ปริศนาการสูญหายของเที่ยวบิน MH370 ยังไม่ทันคลี่คลาย ล่าสุดสายการบินแห่งชาติแดนเสือเหลือง “มาเลเซียแอร์ไลน์ส” กลับต้องเผชิญมรสุมลูกใหญ่อีกระลอก เมื่อเที่ยวบิน MH17 เส้นทางอัมสเตอร์ดัม-กัวลาลัมเปอร์ ถูกขีปนาวุธยิงตกในภาคตะวันออกของยูเครน ส่งผลให้ผู้โดยสารและลูกเรือ 298 ชีวิตบนเครื่องโบอิ้ง 777-200 พบจุดจบพร้อมกันทั้งหมด และทำให้ภาพลักษณ์ด้านความปลอดภัยของมาเลเซียดิ่งเหวชนิดแทบกู่ไม่กลับ
เที่ยวบิน MH17 ของมาเลเซียแอร์ไลน์สออกเดินทางจากสนามบินชิโพลในกรุงอัมสเตอร์ดัมเมื่อเวลาประมาณ 12.14 น. ของวันที่ 17 กรกฎาคม และมีกำหนดเดินทางถึงเมืองหลวงมาเลเซียในเวลาประมาณ 6.10 น. ของวันที่ 18 กรกฎาคม แต่ระหว่างที่บินผ่านน่านฟ้ายูเครน เครื่องบินได้ขาดการติดต่อไป และสุดท้ายมีการยืนยันว่าเครื่องบินลำนี้ประสบอุบัติเหตุตกบริเวณภาคตะวันออกของยูเครนซึ่งเป็นเขตอิทธิพลของกบฏโปรรัสเซีย โดยคาดว่าถูกขีปนาวุธชนิดจากพื้นดินสู่อากาศยิงตก
ผู้โดยสารบนเครื่องบินลำนี้เป็นชาวเนเธอร์แลนด์ถึง 154 คน และส่วนใหญ่เป็นนักวิชาการ นักเคลื่อนไหว และผู้เชี่ยวชาญที่กำลังจะเดินทางไปร่วมการประชุมเอดส์นานาชาติครั้งที่ 20 ที่เมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย หนึ่งในนั้นคือ Joep Lange นักวิจัยด้านโรคเอดส์ผู้มีชื่อเสียง และอดีตประธานสมาคมเอดส์สากล (International AIDS Society)
อุบัติภัยครั้งนี้กระตุ้นเตือนให้สายการบินทั่วโลกเลี่ยงเส้นทางบินผ่านยูเครนและพื้นที่ขัดแย้งอื่นๆ เพื่อป้องกันความเสี่ยง
หายนะ 2 ครั้งซ้อนทำนักท่องเที่ยวจีน “ผวา”
ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า อุบัติเหตุทางอากาศที่เกิดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 กับมาเลเซียแอร์ไลน์สในระยะเวลาเพียง 4 เดือนกำลังทำให้แดนเสือเหลืองถูกเชื่อมโยงกับ “หายนะ” อย่างน้อยก็ในสายตาชาวต่างชาติ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวเอเชียที่เชื่อถือเรื่องโชคลาง
ก่อนหน้านี้ เที่ยวบิน MH370 ของมาเลเซียแอร์ไลน์สได้หายไปอย่างไร้ร่องรอยพร้อมกับผู้โดยสารและลูกเรือ 239 คน ขณะเดินทางจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ไปยังกรุงปักกิ่งเมื่อกลางดึกของวันที่ 8 มีนาคม โดยผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าเครื่องบินลำนี้ถูกบังคับออกนอกเส้นทางให้มุ่งหน้าสู่มหาสมุทรอินเดียตอนใต้ จนกระทั่งเชื้อเพลิงหมดเกลี้ยงและตกลงทะเลในที่สุด แต่จากการค้นหาทั้งทางอากาศและใต้ทะเลตลอดหลายเดือนที่ผ่านมาก็ยังไม่พบแม้แต่เศษซากของมัน
การตอบสนองวิกฤตที่ล่าช้าและคลุมเครือของรัฐบาล นาจิบ ราซัก ยังทำให้ภาพลักษณ์ของมาเลเซียย่ำแย่หนักในสายตาชาวโลก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากแดนมังกรซึ่งถือเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักที่รัฐบาลมาเลเซียคาดหวังว่าจะช่วยกระตุ้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้เติบโตต่อเนื่อง
แม้ต้นสายปลายเหตุที่ทำให้ MH370 และ MH17 ต้องพบจุดจบจะแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความสูญเสียที่เกิดขึ้นซ้ำซ้อนกับสายการบินเดียวกันทำให้มาเลเซียยากจะกอบกู้ภาพลักษณ์ที่ดีในสายตานักท่องเที่ยวกลับคืนมาได้
บริดเจ็ต เวลช์ นักวิจัยผู้สันทัดกรณีมาเลเซียจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน ให้ความเห็นเกี่ยวกับโศกนาฏกรรม MH17 ว่า ไม่ได้ทำให้ศักยภาพและธรรมาภิบาลของรัฐบาลมาเลเซียถูกวิพากษ์วิจารณ์มากเท่ากับเมื่อครั้งที่ MH370 สูญหายไป “กล่าวคือ มาเลเซียแอร์ไลน์สและอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมาเลเซียจะได้รับผลกระทบจากกระแสภายนอกประเทศเท่านั้น แต่ถึงแม้ผลจะไม่รุนแรงเท่ากรณี MH370 แต่โดยภาพรวมก็ต้องถือว่าแย่มากทีเดียว”
