xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯกล่าวหาจีน ‘หักหลัง’ ข้อตกลงเกาะสคาร์โบโรโชล แท้จริงคือ ‘วอชิงตัน’เลิกเสแสร้งเล่นบท ‘คนกลาง’

เผยแพร่:   โดย: ปีเตอร์ ลี

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

America’s Scarborough Shoal dolchstoss
By Peter Lee
15/07/2014

สหรัฐฯมีแผนการอยู่แล้วที่จะแสดงท่าทีเผชิญหน้ากับจีนอย่างเปิดเผยมากขึ้น หลังจากก่อนหน้านี้ได้พยายาม “เก็บอาการ” อย่างไม่ค่อยมิดชิดอะไรนัก ในการหนุนหลังชาติต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งอาจหาญขึ้นทาบชั้นเปรียบมวยกับจีน และเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมการสำหรับการเผยโฉมท่าทีใหม่ดังกล่าวนี้ วอชิงตันจึงกำลังหาทางแต่งเติมปรับเปลี่ยนแก้ไขข้อเท็จจริงหลายๆ ประการของเหตุการณ์การประจันหน้ากันทางทะเลระหว่าง ฟิลิปปินส์กับจีน ที่เกาะปะการัง “สคาร์โบโร โชล” ในปี 2012 ทั้งๆ ที่สิ่งซึ่งเกิดขึ้นจริงๆ ควรถือเป็นกรณีตัวอย่างคลาสสิกของการที่สหรัฐฯพยายามใช้การทูตทวิภาคีแบบแอบย่องตีท้ายครัวแต่แล้วกลับประสบความล้มเหลว ทว่าเวลานี้วอชิงตันกลับบอกว่า ในตอนนั้นปักกิ่งต่างหากที่ทำเสียเรื่อง ด้วยการเป็นฝ่ายที่หักหลัง ไม่ยอมทำตามระเบียบกฎเกณฑ์อันดีงามในทางการทูต

ใครก็ตามที่กำลังเป็นผู้วางแผนดำเนินยุทธศาสตร์ทางทะเลแผนใหม่ของสหรัฐฯสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออก น่าจะเป็นผู้ซึ่งตัดสินใจเลือกนำเอาหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทมส์มาใช้เป็นเครื่องมือของตน ขณะที่ทางฝ่ายไฟแนนเชียลไทมส์เอง ก็ดูเหมือนจะเชื่อเอาจริงๆ ว่า ตนกำลังกระทำตามภารกิจแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ของตน ด้วยการรายงานข่าวเกี่ยวกับจุดยืนของสหรัฐฯ ทว่ากลับมองไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องคอยระแวดระวังตรวจสอบความถูกต้องในข้ออ้างต่างๆ ของสหรัฐฯอย่างรอบคอบถี่ถ้วน สิ่งที่ผมจะทำในข้อเขียนชิ้นนี้ของผมก็คือ การแก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าวนี้ของไฟแนนเชียลไทมส์

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ไฟแนนเชียลไทมส์ได้ตีพิมพ์เผยแพร่รายงานข่าวประเภทให้ภูมิหลังเชิงลึกรวม 2 ชิ้น ซึ่งต่างมีเนื้อหาแสดงให้เห็นถึงการที่สหรัฐฯรู้สึกหงุดหงิดไม่พอใจจีน จากการที่จีนกำลังเดินหมากในทะเลจีนใต้ ด้วยวิธีการค่อยๆ ตัดค่อยๆ เฉือนทีละชิ้นๆ แบบการหั่นไส้กรอกแห้งซาลามี (salami-slicing) หรือวิธีการแบบห่อตัวทีละใบๆ ของหัวกะหล่ำปลี (cabbage wrapping) ทั้งนี้ในรายงานข่าวชิ้นแรกที่ผมต้องการพูดถึง ซึ่งพาดหัวว่า Pentagon plans new tactics to deter China in South China Sea (กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯจัดวางยุทธวิธีใหม่ๆ เพื่อใช้ป้องปรามจีนในทะเลจีนใต้) (ดูที่เรื่อง Pentagon plans new tactics to deter China in South China Sea, The Financial Times, 10 July 2014. หรือหากสามารถเข้าดูเว็บไซต์ของไฟแนนเชียลไทมส์ได้ ดูที่เว็บเพจ http://www.ft.com/intl/cms/s/83c0b88e-0732-11e4-81c6-00144feab7de.html) มีส่วนที่น่าสนใจดังนี้:

