เอเอฟพี - เดวิด จอห์นสตัน รัฐมนตรีกลาโหมออสเตรเลียแถลงวันนี้ (11 ส.ค.) ว่า ออสเตรเลียและสหรัฐฯ จะลงนามข้อตกลงระยะเวลา 25 ปี เพื่อเปิดทางให้วอชิงตันส่งกำลังนาวิกโยธินและทหารอากาศหมุนเวียน 2,500 คนไปยังออสเตรเลีย โดยชี้ว่าการตกลงปลงใจกันครั้งนี้เป็นสถานการณ์ที่ได้ประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย
ข้อตกลงฉบับนี้จะได้รับการลงนามในวันพรุ่งนี้ (12) เมื่อ จอห์น เคร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศ และ ชัค เฮเกล รัฐมนตรีกลาโหมจากสหรัฐฯ จะร่วมหารือกับ จูลี บิชอป รัฐมนตรีต่างประเทศ และ เดวิด จอห์นสัน รัฐมนตรีต่างประเทศของออสเตรเลีย ณ นครซิดนีย์
นอกจากนี้ ประเด็นปัญหาในต่างแดน เป็นต้นว่า วิกฤตในอิรัก และความขัดแย้งในยูเครนก็จะถูกหยิบยกมาพูดคุยกัน ในระหว่างการปรึกษาหารือระหว่างรัฐมนตรีออสเตรเลีย - สหรัฐฯ (the Australia-US Ministerial Consultations หรือ AUSMIN) ซึ่งมุ่งประเด็นสำคัญไปที่ความร่วมมือด้านความมั่นคง และด้านกลาโหมระดับภูมิภาค
อย่างไรก็ตาม หลักใหญ่ใจความของการประชุมครั้งนี้ คือการทำข้อตกลงเพื่อปูทางให้สหรัฐฯ ส่งกำลังทหารนาวิกโยธินหมุนเวียนเข้าไปยังเมืองดาร์วิน ทางตอนเหนือของออสเตรเลีย ซึ่งประธานาธิบดี บารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ เคยประกาศส่งนาวิกโยธินไปแดนจิงโจ้เป็นครั้งแรก เมื่อปี 2011 โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนการ “ปักหมุด” ในเอเชีย
จอห์นสตันกล่าวในการแถลงข่าวร่วมกับ เฮเกล ว่า “ในขั้นต้น เจ้าหน้าที่กลาโหมประมาณ 2,500 นายจะถูกส่งไปยังดินแดนนอร์เทิร์นเทร์ริทอรีเพื่อฝึกซ้อมในสนามฝึกยุทธวิธีของ (รัฐบาล) เครือจักรภพที่เรามี”
จอห์นสตันระบุว่า สหรัฐฯ ได้ส่งกำลังนาวิกโยธิน และทหารอากาศหมุนเวียนมากถึง 1,200 คนไปยังเมืองดาร์วิน ในเวลาที่ดินแดนนอร์เทิร์นทอร์ริเทอรีอยู่ในช่วงฤดูแล้ง
เขากล่าวว่า “เหล่านี้เป็นสิ่งที่ทำประโยชน์ให้แก่ออสเตรเลีย และในอีกด้านหนึ่งก็คือ เรามีพื้นที่ซึ่งสามารถใช้ฝึกยุทธวิธีและซ้อมรบได้มากมาย... จึงเป็นสถานการณ์ที่เราได้ประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย”
เฮเกลกล่าวว่า ข้อตกลงนี้มุ่งเน้น “การปรับสมดุลใหม่” ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ตามที่วอชิงตันวางแผน พร้อมกับระบุว่า สหรัฐฯ คือมหาอำนาจในแปซิฟิก โดยมีเรือในครอบครองราว 200 ลำ และมีกำลังพลกว่า 360,000 คนในภูมิภาคนี้
