทอันสำคัญในเอเชีย-แปซิฟิก โดยที่เขาไม่ค่อยเอ่ยถึงวิกฤตการณ์ซึ่งกำลังแผ่ลามครอบคลุมส่วนอื่นๆ ของโลกในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น อิรัก, อัฟกานิสถาน, กาซา, หรือยูเครน

กระนั้นที่บริเวณด้านนอกของศูนย์อีสต์-เวสต์ เซ็นเตอร์ ก็มีผู้เดินขบวนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มนี้ออกมาชูป้ายประท้วงการที่อิสราเอล ผู้เป็นพันธมิตรพิเศษของสหรัฐฯ ทำการถล่มโจมตีดินแดนกาซา สภาพเช่นนี้ก็ไม่แตกต่างจากการเดินทางของเคร์รีในเที่ยวนี้ ซึ่งนอกจากเข้าร่วมการหารือต่างๆ ในกรอบของการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศสมาคมอาเซียนที่พม่าแล้ว เขายังได้แวะเยือนออสเตรเลีย และหมู่เกาะโซโลมอน ทว่ากลับถูกประเด็นปัญหาเรื่องสงครามในกาซาและยูเครนรุมเร้ากวนใจ

ระหว่างการปราศรัยที่โฮโนลูลูนี้ เคร์รีกล่าวว่า ประธานาธิบดีโอบามาได้ขอให้เขาใช้ความพยายามมากขึ้นเป็น 2 เท่าเพื่อสร้างความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ ในเอเชียและแปซิฟิก โดยเฉพาะอย่างควรจะต้องเป็นความพยายามซึ่งเน้นหนักไปในเรื่องการทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจดำเนินไปได้อย่างยั่งยืน, การปฏิวัติด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ, ความร่วมมือด้านความมั่นคงในภูมิภาค และการส่งเสริมประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน

“สหรัฐฯ เป็นชาติเอเชีย-แปซิฟิก และเรายึดมั่นผูกพันอยู่กับผลประโยชน์อันถาวรต่างๆ ของเราในภูมิภาคนี้อย่างหนักแน่นจริงจัง เราทราบดีว่าความมั่นคงและความเจริญรุ่งเรืองของอเมริกานั้นมีความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดและอย่างเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กับเอเชีย-แปซิฟิก” เคร์รีบอก

รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ยังพูดพาดพิงถึงความตึงเครียดต่างๆ ในทะเลจีนใต้ ซึ่งกลายเป็นจุดโฟกัสของการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ซึ่งจัดขึ้นที่พม่า และเขาเข้าร่วมด้วยในคราวนี้
รัฐมนตรีต่างประเทศ จอห์น เคร์รี ของสหรัฐฯ กำลังพูดคุยโทรศัพท์ ขณะเขาเดินทางถึงสนามบินนครซิดนีย์, ออสเตรเลีย เมื่อวันพุธ (13) ทั้งนี้ระหว่างการทัวร์เอเชียเป็นเวลา 8 วันเที่ยวนี้ของเขา วิกฤตใหญ่ระหว่างประเทศโดยเฉพาะที่ กาซา และ ยูเครน เป็นสิ่งที่คอยรุมเร้ากวนใจ ทำให้ไม่อาจเน้นยุทธศาสตร์ “ปักหมุด” ในเอเชียของสหรัฐฯได้อย่างเต็มที่
ระหว่างการประชุมดังกล่าว สหรัฐฯ ได้เสนอให้ทุกๆ ฝ่ายระงับการกระทำอันยั่วยุทั้งหลายในทะเลจีนใต้ รวมทั้งเร่งเร้าให้ประเทศต่างๆ ทำงานร่วมกันเพื่อใช้วิธีสันติมาแก้ไขปัญหาข้อพิพาทอันเกิดจากการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือทะเลแห่งนั้นทับซ้อนกัน

เป็นที่ทราบกันดีว่า ข้อเสนอนี้มุ่งหมายที่จะตะล่อมให้พวกชาติสมาชิกอาเซียนทั้งหลาย หันมาร่วมมือกับสหรัฐฯในการคัดค้านจีนซึ่งกำลังแสดงท่าทีแข็งกร้าวในทะเลจีนใต้มากขึ้นเรื่อยๆ ทว่าปักกิ่งก็ดูจะประสบความสำเร็จในการต้านทานไม่ให้อาเซียนเอนไปในทางที่วอชิงตันปรารถนา

ในการปราศรัยคราวนี้ เคร์รีกล่าวย้ำข้ออ้างของวอชิงตันที่ว่า สหรัฐฯไม่ได้เข้าข้างฝ่ายใดในปัญหาเกี่ยวกับอธิปไตยในทะเลจีนใต้และทะเลจีนตะวันออก แต่สนใจว่าปัญหาเหล่านั้นจะได้รับการแก้ไขอย่างไร รวมทั้งพฤติกรรมที่เกิดขึ้นในบริเวณดังกล่าว

เคร์รีบอกด้วยว่า วอชิงตันคัดค้านการใช้การข่มขู่ คุกคาม หรือกำลัง เพื่ออ้างสิทธิ์อธิปไตยเหนือดินแดนที่เป็นกรณีพิพาท และไม่เห็นด้วยกับมุมมองที่ว่า เสรีภาพในการเดินเรือ การบิน หรือการใช้น่านน้ำและน่านฟ้าอย่างถูกกฎหมาย เป็นสิทธิพิเศษที่ประเทศใหญ่มอบให้ประเทศเล็ก

กระนั้น เคร์รีย้ำว่า ความสัมพันธ์เชิงสร้างสรรค์ระหว่างวอชิงตันกับปักกิ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเสถียรภาพในภูมิภาค

เกี่ยวกับประเทศไทย เคร์รีพูดเจาะจงว่า มีบางประเทศในเอเชียอย่างเช่นไทย ที่ “กำลังถอยหลัง” ในเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน

“ในประเทศไทยซึ่งเป็นทั้งเพื่อนและพันธมิตรผู้สนิทสนม เรากำลังรู้สึกขัดเคืองใจจากความเพลี่ยงพล้ำของประชาธิปไตย และหวังว่ามันจะเป็นการโซซัดโซเซชั่วคราวในเส้นทางนี้” รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าว

“เราเรียกร้องให้ทางการผู้มีอำนาจของไทยยกเลิกข้อจำกัดต่างๆ ในเรื่องกิจกรรมทางการเมืองและการแสดงความคิดเห็น, ฟื้นฟูการปกครองโดยพลเรือน, และหวนกลับคืนสู่ประชาธิปไตยโดยเร็วโดยผ่านการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม”

ในส่วนของพม่า เคร์รีตั้งข้อสังเกตว่า พม่ายังต้องฝ่าฟันอีกยาวไกลก่อนที่จะยกระดับเป็นประชาธิปไตยเต็มขั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น