ในสังคมเอเชีย โดยเฉพาะชาวจีน การเชื่อถือเรื่องโชคลางทำให้พวกเขาพร้อมที่จะปฏิเสธทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับ “ความตาย” และนี่ก็คือมุมมองที่ชาวจีนส่วนใหญ่มีต่อมาเลเซียในเวลานี้
“ผมคงไม่ไปเที่ยวมาเลเซียแน่นอน” ฉวน อี้ ชาวจีนที่พำนักอยู่ในกรุงปักกิ่งให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเอเอฟพี พร้อมเล่าว่า “ผมมีเพื่อน 2-3 คนที่เคยไปดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ที่นั่น แต่ตอนนี้ใครที่คิดจะไปมาเลเซียต่างเปลี่ยนแผนกันหมด เพราะรู้สึกว่าประเทศนี้อันตรายเกินไป”
อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวบางรายยังเชื่อว่า กระแสตื่นกลัวจากเหตุการณ์เครื่องบินตกน่าจะคงอยู่เพียงระยะสั้นๆ เนื่องจากมาเลเซียมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่โดดเด่น ไม่ว่าจะเป็นชายหาดที่สวยงาม ผืนป่าเขตร้อน อาหารการกินที่หลากหลาย และสภาพแวดล้อมที่นับว่ามีความปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ
จากสถิติอย่างเป็นทางการ มาเลเซียเป็นจุดหมายปลายทางของนักเดินทางต่างชาติมากถึง 25 ล้านคนในปี 2013 สร้างเม็ดเงินสะพัดในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมากกว่า 65,000 ล้านริงกิต
รัฐบาลเสือเหลืองได้ประกาศให้ปี 2014 เป็น “ปีแห่งการท่องเที่ยวมาเลเซีย” (Visit Malaysia Year) โดยตั้งเป้าดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มเป็น 28 ล้านคน และสร้างเม็ดเงินสะพัด 76,000 ล้านริงกิต ภายใต้สโลแกน “Malaysia Truly Asia”
แม้นักท่องเที่ยวที่ไปเยือนมาเลเซียส่วนใหญ่จะเป็นชาวสิงคโปร์ที่เดินทางข้ามแดนแบบไปเช้าเย็นกลับ แต่รัฐบาลกัวลาลัมเปอร์ก็มีเป้าหมายที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคตะวันออกกลาง ยุโรป และจีน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ใช้จ่ายเงินมากกว่า
นักท่องเที่ยวจีนหลั่งไหลไปเยือนมาเลเซียเกือบ 2 ล้านคนในปี 2013 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าราวๆ 7 เปอร์เซ็นต์ แต่หลังจากที่เครื่องบิน MH370 สูญหายไปพร้อมกับผู้โดยสารชาวจีน 154 ชีวิต ยอดนักท่องเที่ยวแดนมังกรในเดือนเมษายนที่ผ่านมาก็ลดลงอย่างฮวบฮาบถึงร้อยละ 20
หนังสือพิมพ์ ไชนา บิสสิเนส นิวส์ อ้างข้อมูลจากบริษัททัวร์ในจีนว่า ชาวจีนส่วนใหญ่ไม่มั่นใจความปลอดภัยของมาเลเซียแอร์ไลน์ส ซึ่งเป็นสายการบินหลักที่พานักท่องเที่ยวเข้าสู่แดนเสือเหลือง ส่งผลให้จำนวนชาวจีนที่เดินทางไปมาเลเซียลดลงถึงร้อยละ 40 นับตั้งแต่เที่ยวบิน MH370 สูญหายไปเมื่อเดือนมีนาคม
ด้านเจ้าหน้าที่จากสำนักงาน China Environment International Travel Service ระบุว่า เหตุการณ์ MH17 ตกในยูเครนยิ่งทำให้คนจีนแห่ยกเลิกโปรแกรมทัวร์มาเลเซีย “เพราะนักท่องเที่ยวไม่เชื่อมั่นในสายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์สอีกต่อไป”
แม้เหตุร้ายที่เกิดขึ้นจะทำให้สายการบินแห่งชาติมาเลเซียเสื่อมเสียภาพลักษณ์อย่างหนัก แต่ ตัน ก๊ก เลียง รองประธานสมาคมบริษัททัวร์และตัวแทนท่องเที่ยวมาเลเซีย ยังหวังว่าชาวต่างชาติจะเลือกเดินทางมาเที่ยวมาเลเซียด้วยสายการบินอื่นๆ
“ในมุมมองของเรา นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่คงอยากมาท่องเที่ยวมาเลเซียแหมือนเดิม เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในการท่องเที่ยวมาเลเซีย และไม่มีเหตุผลที่นักท่องเที่ยวจะหวาดกลัวเลย”