xs
xsm
sm
md
lg

ชาวญี่ปุ่น “ผู้รักสันติ” 128 ล้านคนทั่วประเทศ ถูกเสนอชื่อเข้าชิง “โนเบล” สาขาสันติภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(ภาพจากแฟ้ม) บรรดาผู้ชุมนุมชาวญี่ปุ่นพากันมารวมตัวหน้าทำเนียบนายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ เพื่อประท้วงแผนการตีความรัฐธรรมนูญใหม่ โดยมีจุดมุ่งหมายขยายขอบเขตอำนาจทางการทหารของแดนอาทิตย์อุทัย เมื่อวันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา
เอเอฟพี - เหล่านักรณรงค์ได้ร่วมกันผลักดันให้ประชากรญี่ปุ่นได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปีนี้ เพื่อเป็นการขานรับแนวทางสันตินิยมที่แดนอาทิตย์อุทัยยึดถือมาช้านาน แม้กระทั่งในยามที่โตเกียวเดินหน้าขยายขอบเขตอำนาจกองทัพจนถูกวิพากษ์วิจารณ์หนัก ทั้งยังจุดประกายให้ประชาชนในประเทศออกมารวมตัวประท้วง

บรรดาผู้จัดการรณรงค์ระบุว่า ตอนนี้ประชาชน 128 ล้านคนในญี่ปุ่นอยู่ในหมู่ผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลอันทรงเกียรติแล้ว ภายหลังเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (11 ก.ค.) นักเคลื่อนไหวที่เป็นตัวตั้งตัวตีสามารถรวบรวมชื่อผู้สนับสนุนได้เป็นจำนวนมากกว่า 150,000 คน

นาโอมิ ทาคาสุ แม่บ้านวัย 37 ปี ซึ่งเป็นคนต้นคิดแผนนี้กล่าวว่า ถึงแม้จะมีความเป็นไปได้น้อยที่ชาวญี่ปุ่นจะได้รับรางวัลโนเบล เนื่องจากมีผู้ได้รับการเสนอชื่อหลายร้อยคน แต่สิ่งที่สำคัญก็คือการได้ส่งสาสน์ให้ผู้คนรับรู้

เนื่องจากไม่สามารถเสนอชื่อกฎหมายรัฐธรรมนูญแนวสันตินิยมของญี่ปุ่น ซึ่งร่างขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงได้ เหล่านักเคลื่อนไหวกลุ่มนี้จึงหันมาผลักดันให้ประชากรผู้รักสันติเป็นผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมแทน

เธอเปิดเผยกับเอเอฟพีว่า “ดิฉันเกิดความคิดนี้ขณะดูรายงานการประกาศมอบรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพให้แก่สหภาพยุโรป (อียู) ทางโทรทัศน์”

“ดิฉันทราบจากข่าวว่า ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์จะทำให้ชนะการประกวด และนั่นทำให้ดิฉันคิดถึงมาตราที่ 9 (ของรัฐธรรมนูญญี่ปุ่น) ... หากเราประสบความสำเร็จและได้รับรางวัล ก็จะเป็นวิธีที่ยิ่งใหญ่ในการแบ่งปันอุดมการณ์สันติ ที่รัฐธรรมนูญของเราเชิดชู”

รัฐธรรมนูญของแดนอาทิตย์อุทัย โดยเฉพาะมาตราที่ 9 กำหนดว่าญี่ปุ่นต้องไม่ใช้การคุกคาม หรือการใช้กำลัง มาเป็นเครื่องมือสะสางความขัดแย้งกับนานาชาติ ซึ่งเป็นจุดยืนที่ชาวญี่ปุ่นจำนวนมากยึดมั่น และสะท้อนถึงภาพลักษณ์เชิงสันติของประเทศ”

อย่างไรก็ตาม เมื่อสัปดาห์ที่แล้วคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นของนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ มีมติอย่างเป็นทางการให้ ยอมรับการตีความรัฐธรรมนูญเสียใหม่ ซึ่งเป็นการปลดเปลื้องพันธนาการทำให้กองทัพอันทรงพลังของประเทศมีสิทธิร่วมรบเพื่อปกป้องชาติพันธมิตร นับเป็นการเปลี่ยนจุดยืนจากแนวทางสันตินิยมซึ่งแดนอาทิตย์อุทัยยึดมั่นมายาวนานตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2

คณะรัฐมนตรีของเขามีมติเห็นชอบอย่างเป็นทางการ ให้มีการตีความรัฐธรรมนูญกันเสียใหม่ ในบทมาตราซึ่งห้ามไม่ให้ญี่ปุ่นใช้กองกำลังติดอาวุธ ยกเว้นแต่ในสถานการณ์ที่เป็นการป้องกันตนเองอย่างเคร่งครัดเท่านั้น
(ภาพจากแฟ้ม) นายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ แห่งญี่ปุ่น เดินทางเยือนค่ายฝึกทหารอาซากะ เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม ปี 2013
กำลังโหลดความคิดเห็น