เอเอฟพี/รอยเตอร์ - สายการบินหลักๆ ยังคงบ่ายหนีอิสราเอลเป็นวันที่ 2 ในวันพุธ (23) จากความวิตกตามหลังจรวดของพวกฮามาสลูกหนึ่งตกใกล้ๆ กับท่าอากาศยานของกรุงเทลอาวีฟ ขณะที่คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนยูเอ็นเห็นพ้องจะลงมือไต่สวนถึงความเป็นไปได้ของการล่วงละเมิดใดๆ ระหว่างยิวปฏิบัติการทหารโจมตีฉนวนกาซาแม้สหรัฐฯ ยกมือค้าน ท่ามกลางเสียงประณามจากข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษชยธรรมว่าเป็น “อาชญากรรมสงคราม”
ในคำประกาศด้านการบิน (NOTAM) สำนักงานบริหารการบินแห่งชาติแห่งสหรัฐฯ (เอฟเอเอ) ห้ามเครื่องบินทุกเที่ยวของเหล่าสายการบินอเมริกา มุ่งไปยังท่าอากาศยานนานาชาติเบนกูเรียน อีก 24 ชั่วโมง จนถึง 16.15 จีเอ็มทีของวันพฤหัสบดี (24) ตรงกับเมืองไทย 23.15 น.
เอฟเอเอ ได้ออกประกาศห้ามครั้งแรกเมื่อวันอังคาร (22) หลังจากจรวดของฮามาส ตกในย่านที่พักอาศัยหนึ่งทางเหนือของสนามบิน เพิ่มความกังวลว่ามันอาจไปโดนเที่ยวบินพาณิชย์ก็เป็นได้ หลังจากเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เพิ่งเกิดเหตุโบอิ้ง 777 ของสายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์ส ถูกยิงตกในภาคตะวันออกของยูเครนที่ถูกยึดครองโดยฝ่ายกบฏ จนทำให้ผู้โดยสารและลูกเรือรวมเกือบ 300 คน เสียชีวิตยกลำ
ในคำแถลงที่เผยแพร่ถึงสื่อมวลชนเมื่อวันพุธ (22) ทางเอฟเอเอ บอกว่ากำลังทำงานอย่างใกล้ชิดกับรัฐบาลอิสราเอล เพื่อสรุปว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับการบินพลเรือนของสหรัฐฯลดลงแล้วหรือไม่ เพื่อที่หน่วยงานสามารถคลี่คลายความกังวลเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
สายการบินเดลตา, ยูเอสแอร์เวย์ส และยูไนเต็ดแอร์ไลน์ส ยกเลิกตารางการบินทั้งหมดของวันพุธ (23) เช่นเดียวกับสายการบินต่างๆ ของยุโรป ในนั้นรวมถึงลุฟต์ฮันซา, ออสเตรียน แอร์ไลน์ส, บรัสเซลส์ แอร์ไลน์ส, ฟินน์แอร์, ไอบีเรีย, ตุรกี แอร์ไลน์ส และเอสเอเอส ซึ่งต่างก็งดให้บริการเที่ยวบินสู่เทลอาวีฟ
อย่างไรก็ตาม อีกด้านหนึ่งสายการบินแอร์โรฟลอตกับทารอม ของโรมาเนีย บอกว่าพวกเขาจะกลับมาให้บริการสู่ท่าอากาศยานนานาชาติเบนกูเรียนอีกครั้งในวันพุธ (23) หลังจากยกเลิกเที่ยวบินทั้หมดในวันอังคาร เช่นเดียวกับสายการบินเอล อัล ที่ประกาศผ่านเว็บไซต์ว่าธุรกิจของบริษัทยังคงดำเนินงานตามปกติ
