เอเอฟพี – ไวรัสไข้สมองอักเสบ (Encephalitis) ที่ระบาดในรัฐเบงกอลตะวันตกของอินเดียคร่าชีวิตผู้คนไปแล้ว 60 รายในเวลาเพียงแค่ 2 สัปดาห์ โดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอินเดียเตือนว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดถือว่าเข้าขั้น “น่าเป็นห่วง”
ไวรัสซึ่งมียุงเป็นพาหะชนิดนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตปีละหลายร้อยคนในอินเดีย โดยส่วนใหญ่เป็นเด็กเล็ก และรัฐเบงกอลตะวันตกก็เป็นหนึ่งในพื้นที่ซึ่งมีการแพร่ระบาดมากที่สุด
ปีที่แล้วมีพลเมืองเพียง 5 รายในรัฐเบงกอลตะวันตกที่เสียชีวิตจากการได้รับเชื้อไข้สมองอักเสบญี่ปุ่น (Japanese encephalitis virus - JEV) ซึ่งมักแพร่ระบาดในฤดูมรสุมซึ่งเป็นช่วงที่ยุงวางไข่
ภิสวารันจัน สัตปาธี ผู้อำนวยการสำนักงานสาธารณสุขแห่งรัฐเบงกอลตะวันตก แถลงเมื่อค่ำวานนี้(21)ว่า จำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตพุ่งสูงขึ้นอย่างน่าตกใจระหว่างวันที่ 7-20 กรกฎาคมที่ผ่านมา
เมื่อวานนี้(21) สัตปาธี ได้เรียกประชุมเจ้าหน้าที่แพทย์ประจำรัฐ เพื่อประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไข้สมองอักเสบที่เขาชี้ว่าเข้าขั้น “น่าเป็นห่วง
อย่างไรก็ตาม เขายืนยันว่าไม่พบสาเหตุจำเพาะเจาะจงซึ่งทำให้จำนวนป่วยเพิ่มขึ้นมากในระยะนี้ และเชื่อว่าน่าจะเกิดจาก “ความผันแปรของฤดูกาล”
“เมื่อเดือนมิถุนายนสถานการณ์ยังไม่เลวร้ายถึงขนาดนี้ จู่ๆ ยอดผู้ติดเชื้อก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว” สัตปาธี ให้สัมภาษณ์วันนี้(22) ระหว่างไปตรวจเยี่ยมผู้ป่วยที่โรงพยาบาลในเมืองซิลิกูรี ซึ่งอยู่ห่างจากกัลกัตตาไปทางเหนือราว 460 กิโลเมตร
รัฐอุตตรประเทศและรัฐพิหารที่อยู่ห่างออกไปทางเหนือก็มีผู้ป่วยโรคไข้สมองอักเสบเป็นจำนวนมากในแต่ละปี โดยเฉพาะเด็กที่อยู่ในภาวะทุพโภชนาการ
ไวรัสไข้สมองอักเสบจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดศีรษะ ชัก และมีไข้สูง ในกรณีร้ายแรงอาจถึงขั้นเนื้อสมองถูกทำลาย
ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพเตือนว่า เด็กกว่า 70 ล้านคนทั่วโลกกำลังเสี่ยงต่อโรคนี้
ฮาร์ช วาร์ธาน รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขอินเดีย ได้ประกาศมาตรการต่อสู้โรคไข้สมองอักเสบอย่างจริงจังเมื่อเดือนที่แล้ว โดยมีการฉีดวัคซีนป้องกัน และอุทิศเตียงคนไข้สำหรับผู้ป่วยโรคไข้สมองอักเสบตามโรงพยาบาลต่างๆ
แม้ไวรัสไข้สมองอักเสบญี่ปุ่นจะมีวัคซีนป้องกันได้ แต่ส่วนใหญ่เด็กๆ จะเสียชีวิตจากเชื้อสายพันธุ์อื่นๆ เช่น ไข้สมองอักเสบชนิดเฉียบพลัน (acute encephalitis syndrome) ซึ่งยังไม่ทราบต้นตอของโรคที่แน่นอน