เอเอฟพี - โรคไข้สมองอักเสบ หรือ Encephalitis ที่สามารถทำลายเนื้อสมองผู้ติดเชื้อระบาดหนักมานานกว่า 2 สัปดาห์ในอินเดีย จากตัวเลขผู้เสียชีวิตวันอังคาร(22) อยู่ที่ 60 ราย และล่าสุดวันนี้(23) มีจำนวนผู้เสียชีวิตรวมไม่ต่ำกว่า 150 ราย ส่วนใหญ่เป็นเด็กในภาวะทุพโภชนาการ และหน่วยงานรัฐบาลอินเดียคาดว่าสถานการณ์จะยังคงทรุดหนักอย่างต่อเนื่อง ผู้เชี่ยวชาญชี้เด็กอินเดียร่วม 70 ล้านคนตกอยู่ในความเสี่ยง
มีผู้เสียชีวิตราว 102 คนในรัฐเบงกอลตะวันตกจากไวรัสซึ่งมียุงเป็นพาหะ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับเด็กที่มีภาวะโภชนาการบกพร่อง และสามารถทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดศีรษะ ชัก และมีไข้สูง ในกรณีร้ายแรงอาจถึงขั้นเนื้อสมองถูกทำลาย สุชานตา บาเนอร์จี (Sushanta Banerjee) ผู้อำนวยการด้านให้ความรู้ทางสาธารณสุขอินเดียกล่าว
พบว่ามีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากตั้งแต่เริ่มต้นของฤดูมรสุมในเดือนมิถุนายนล่าสุด ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ยุงแพร่พันธุ์จำนวนมาก
นอกจากนี้ยังมีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 56 คน ในรัฐอัสสัมที่อยู่ห่างไกลในตอนเหนือของอินเดีย รวมไปถึงผู้ติดเชื้อไม่ต่ำกว่า 300 คน เจ้าหน้าที่อินเดียรายงานวันนี้(23)
“เราได้ประกาศแจ้งเตือนไปยังเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทั่วรัฐถึงมาตรการป้องกันเพื่อหยุดโรคไวรัสไข้สมองอักเสบญี่ปุ่นที่อาจแพร่ไปยังพื้นที่ใหม่” Parthajyoti Gogoi ผู้อำนวยการสุขภาพและสวัสดิการครอบครัวส่วนภูมิภาคประจำรัฐอัสสัมให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพี
ทั้งนี้ในเบงกอลตะวันตก บาเนอร์จีให้สัมภาษณ์ว่า ทางพื้นที่มีมาตรการการพ่นยาที่จะช่วยกำจัดยุงพาหะนำโรคได้ ตลอดจนให้การศึกษากับประชาชนในพื้นที่
“เราหวังว่าจะสถานการณ์ระบาดของโรคจะสามารถควบคุมได้โดยเร็ว” บาเนอร์จีให้ความเห็นกับสื่อท้องถิ่นอินเดีย Press Trust Of India ค่ำวานนี้(22)
จากสถิติพบว่า มีชาวอินเดียจำนวนหลายร้อยคนเสียชีวิตจากโรคนี้ในหลายรูปแบบทุกปี ส่วนมากจะเกิดขึ้นกับเด็กเล็ก แต่พบว่ารัฐเบงกอลตะวันตกมักจะได้รับผลกระทบมากที่สุดในประเทศ
เอเอฟพีรายงานว่า โรคไข้สมองอักเสบที่มียุงเป็นพาหะจากสุกรไปสู่มนุษย์ ทั้งนี้เจ้าหน้าที่อินเดียยังชี้ว่า จากการที่รัฐเบงกอลตะวันตกได้รับผลกระทบมากที่สุดเนื่องจากเป็นแหล่งเลี้ยงสุกรของประเทศ
นอกจากนี้รัฐอุตตรประเทศและรัฐพิหารที่อยู่ห่างออกไปทางเหนือก็มีผู้ป่วยโรคไข้สมองอักเสบเป็นจำนวนมากในแต่ละปี โดยเฉพาะเด็กที่อยู่ในภาวะทุพโภชนาการ
ด้านผู้เชี่ยวชาญสาธารณสุขอินเดียให้ความเห็นว่า เด็กอินเดียร่วม 70 ล้านคนตกอยู่ในความเสี่ยง
และฮาร์ช วาร์ธาน รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขอินเดีย ได้ประกาศมาตรการต่อสู้โรคไข้สมองอักเสบอย่างจริงจังเมื่อเดือนที่แล้ว โดยมีการฉีดวัคซีนป้องกัน และอุทิศเตียงคนไข้สำหรับผู้ป่วยโรคไข้สมองอักเสบตามโรงพยาบาลต่างๆ
แม้ไวรัสไข้สมองอักเสบญี่ปุ่นจะมีวัคซีนป้องกันได้ แต่ส่วนใหญ่เด็กๆ จะเสียชีวิตจากเชื้อสายพันธุ์อื่นๆ เช่น ไข้สมองอักเสบชนิดเฉียบพลัน (acute encephalitis syndrome) ซึ่งยังไม่ทราบต้นตอของโรคที่แน่นอน