xs
xsm
sm
md
lg

ออสเตรเลียชั่งใจกรณีปล่อยแฝด “แกรมมี่” ให้พ่อออสซีเลี้ยง หลังพบประวัติลวนลามเด็กก่อนจ้างหญิงไทยอุ้มบุญ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(แฟ้มภาพ) ภัทรมน จันทร์บัว แม่อุ้มบุญชาวไทย และน้องแกมมี ทีโรงพยาบาลสมิตติเวช อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เมื่อวันจันทร์ (4 ส.ค.)
เอเอฟพี - ภายหลังที่เกิดกรณีชายชาวออสเตรเลียถูกกล่าวหาว่า ทอดทิ้ง “น้องแกรมมี่” ทารกเพศชายป่วยเป็นโรคดาวน์ซินโดรมไว้ในไทย จนกลายเป็นข่าวอื้อฉาว แล้วถูกสื่อแดนจิงโจ้แฉว่า เขาเคยต้องโทษคดีล่วงละเมิดทางเพศเด็กมาก่อน บรรดาเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของแดนจิงโจ้วันนี้ (6 ส.ค.) จึงเริ่มเปิดฉากการสืบสวน เพื่อประเมินว่าเขามีคุณสมบัติเพียงพอที่จะเลี้ยงทารกหญิง ซึ่งเป็นน้องสาวฝาแฝดของแกมมีหรือไม่

ชายคนนี้ซึ่งอาศัยที่เมืองบันเบอรี ทางตอนใต้ของเมืองเพิร์ธ ได้จุดประกายให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ไปทั่วโลก จากการที่เขาทอดทิ้งลูกชายที่ป่วยเป็นโรคดาวน์ซินโดรมไว้ในไทย แต่นำน้องสาวฝาแฝดที่มีสุขภาพแข็งแรงดีกลับไปยังออสเตรเลีย แม้ว่าต่อมาตัวเขาและภรรยาจะออกมาชี้แจงความจริงในอีกแง่มุมหนึ่งผ่านหนังสือพิมพ์แดนจิงโจ้ก็ตาม

นอกจากนี้ ในขณะที่ประเด็นด้านจริยธรรมและกฎหมายของ “การจ้างแม่อุ้มบุญต่างแดน” กำลังจุดประกายให้เกิดการโต้แย้งเดือด วานนี้ (5) สื่อออสซีได้ออกมาเปิดเผยว่า พ่อบังเกิดเกล้าของน้องแกรมมี่ซึ่งไม่สามารถเปิดเผยชื่อเนื่องด้วยเหตุผลทางกฎหมาย เคยถูกตัดสินลงโทษฐานล่วงละเมิดทางเพศเด็กมาก่อน

สื่อออสเตรเลียได้ตีแผ่รายงานอย่างกว้างขวางว่า ช่างไฟฟ้าวัย 56 ปีผู้นี้ เคยถูกศาลพิพากษาลงโทษในความผิดฐานล่วงละเมิดทางเพศเด็กหญิง 3 คน

เครือข่ายสถานีโทรทัศน์เอบีซีของทางการออสเตรเลียรายงานว่า เขาเคยถูกจำคุก 3 ปีจากการลวนลามเด็กหญิงอายุต่ำกว่า 10 ปี ตอนที่เขาอายุ 20 ปีเศษ นอกจากนี้เมื่อปี 1997 เขายังตกเป็นจำเลยในข้อหา 6 ข้อจากการอนาจารเด็กหญิงอีกคน โดยมีรายงานว่าครั้งนั้นเขาถูกจำคุก 18 เดือน

บรรดาเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลียระบุว่า พวกเขาได้เดินทางไปที่บ้านสามีภรรยาคู่นี้เมื่อวาน (5) แต่มีกองทัพสื่อมวลชนเบียดเสียดกันอยู่ด้านนอก จึงไม่มีใครออกมาเปิดประตู

ดาร์เรน โอมอลลีย์ โฆษกกรมคุ้มครองเด็กรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย ยืนยันกับเอเอฟพีว่า มีการเปิดฉากสืบสวนจริงและบอกว่าจะพยายามติดต่อพ่อแม่เด็กในวันนี้ (6)

เขากล่าวว่า “เจ้าหน้าที่กำลังดำเนินการสืบสวนเต็มรูปแบบเพื่อพิจารณาว่า การที่เด็กอยู่กับเขาจะปลอดภัยและดีต่อตัวเด็กหรือไม่”

“เราจะพูดคุยกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง และจะรวบรวมข้อมูลจากตำรวจและสมาชิกในครอบครัวอื่นๆ”

โอมอลลีย์กล่าวว่า หากเขาตามหาสามีภรรยาคู่นี้ไม่พบ “เราก็จะขอแรงตำรวจเพื่อช่วยตามหาบุคคลต้องสงสัยทั้งสอง”

