xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯ เตรียมส่ง “นาวิกโยธิน” กว่าพันนายไป “แดนจิงโจ้” ตามยุทธศาสตร์ปรับสมดุลเอเชียแปซิฟิก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ เปิดเผยวานนี้ (24 มี.ค.) ว่าสหรัฐฯ จะส่งนาวิกโยธิน 1,150 นายไปยังออสเตรเลียในเดือนเมษายนนี้ เพื่อเสริมกำลังกองทหารในเมืองดาร์วินที่ตอนนี้มีอยู่ราว 200 คน

การส่งกำลังสนับสนุนคราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการส่งนาวิกโยธิน 2,500 นายไปยังออสเตรเลียภายในปี 2016 ถึง 2017 ในเวลาที่วอชิงตันกำลังพยายามดำเนินยุทธศาสตร์ “ปรับสมดุลใหม่” ในเอเชียแปซิฟิก

ทหารนาวิกโยธินระบุในคำแถลงว่า นาวิกโยธินส่วนใหญ่ที่ส่งไปมาจากกองพันทหารนาวิกโยธินที่ 1 กรมทหารนาวิกโยธินที่ 5 ของค่ายนาวิกโยธิน “เพนเดิลตัน” ในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย โดย “คาดหมายกันว่าจะเคลื่อนพลไปถึงออสเตรเลียในช่วงต้นเดือนเมษายน”

นอกจากนี้ ในกองกำลังดังกล่าวยังรวมถึง เฮลิคอปเตอร์ CH-53E ซี สตาเลียน 4 ลำ และเจ้าหน้าที่อีกราว 100 คนที่จะถูกส่งไปควบคุม และซ่อมบำรุงอากาศยาน คำแถลงชี้แจง

นาวาเอก แบรด บาร์เทลต์ โฆษกกองทัพนาวิกโยธินสหรัฐฯ แถลงว่า “การเคลื่อนพลครั้งนี้ถือเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า สหรัฐฯ ยังคงยึดมั่นในคำสัญญาที่จะเป็นพันธมิตรกับออสเตรเลีย และภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก”

“กำลังพลชุดนี้จะช่วยยกระดับความร่วมมือด้านความมั่นคง ศักยภาพในการรับมือกับภัยพิบัติ การทำงานร่วมกัน และช่วยให้เราได้ฝึกพัฒนาและเตรียมความพร้อมร่วมกับผู้ร่วมงาน” เขากล่าว

ทั้งนี้ ประธานาธิบดี บารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ ได้ประกาศส่งกำลังนาวิกโยธินหมุนเวียนไปที่เมืองดาร์วินครั้งแรกเมื่อปี 2011 ซึ่งนับเป็นความเคลื่อนไหวที่สร้างความขุ่นเคืองใจให้กรุงปักกิ่ง

บรรดาเจ้าหน้าที่อเมริกัน ได้ออกมาเน้นย้ำว่า สหรัฐฯ จะไม่จัดตั้งฐานทัพถาวรในออสเตรเลีย และนาวิกโยธินเหล่านี้จะถูกหมุนเวียนไปประจำที่ดาร์วินราว 6 เดือนเท่านั้น

เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2012 เหล่าเจ้าหน้าที่ออสเตรเลียและสหรัฐฯ ได้เผยแผนที่จะให้กองทัพสหรัฐฯ ติดตั้งระบบเรดาร์ที่มีประสิทธิภาพ และกล้องโทรทรรศน์อวกาศในออสเตรเลีย

ขณะที่สหรัฐฯ กำลังจับตามองจีนซึ่งพัฒนาขีดความสามารถของกองทัพจนแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ และแสดงจุดยืนแข็งกร้าว เพื่ออ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนพิพาทในมหาสมุทรแปซิฟิก มหาอำนาจตะวันตกชาตินี้ก็พยายามยกกระดับความร่วมมือระหว่างกองทัพของชาติต่างๆ ทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ตลอดจนส่งเสริมสายสัมพันธ์ด้านกลาโหมกับบรรดาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

กำลังโหลดความคิดเห็น