เอเอฟพี - รายงานข่าวระบุวันนี้ (12 ส.ค.) ว่า กลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ของแดนอาทิตย์อุทัยกำลังวางแผนจะทดสอบ “เครื่องบินขับไล่ล่องหน” (Stealth fighter) ที่ญี่ปุ่นผลิตขึ้นเองเป็นลำแรกในปีหน้า
หนังสือพิมพ์ ไมนิชิ ชิมบุน รายงานว่า กลุ่มกิจการภายใต้การนำของบริษัท “มิตซูบิชิ เฮฟวี อินดัสทรีส์” กำลังพัฒนาเครื่องบินขับไล่ที่ใช้เทคโนโลยีคล้ายเครื่องบินขับไล่ล่องหน F-35 ของสหรัฐฯ โดยตามกำหนดการ อากาศยานลำต้นแบบจะถูกนำออกทดลองบิน ในเดือนมกราคม ปีหน้า
หนังสือพิมพ์ฉบับนี้รายงานโดยไม่ได้อ้างแหล่งข่าวว่า กลุ่มบริษัทแดนอาทิตย์อุทัยได้ทุ่มงบลงทุนไปกับโครงการนี้ราว 3.92 หมื่นล้านเยน (ราว 1.23 หมื่นล้านบาท)
รายงานข่าวระบุเพิ่มเติมว่า หลังจากการบินทดสอบรอบแรก เครื่องบินขับไล่ลำนี้ถูกนำไปทดสอบที่กระทรวงกลาโหมญี่ปุ่นเป็นเวลาราว 2 ปี จากนั้นโตเกียวจะตัดสินใจว่า ควรจะซื้ออากาศยานรุ่นนี้ดีหรือไม่ภายในต้นปี 2019
อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีฝ่ายใดออกมาแถลงยืนยันเรื่องนี้
ทั้งนี้ ญี่ปุ่นซึ่งมองว่าการรักษาความเป็นพันธมิตรด้านความมั่นคงกับสหรัฐฯ คือ หัวใจสำคัญของการดำเนินนโยบายการต่างประเทศ ได้พึ่งพาอาวุธยุทโธปกรณ์จากบรรดาบริษัทผู้ผลิตในวอชิงตันมาเนิ่นนานแล้ว
กระนั้น รัฐบาลอนุรักษนิยมของนายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ ก็ยังตั้งความหวังที่จะขยายอิทธิพลของกองทัพญี่ปุ่น และได้ผ่อนปรนกฎห้ามส่งออกอาวุธ ที่แดนอาทิตย์อุทัยประกาศใช้มานานหลายทศวรรษเมื่อเร็วๆ นี้
เมื่อเดือนที่แล้ว โตเกียวได้ปลดเปลื้องพันธนาการให้แก่กองทัพอันทรงพลังของญี่ปุ่น ด้วยการออกมาประกาศว่า แดนอาทิตย์อุทัยมีสิทธิส่งกำลังทหารไปร่วมรบเพื่อปกป้องชาติพันธมิตร นับเป็นจุดพลิกผันของชาติที่มีจุดยืนสันตินิยมแห่งนี้ ซึ่งจุดชนวนให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง
สื่อแดนอาทิตย์อุทัยเปิดเผยความคืบหน้าเรื่องเครื่องบินขับไล่สัญชาติญี่ปุ่นลำนี้ ในช่วงที่กระแสตึงเครียดระหว่างโตเกียวกับปักกิ่ง จากกรณีการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะข้อพิพาท ในทะเลจีนตะวันออก ซึ่งแดนมังกรเรียกว่า “เตี้ยวอี๋ว์” แต่ญี่ปุ่นรู้จักในนาม “เซงกากุ” กำลังทวีความร้อนระอุ
เมื่อเดือนที่แล้ว ญี่ปุ่นแถลงว่าในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา (มี.ค. - มิ.ย.) กองทัพแดนอาทิตย์อุทัยได้ระดมส่งเครื่องบินขับไล่ออกบินตรวจการณ์ในน่านฟ้าถึง 340 ครั้ง เนื่องจากหวั่นเกรงว่าจะถูกรุกล้ำน่านฟ้า
ทางด้านรัฐบาลจีนก็ได้ส่งเรือและเครื่องบินไปป้วนเปี้ยนรอบๆ หมู่เกาะ ซึ่งตกเป็นกรณีพิพาทแห่งนี้หลายสิบครั้ง นับตั้งแต่โตเกียวซื้อเกาะ 3 เกาะของหมู่เกาะแห่งนี้จากภาคเอกชน และกลายเป็นการครอบครองดินแดนโดยภาครัฐอย่างสมบูรณ์เมื่อเกือบ 2 ปีก่อน