เขากล่าวเสริมว่า “เรามีอำนาจที่จะนำเด็กๆ มาจากเขา เมื่อสวัสดิภาพของเด็กๆ ตกอยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง และจำเป็นต้องป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นในทันที”

“ในทางกลับกัน เราอาจจะพบว่าไม่จำเป็นต้องทำเช่นนั้นก็ได้”

*** แม่อุ้มบุญตกตะลึง ***

ภัทรมน จันทร์บัว แม่อุ้มบุญวัย 21 ปี ของทารกแฝดกล่าวว่า เธอรู้สึกตกตะลึงที่ทราบข่าวว่าพ่อบังเกิดเกล้าของเด็กเคยต้องโทษคดีล่วงละเมิดทางเพศ และพร้อมจะนำน้องสาวฝาแฝดวัย 7 เดือนของน้องแกรมมี่กลับมาหากข้อกล่าวหาเหล่านั้นเป็นจริง

เธอกล่าวกับเอเอฟพีในวันอังคาร (5) ว่า “ดิฉันตกใจ แต่ก็ยังไม่รู้ว่าเป็นเรื่องจริงหรือเปล่า (ถ้าเป็นจริง) ดิฉันจะพยายามนำทารกอีกคนกลับมา แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับกฎหมายด้วย”

ภัทรมนกล่าวว่า เธอตกลงจะรับอุ้มบุญลูกของชายชาวออสเตรเลียผู้นี้ ซึ่งปฏิสนธิในไข่ที่ได้รับบริจาคจากหญิงไทย โดยเธอได้รับค่าจ้างราว 14,900 ดอลลาร์สหรัฐ (4.79 แสนบาท)

คลินิกที่รับทำอุ้มบุญซึ่งเธอไม่ขอเปิดเผยชื่อเนื่องจากเหตุผลทางกฎหมายได้ทำหน้าที่เป็นคนกลางระหว่างภัทรมนกับคู่รักชาวออสเตรเลีย

เธออ้างว่า ทันทีที่ผลตรวจชี้ว่าทารกเพศชายเป็นดาวน์ซินโดรม คลินิกแห่งนี้ก็บอกเธอว่า พ่อแม่บังเกิดเกล้าของเด็กต้องการให้เธอทำแท้ง ซึ่งผิดกฎหมายไทย แต่เธอก็ปฏิเสธไป

สองสามีภรรยาชาวออสซี่ได้โต้แย้งคำพูดของเธอ โดยระบุว่าพวกเขาได้รับแจ้งว่าแกรมมี่เป็นโรคหัวใจแต่กำเนิด แต่ไม่ทราบว่าเป็นโรคดาวน์ซินโดรม และสาเหตุที่ทิ้งน้องแกรมมี่ไว้ในไทย ก็เพราะแพทย์บอกพวกเขาว่าน้องจะมีชีวิตอยู่ได้ประมาณวันเดียว

บรรดาเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของไทยกล่าวว่า การจ้างแม่อุ้มบุญในไทยเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย และกล่าวว่า หญิงที่ตกลงปลงใจจะอุ้มท้องแทนต้องเป็นญาติของคู่สามีภรรยาที่ประสงค์จะมีบุตรเท่านั้น โดยวานนี้ (5) แพทยสภาออกมาแถลงว่า กำลังตรวจสอบว่าแพทย์คนใดเป็นผู้รับผสมเทียมในกรณีนี้

ทั้งนี้ การเป็นแม่อุ้มบุญเชิงพาณิชย์ที่หญิงจะได้รับเงินค่าอุ้มท้อง เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายในออสเตรเลีย แต่คู่สามีภรรยาก็ยังสามารถขอความช่วยเหลือจากแม่อุ้มบุญที่สมัครใจ ที่ไม่ได้รับค่าจ้างอื่นใด นอกจากค่ารักษาพยาบาล และค่าใช้จ่ายที่เหมาะสมอื่นๆ

องค์กร “เซอร์โรเกซี ออสเตรเลีย” ซึ่งสนับสนุนและคอยประสานงานให้สามีภรรยาที่ต้องการหาผู้ตั้งครรภ์แทนระบุว่า คู่ครองที่ต้องการหลีกเลี่ยงการทำผิดกฎหมาย จึงหันไปมองหาแม่อุ้มบุญในต่างแดน แทนที่จะหาในประเทศบ้านเกิดของตัวเองเพิ่มขึ้น โดยแต่ละปีจะมีคู่รัก 400-500 คู่เดินทางไปยังไทย อินเดีย สหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ เพื่อติดต่อทาบทามผู้หญิงให้ตั้งครรภ์แทน

กำลังโหลดความคิดเห็น