เอเอฟพี - ญี่ปุ่นวันนี้ (28 ก.พ.) ออกมาแสดงความสงสัยว่า เหตุใดจีนจึงเห็นชอบให้กำหนดวันสังหารหมู่หนานจิง และวันที่แดนอาทิตย์อุทัยพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นวันที่รำลึกประจำชาติ ภายหลังที่ญี่ปุ่นยึดถือแนวทางสันตินิยมมานานหลายทศวรรษ
ความเคลื่อนไหวคราวนี้นับเป็นการโต้เถียงทางการทูตอย่างดุเดือดครั้งล่าสุด ระหว่างสองชาติที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในเอเชีย ซึ่งกำลังพิพาทแย่งชิงกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะแห่งหนึ่ง และตีความประวัติศาสตร์ในสมัยสงครามขัดแย้งกัน
ในเวลาเดียวกัน โตเกียวกล่าวว่า ตนกำลังผลักดันแผนการที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ซึ่งก็คือการตรวจสอบหลักฐานเรื่อง “สตรีเพื่อการผ่อนคลาย” หรือ ระบบทาสบำเรอกาม ที่บีบบังคับหญิงท้องในถิ่นมาสนองตัณหาของทหารญี่ปุ่นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 อีกครั้ง เพื่อแก้ไขคำแถลงขอโทษเหยื่อกามารมณ์ที่ญี่ปุ่นร่างขึ้นในปี 1993 เสียใหม่ โดยนับเป็นประเด็นปัญหาหนึ่งที่จุดชนวนให้เกาหลีใต้แค้นเคืองโตเกียวอย่างรุนแรง
สื่อของทางการจีนรายงานวานนี้ (27) ว่า “สภาประชาชนแห่งชาติจีน” ซึ่งเป็นสภาตรายางได้กำหนดให้วันที่ 3 กันยายนเป็นวันชัยชนะ และวันที่ 13 ธันวาคมเป็นวันรำลึกถึงผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์กองทัพของสมเด็จพระจักรพรรดิบุกข่มขืนและปล้นสะดมนครหนานจิง เมืองหลวงของจีนในเวลานั้น
ทั้งนี้ ญี่ปุ่นเข้ารุกรานจีนในช่วงทศวรรษ 1930 และทั้งสองประเทศก็เปิดฉากสงครามอย่างเต็มที่นับตั้งแต่ปี 1937 ถึงปี 1945
จีนกล่าวว่า มีประชาชนกว่า 300,000 คนถูกทหารญี่ปุ่นสังหารในช่วง 6 สัปดาห์ หลังจากที่ญี่ปุ่นบุกยึดนครนานกิงได้สำเร็จ เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม ปี 1937 ขณะที่นักวิชาการต่างชาติบางคนระบุตัวเลขผู้เสียชีวิตน้อยกว่านี้
อย่างไรก็ตาม ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่า “วันสำคัญประจำชาติ” อย่างเป็นทางการของจีนมีความสำคัญอย่างไร แม้ว่าจะไม่มีความคาดหวังให้เป็นวันหยุดราชการก็ตาม
ทางด้าน โยชิฮิเดะ สุกะ โฆษกระดับสูงของรัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยในวันนี้ (28) ว่า เขาไม่เข้าใจว่าเหตุใดจีนจึงเลือกกำหนดวันสำคัญในเวลานี้
“ผมไม่ปฏิเสธว่ากำลังรู้สึกสงสัยว่า เหตุใดพวกเขาจึงต้องกำหนดวันที่รำลึกเหล่านี้หลังสงครามสิ้นสุดไปนานกว่า 60 ปีแล้ว” เขากล่าว
“กระนั้น ประเด็นนี้ก็ถือเป็นเรื่องภายในประเทศจีน รัฐบาลจึงขอไม่แสดงความคิดเห็น”
นอกจากนี้ เขากล่าวเสริมว่า “จุดยืนของญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่เคยเปลี่ยนเลยแม้แต่น้อย และญี่ปุ่นยึดแนวทางความเป็นชาติรักสันตินับตั้งแต่สงครามสิ้นสุดลง ซึ่งเป็นสิ่งที่ประชาคมนานาชาติยกย่องเป็นอย่างมาก”