ภายหลังที่บรรดานักวิเคราะห์ตั้งข้อสังเกตว่า การหารือกันในวันพรุ่งนี้ (12) น่าจะช่วยถางทางให้สองชาติพันธมิตรสามารถยกระดับความร่วมมือกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ทางด้านเฮเกลชี้แจงว่า การพูดคุยกันจะเปิดโอกาสให้เหล่าเจ้าหน้าที่ได้พิจารณาหาหนทางที่สหรัฐฯ และออสเตรเลียจะสามารถร่วมมือกันได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
เขากล่าวว่า “ในวันพรุ่งนี้ (12) เราจะร่วมกันหาทางแก้ไขประเด็นปัญหาต่างๆ มากมาย โดยจะให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางทะเล หน่วยรบพิเศษ ระบบต่อต้านขีปนาวุธ และอัฟกานิสถาน”
เขาเผยว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมรัฐมนตรีสหรัฐฯ - ออสเตรเลีย ยังจะหารือถึงสถานการณ์ในยูเครน ตลอดจนภัยคุกคามจากกลุ่มติดอาวุธมุสลิมสุหนี่ “รัฐอิสลาม” (IS) ที่กำลังแผ่อิทธิพลในอิรัก ทั้งนี้ ออสเตรเลียได้เสนอจะช่วยเหลือสหรัฐฯ เพื่อแจกจ่ายความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมทางอากาศ ให้แก่พลเรือนชาวอิรักที่ตกอยู่ในวงล้อมของกลุ่มหัวรุนแรงกลุ่มนี้
เบทส์ กิล ประธานบริหารศูนย์การศึกษาสหรัฐฯ แห่งมหาวิทยาลัยซิดนีย์ กล่าวว่า การเจรจาในครั้งนี้จะเป็นก้าวที่สำคัญของ “การขยับขยายช่องทางให้สหรัฐฯ ส่งทรัพย์สินของสหรัฐฯ ทั้งกำลังพลและยุทโธปกรณ์เข้าไปในดินแดนของออสเตรเลียได้มากขึ้น”
กิล กล่าวว่า กระบวนการดำเนินไปอย่างล่าช้า แต่ก็เป็นการทำงานอย่างรอบคอบ นับตั้งแต่สหรัฐฯ ประกาศส่งกำลังนาวิกโยธินหมุนเวียนไปยังเมืองดาร์วิน ซึ่งเป็นข้อตกลงที่สร้างความขุ่นเคืองให้แก่จีน
นอกจากนี้ ข้อตกลงดังกล่าวยังสร้างความกังวลให้แก่บรรดาชาติเอเชีย ที่เป็นประเทศเพื่อนบ้านของออสเตรเลีย ที่มองว่า วอชิงตันประกาศนโยบาย ด้วยเจตนาที่จะปกป้องผลประโยชน์ของตนเองในภูมิภาคนี้ ในช่วงที่เกิดกระแสวิตกกังวลกันว่า จีนเริ่มมีท่าทีแข็งกร้าวขึ้นเรื่อยๆ
ตอนนี้ สหรัฐฯ ส่งกำลังทหารหมุนเวียนจำนวนจำกัดเข้าไปยังออสเตรเลีย ซึ่งเป็นชาติพันธมิตรของแดนอินทรีมาอย่างเนิ่นนาน เป็นต้นว่า ที่สถานีข่าวกรอง ของศูนย์ป้องกันร่วมไพน์แก็ป ใกล้กับเมืองอลิซสปริงส์
นอกจากนี้ ที่ประชุม AUSMIN ยังจะพูดคุยถึงประเด็นด้านความมั่นคงระดับภูมิภาคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียแปซิฟิก โดยเป็นหัวข้อเดียวกันกับที่ที่ประชุมสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ณ กรุงเนปิดอว์ ของพม่า ซึ่งเคร์รี และบิชอปเดินทางไปเข้าร่วม ก็หยิบยกขึ้นมาหารือด้วยเช่นกัน