เอเอฟพี - พฤติกรรมโหดร้ายป่าเถื่อนของกลุ่มอิสลามิสต์ในแอฟริกาที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้นจะเป็นหัวข้อหลักในการประชุมสุดยอดผู้นำแอฟริก ที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ เป็นเจ้าภาพจัดขึ้นที่กรงุวอชิงตัน ดี.ซี.ในสัปดาห์นี้
แม้การโจมตีของกลุ่มติดอาวุธโบโกฮารัมในไนจีเรียและแคเมอรูน หรือกลุ่มอัล-เชบับในโซมาเลียและบางส่วนในเคนยาและยูกันดาเป็นสิ่งที่น่ากังวลอย่างเห็นได้ชัด ทว่าสหรัฐฯ ยังต้องระมัดระวังในเรื่องการให้การสนับสนุนด้านทางทหารโดยตรงต่อรัฐบาลในแอฟริกาที่ถูกคุกคาม
ผู้เชี่ยวชาญ ชี้ว่า สหรัฐฯพอใจมากกว่าที่จะสนับสนุนกองกำลังพหุชาติแอฟริกา อย่างเช่นกองทัพสหภาพแอฟริกา (เอยู) ซึ่งแม้จะมีปัญหาอยู่บ้าง แต่กองกำลังดังกล่าวก็ถูกมองว่ามีความโปร่งใสมากกว่ากองทัพของหลายๆ ชาติ
โอบามาได้กล่าวว่า การจัดประชุมพบปะขึ้นเป็นครั้งแรกในวันนี้ (4) จะเป็นการเปิดพื้นที่สำหรับ “พูดคุยประเด็นความมั่นคงต่างๆ ในแอฟริกา”
จุดประสงค์ของสหรัฐฯคือการได้ทำงานกับ “หุ้นส่วนที่เข้มแข็ง” ซึ่งมี “กองกำลังความมั่นคงที่มีประสิทธิภาพมากเพียงพอ” และเพื่อประหยัดงบประมาณด้านการทหารของสหรัฐ ตลอดจนเพื่อช่วยให้ชาวอเมริกัน “มีความปลอดภัยในระยะยาว”
ถึงกระนั้น หุ้นส่วนที่เข้มแข็งก็ไม่ได้หาได้ง่ายอยู่ร่ำไป นักวิเคราะห์ชี้ว่า ถ้าสหรัฐฯคาดหวังที่จะมีอิทธิพลในพื้นที่สำคัญๆ ของทวีปนี้ก็จะต้องร่วมมือกับบรรดากองทัพของประเทศที่มีปัญหามากที่สุดในแอฟริกา
- แค่อาวุธกับเงินก็พอ –
เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ พร่ำบอกมาเป็นเวลานานแล้วว่า พวกเขาเต็มใจช่วยไนจีเรียต่อสู้กับกลุ่มโบโกฮารัม ซึ่งลุกฮือเข่นฆ่าผู้คนมามากกว่า 10,000 คน นับตั้งแต่ปี 2009
เหตุการณ์ลักพาตัวเด็กนักเรียนหญิงมากกว่า 200 คน เมื่อเดือนเมษายนทำให้พฤติกรรมป่าเถื่อนของโบโกฮารัมเป็นที่สนใจจากคนทั่วโลก รวมถึง มิเชล โอบามา สตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐฯ และกระตุ้นให้อเมริกาเสนอความช่วยเหลือด้านข่าวกรองและการทหารต่อในไนจีเรียเมื่อเดือนพฤษภาคม
ไนจีเรียตบปากรับข้อเสนอนี้ แต่จากหลักฐานชี้ว่า รัฐบาลอาบูจาไม่ได้ให้ความสนใจกับความช่วยเหลือด้านปฏิบัติการหรือการฝึกซ้อมเป็นพิเศษนัก จอห์น แคมป์เบลล์ อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำไนจีเรีย ซึ่งปัจจุบันอยู่กับสภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (CFR) กล่าว
แคมป์เบลล์ บอกกับเอเอฟพี ว่า “ขอเป็นอาวุธยุทโธปกรณ์เถอะ ...เขียนเช็คให้เราเถอะ” น่าจะเป็นคำตอบไนจีเรียให้กับต่อผู้เชี่ยวชาญจากสำนักงานสอบสวนกลางสหรัฐฯ (FBI) และผู้เชี่ยวชาญด้านกลาโหมของสหรัฐฯ ที่ได้ไปลงพื้นที่ในไนจีเรีย ประเทศที่มีประวัติการคอรัปชันยาวนานหลายทศวรรษ
นอกเหนือจากการฝึกซ้อมเล็กๆ น้อย และความช่วยเหลือด้านการสอดแนมแล้ว อดีตเอกอัครราชทูตผู้นี้กล่าวอีกว่า เขา “แทบไม่เห็นอะไร” เป็นชิ้นเป็นอันจากความร่วมมือครั้งใหม่นี้เลย
สำหรับ แคมป์เบลล์ คำถามที่บรรดาผู้กำหนดนโยบายในสหรัฐฯกำลังเผชิญอยู่ในตอนนี้ก็คือ กองทัพไนจีเรีย ซึ่งมีประวัติด้านสิทธิมนุษยชนที่เน่าเฟะ “ต้องการความช่วยเหลือจากคนนอกหรือไม่”