หนึ่งในผู้โดยสารของสายการบินเอล อัล ที่บินออกจากนิวยอร์กเมื่อวันอังคาร (22) ก็คือนายไมเคิล บลูมเบิร์ก มหาเศรษฐีผู้เป็นอดีตนายกเทศมนตรีนครนิวยอร์ก ด้วยเขาบอกว่าต้องการแสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับอิสราเอล พร้อมโจมตีว่า คำสั่งของ FAA เท่ากับเป็นการใส่พานชัยชนะที่ไม่คู่ควรให้แก่ฮามาส และเรียกร้องให้ยกเลิกคำสั่งดังกล่าวทันที
จอห์น เคร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ บินตรงจากกรุงไคโร ของอียิปต์ มาลงที่ท่าอากาศยานเบนกูเรียน ของกรุงเทลอาวีฟในวันพุธ (23) เพื่อเดินทางต่อไปหารือกับนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอล, ประธานาธิบดีมาห์มูด อับบาส ของปาเลสไตน์ และบัน คีมูน เลขาธิการใหญ่สหประชาชาติ เกี่ยวกับวิกฤตฉนวนกาซา ท่ามกลางเสียงร้องร้องของยิวให้ช่วยรับประกันแก่เหล่าสายการบินสหรัฐฯว่าที่สนามบินเทลอาวีฟ ไม่มีปัญหาความปลอดภัยใดๆ
ในเวลาต่อมา นายจอห์น เคร์รี ซึ่งพยายามเป็นคนกลางข้อตกลงหยุดยิงในกาซา บอกกับนายเบนจามิน เนทันยาฮู ว่าคำสั่งห้ามของเอฟเอเอ ก็เพื่อปกป้องความปลอดภัยของพลเรือนสหรัฐฯ เท่านั้น
ทั้งนี้ เพื่อบรรเทาความกังวลของนานาชาติ ทางองค์การท่าอากาศยานอิสราเอลแถลงในวันพุธ (23) วาจะเปิดสนามบินทหารออฟดา ห่างจาก Eilat เมืองตากอากาศริมทะเลแดงทางเหนือของอิสราเอล ราว 60 กิโลเมตร เป็นทางเลือกแทนเบนกูเรียน
ท่ามกลางความกังวลด้านความปลอดภัยทางการบิน วิกฤตการณ์ในกาซาดูจะเลวร้ายลงเรื่อยๆ ด้วยอิสราเอลและนักรบฉามาส ยังคงโจมตีตอบโต้กันไม่ลดละ ทำให้ล่าสุดมีชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตแล้ว 649 ราย และฝ่ายอิสราเอลสูญเสีย 31 ชีวิต ขณะที่มีเสียงคร่ำครวญต่อเหตุละเมิดสิทธิมนุษยชนในเหตุความรุนแรงนี้ที่หนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ
ดังนั้น ที่ประชุมของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ จึงเห็นพ้องกันจะดำเนินการไต่สวนนานาชาติต่อเหตุล่วงละเมิดต่างๆ ระหว่างปฏิบัติการรุกรานทางทหารของอิสราเอลในฉนวนกาซา
ในช่วงท้ายของที่ประชุมฉุกเฉิน ณ เจนีวา 47 ชาติสมาชิกมียกมือสนับสนุนมติที่เสนอโดยปาเลสไตน์ ด้วยคะแนน 29 เสียง งดออกเสียง 17 และคัดค้าน 1 เสียง นั่นก็คือสหรัฐฯ
ก่อนหน้านี้นาวี พิลเลย์ ข้าหลวงใหญ่ฝ่ายสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กล่าว ณ ที่ประชุมฉุกเฉินว่าด้วยสถานการณ์ในกาซา ประณามว่า ปฏิบัติการทางทหารของอิสราเอลในฉนวนกาซาอาจถือเป็นอาชญากรรมสงคราม โดยอ้างอิงถึงการที่พลเรือนบริสุทธิ์ที่รวมถึงเด็กปาเลสไตน์มากมายต้องเสียชีวิต
อย่างไรก็ดี พิลเลย์สำทับว่า พลเรือนและเยาวชนอิสราเอลมีสิทธิ์ใช้ชีวิตโดยปราศจากความหวาดกลัวต่อจรวดของฮามาสเช่นเดียวกัน