xs
xsm
sm
md
lg

ซีอีโอสายการบิน “เอมิเรตส์” ย้ำ ยังไม่จำเป็นต้องติดระบบป้องกันขีปนาวุธบนเครื่องบินพาณิชย์ หลังเกิดโศกนาฏกรรม “MH17”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เซอร์ ทิโมธี คลาร์ก
รอยเตอร์/เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - ผู้บริหารสายการบิน “เอมิเรตส์” สายการบินชื่อดังแห่งโลกอาหรับ ชี้ยังไม่มีความจำเป็นต้องติดตั้ง “ระบบต่อต้านขีปนาวุธ” กับเครื่องบินพาณิชย์ หลังเกิดเหตุเครื่องบินโดยสารของมาเลเซียแอร์ไลน์สเที่ยวบิน “MH17” ถูกสอยร่วงจากน่านฟ้าทางตะวันออกของยูเครน

เซอร์ ทิโมธี คลาร์ก ประธานและซีอีโอของสายการบินเอมิเรตส์ซึ่งมีฐานอยู่ที่นครดูไบในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ออกโรงให้สัมภาษณ์พิเศษกับสำนักข่าวรอยเตอร์ในวันจันทร์ (21) โดยระบุว่า ในขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องติดตั้งอุปกรณ์ตรวจจับขีปนาวุธ หรือระบบต่อต้านขีปนาวุธกับเครื่องบินพาณิชย์แต่อย่างใด แม้จะเริ่มมีเสียงเรียกร้องจากบรรดาผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมการบินและการขนส่งสินค้าทางอากาศระหว่างประเทศ หลังจากที่เครื่องบินโดยสารเที่ยวบินเอ็มเอช 17 ของสายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์ส ถูกยิงตกโดยขีปนาวุธที่เชื่อว่าเป็นแบบพื้นสู่อากาศ

“ในขณะนี้เริ่มมีบางคนในอุตสาหกรรมการบินของเรา เสนอความคิดเรื่องการติดตั้งระบบดังกล่าวกับเครื่องบินพาณิชย์ ซึ่งผมเห็นว่ามันยังไม่สมควรจะเกิดขึ้น ผมยังเชื่อว่าสายการบินต่างๆ ต้องสามารถให้บริการขนส่งผู้โดยสารและสินค้า ได้อย่างเสรี โดยไม่ต้องคอยกังวลว่าจะถูกสอยร่วงจากท้องฟ้า ประชาคมโลกควรต้องสร้างความมั่นใจให้กับเราในเรื่องนี้ มิใช่ปล่อยให้อุตสาหกรรมการบินเป็นผู้รับภาระนี้เพียงลำพัง” เซอร์ทิโมธี คลาร์ก ซึ่งเคยเป็นอดีตกรรมการผู้จัดการของสายการบินแห่งชาติศรีลังกามาก่อน กล่าวกับรอยเตอร์

อย่างไรก็ดี ซีอีโอของสายการบินเอมิเรตส์ย้ำว่า แม้โดยส่วนตัวแล้วจะยังเชื่อว่าไม่มีความจำเป็นต้องติดตั้งระบบต่อต้านขีปนาวุธกับเครื่องบินพาณิชย์ แต่โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นกับเที่ยวบินเอ็มเอช 17 ของมาเลเซียแอร์ไลน์ส ถือเป็นการส่งสัญญาณเตือนว่า ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการบินระหว่างประเทศจำเป็นต้องแสดงจุดยืนร่วมกันว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับเอ็มเอช 17 นั้น เป็นเรื่องที่ “มิอาจยอมรับได้” และผู้ที่ก่อเหตุโจมตีสมควรถูก “ประณาม” รวมถึงต้องได้รับโทษขั้นสูงสุด

เซอร์ ทิโมธี คลาร์กยังให้ความเห็นว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างสมาคมการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ควรเร่งจัดการประชุมนานาชาติเพื่อหาทางรับมือผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับเครื่องบินพาณิชย์จากผลพวงของความขัดแย้งทางการเมืองและการสู้รบในพื้นที่ต่างๆ ของโลก

ขณะเดียวกัน ซีอีโอของเอมิเรตส์ย้ำว่า ความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับเอ็มเอช 17 เหนือน่านฟ้ายูเครนนั้น ไม่สมควรบดบังความพยายามของนานาชาติในการติดตามค้นหาเที่ยวบินเอ็มเอช 370 ของมาเลเซียแอร์ไลน์สที่ยังคงสูญหายไปพร้อมกับ 239 ชีวิตบนเครื่อง ตั้งแต่ 8 มีนาคมที่ผ่านมา

ทั้งนี้ แนวคิดเรื่องการติดตั้งระบบต่อต้านขีปนาวุธกับเครื่องบินพาณิชย์นั้น ถูกพูดถึงครั้งแรกตั้งแต่เมื่อปี 2003 หลังเกิดเหตุโจมตีเครื่องบินขนส่งสินค้าแบบแอร์บัส เอ300 ด้วยขีปนาวุธ หลังทะยานขึ้นจากสนามบินในกรุงแบกแดดของอิรัก ขณะที่รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ทุ่มงบประมาณไม่ต่ำกว่า 239 ล้านดอลลาร์ (ราว 7,616 ล้านบาท) ตลอด 10 ปีที่ผ่านมาในการค้นคว้าวิจัยเพื่อหาทางป้องกันเครื่องบินพาณิชย์จากการโจมตีจากภาคพื้นดิน




กำลังโหลดความคิดเห็น