xs
xsm
sm
md
lg

นักบิน “อีโนลาเกย์” ผู้ทิ้งระเบิดปรมาณูใส่ “ฮิโรชิมา” ลาโลกแล้วด้วยวัย 93 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ธีโอดอร์ ดัตช์ แวน เคิร์ก อดีตนักบินผู้ควบคุมเครื่องบินทิ้งระเบิด อีโนลา เกย์ ซึ่งนำระเบิดปรมาณูไปทิ้งใส่เมืองฮิโรชิมา เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม ปี 1945
เอเจนซีส์ - ธีโอดอร์ “ดัตช์” แวน เคิร์ก อดีตนักบินของกองทัพสหรัฐฯ ซึ่งนำระเบิดปรมาณู “ลิตเติลบอย” ไปทิ้งที่เมืองฮิโรชิมาของญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม ปี 1945 ถึงแก่กรรมแล้วด้วยวัย 93 ปี ที่บ้านพักในรัฐจอร์เจีย

อดีตลูกเรือบนเครื่องบิน “อีโนลา เกย์” ซึ่งอำลาโลกเป็นคนสุดท้าย เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า หลังจากที่ได้เห็นอานุภาพของระเบิดปรมาณูครั้งแรกแล้ว เขาก็ไม่ต้องการให้อาวุธมหาประลัยชนิดนี้ถูกนำไปใช้ที่ใดอีก

อย่างไรก็ตาม แวน เคิร์ก ยอมรับว่า การทิ้งระเบิดปรมาณูเป็นทางเลือกที่ “ปรานี” มากกว่า เมื่อเทียบกับปฏิบัติการโจมตีทางอากาศอย่างต่อเนื่องใส่หมู่เกาะหลักๆ ของญี่ปุ่น และแผนรุกรานที่สหรัฐฯ วางเอาไว้

“แม้ระเบิดปรมาณูจะทำให้ผู้คนในฮิโรชิมาและนางาซากิล้มตายเป็นเบือ แต่แท้ที่จริงมันช่วยรักษาชีวิตชาวญี่ปุ่นจำนวนมากไว้ เพราะไม่เช่นนั้นญี่ปุ่นอาจถูกทำลายย่อยยับยิ่งกว่า” เขาบอกเล่าเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ต่อสถานีโทรทัศน์จอร์เจีย พับลิก บรอดคาสติง

เครื่องบิน บี-29 ซูเปอร์ฟอร์เทรสส์ “อีโนลา เกย์” ของสหรัฐฯ พร้อมลูกเรือ 12 นาย ได้นำระเบิด “ลิตเติลบอย” ไปทิ้งเหนือท้องฟ้าฮิโรชิมาในวันท้ายๆ ก่อนที่สงครามโลกครั้งที่ 2 จะปิดฉากลง อานุภาพของระเบิดคร่าชีวิตชาวเมืองไปราว 140,000 คน จากจำนวนประชากรทั้งหมด 350,000 คนในเวลานั้น

เพียง 3 วันหลังจากฮิโรชิมาถูกทำลาย สหรัฐฯ ก็ได้ส่งเครื่องบินไปทิ้งระเบิดปรมาณู “แฟตแมน” ใส่เมืองท่านางาซากิ ส่งผลให้รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้สงครามในวันที่ 15 สิงหาคม ปี 1945

แวน เคิร์ก ซึ่งเป็นชาวมลรัฐเพนซิลเวเนียโดยกำเนิด เคยเดินทางไปปฏิบัติภารกิจนักบินในยุโรปอยู่ 2-3 ครั้ง และได้ไปเยือนเมืองนางาซากิหลังสงครามโลกสิ้นสุดลงแล้ว เขาได้เข้าศึกษาต่อในสาขาวิศวกรรมเคมี และเป็นผู้บริหารบริษัทในเครือดูปองท์ (DuPont)

อดีตนักบินอาวุโสเล่าว่า ภารกิจที่ฮิโรชิมาไม่ลำบากยากเย็นอะไร เพราะไม่ต้องคอยหลบเลี่ยงขีปนาวุธต่อต้านอากาศยาน แต่สิ่งที่เขากังวลมากที่สุดก็คืออานุภาพของระเบิดปรมาณู ซึ่งอาจจะทำให้เครื่องบินที่นำมันมาทิ้งกลายเป็นจุณไปพร้อมกัน

เขาเปิดเผยว่า ประมาณ 43 วินาทีหลังจากระเบิดถูกทิ้งลงสู่พื้น เขามองเห็นแสงสว่างวาบ และสัมผัสได้ถึงคลื่นกระแทกที่ทำให้เครื่องบินสั่นสะเทือน

เจ้าหน้าที่ประจำชุมชนข้าราชการวัยเกษียณ พาร์ค สปริงส์ ในย่านสโตนเมาน์เทน ชานเมืองแอตแลนตา ยืนยันข่าวการเสียชีวิตของแวน เคิร์ก ขณะที่สื่อท้องถิ่นก็อ้างคำยืนยันจากบุตรชายของเขาเช่นกัน

พิธีศพของ แวน เคิร์ก จะจัดขึ้นที่บ้านของเขาในเมืองนอร์ธัมเบอร์แลนด์ รัฐจอร์เจีย ในวันที่ 5 สิงหาคมนี้
กัปตัน ธีโอดอร์ แวน เคิร์ก ถ่ายภาพกับเพื่อนนักบิน พอล ทิบเบ็ตส์ และ ทอม เฟเรบี
สภาพของเมืองฮิโรชิมาหลังถูกทำลายด้วยระเบิดปรมาณู ลิตเติลบอย เมื่อปี 1945
กำลังโหลดความคิดเห็น