ในระยะไม่กี่เดือนที่ผ่านมา สหรัฐฯได้บรรลุข้อสรุปอย่างกว้างๆ 2 ประการ เกี่ยวกับวิธีการของตนที่ใช้รับมือกับสถานการณ์ในทะเลจีนใต้ ข้อสรุปประการแรกคือความพยายามของสหรัฐฯในการป้องปรามนั้นกำลังแสดงให้เห็นผลเพียงในขอบเขตจำกัด ทั้งๆ ที่สหรัฐฯได้แสดงทั้งเจตนารมณ์และทั้งถ้อยคำโวหารไปมากมายนับตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา แต่จีนก็ยังค่อยๆ สืบต่อดำเนินการปรับเปลี่ยนสถานะเดิมในทะเลจีนใต้อย่างช้าๆ ในหนทางซึ่งสร้างความหวาดระแวงให้แก่บรรดาชาติเพื่อนบ้านของจีนและแก่สหรัฐฯ

ข้อสรุปประการที่สอง คือ ยุทธศาสตร์ทางการทหารของสหรัฐฯสำหรับภูมิภาคนี้ ในบางส่วนบางขอบเขตกำลังเป็นการตั้งคำถามที่ผิดฝาผิดตัวไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ทั้งนี้ในระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา บุคคลระดับสติปัญญาดีเลิศบางรายของเพนตากอน (กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ) ได้มุ่งรวมศูนย์ความสนใจไปในเรื่องที่ว่า สหรัฐฯจะสามารถเป็นผู้ชนะในการทำสงครามอันยืดเยื้อกับจีนได้อย่างไร และก็ได้แนวความคิดใหม่ออกมา ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนาม “สมรภูมิการสู้รบทางอากาศบวกทะเล” (AirSea Battle) โดยที่จะเน้นหนักในการสร้างหลักประกันว่า ในระหว่างที่เกิดการขัดแย้งสู้รบขึ้นมา เครื่องบินและเรือของสหรัฐฯจะต้องยังคงสามารถเข้าไปถึงบรรดาพื้นที่แข่งขันช่วงชิงกันได้อยู่เสมอ

อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงแล้ววอชิงตันกลับกำลังเผชิญความท้าทายทางการทหารที่แตกต่างออกไปมาก โดยที่ฝ่ายจีนนั้นกำลังใช้วิธีค่อยๆ คืบคลานเข้ายืนยันอำนาจควบคุมของตน โดยที่บ่อยครั้งจะใช้พวกเรือพลเรือนแทนที่จะเป็นเรือของกองทัพเรือ – ตรงนี้เองคือ “พื้นที่สีเทา” ซึ่งตามปกติจะยังไม่กระตุ้นให้มีการตอบโต้ใดๆ จากฝ่ายสหรัฐฯ


หนทางแก้ไขของฝ่ายสหรัฐฯซึ่งระบุเอาไว้ในรายงานข่าวชิ้นแรกนี้ เมื่อมองกันอย่างผิวๆ แล้วก็ไม่ได้ก่อให้เกิดความน่าประทับใจอะไรเป็นพิเศษ กล่าวคือ โดยพื้นฐานแล้วสหรัฐฯจะเพิ่มการเฝ้าระวังติดตามความเคลื่อนไหวในทะเลจีนใต้ของฝ่ายจีนให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น และใช้วิธีเปิดโปงพฤติกรรมที่ฝ่ายจีนกระทำอยู่ตลอดจนประจานประณามให้ได้อาย

สิ่งที่สำคัญมากกว่า เห็นทีจะอยู่ที่การปล่อยรายงานข่าวชิ้นที่ 2 ซึ่งมองเห็นได้ชัดว่าเป็นความพยายามที่จะป้ายสีสาธารณรัฐประชาชนจีน ว่าเป็นเจ้าตัวร้ายที่เล่นเกมอย่างคดโกงหักหลัง แทนที่จะเป็นคนซึ่งเล่นได้ดีเด่นเหนือชั้นกว่าจนทำให้สหรัฐฯเป็นฝ่ายเสียท่า สิ่งนี้ต้องถือว่ามีความสำคัญ เพราะมันคือการที่สหรัฐฯก้าวเดินไปอีกก้าวหนึ่งในเส้นทางแห่งการกำจัดโยนทิ้งชุดเครื่องแต่งตัวเป็น “คนกลางผู้ซื่อสัตย์” (honest broker) ของตนเอง ซึ่งก็เก่าขาดกะรุ่งกะริ่งไร้ความน่าเชื่อถือเต็มทีแล้ว และกำลังหันมาใช้ท่าทีเผชิญหน้าอย่างเปิดเผยมากขึ้นในการหนุนหลังพวกปรปักษ์ระดับท้องถิ่นที่อาจหาญกล้าเทียบชั้นเปรียบมวยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน พร้อมๆ กับที่ประกาศอย่างเปิดเผยถึงวาระทางยุทธศาสตร์และทางยุทธวิธีในภูมิภาคนี้ของสหรัฐฯเอง

และในการเตรียมการณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ ดูเหมือนสหรัฐฯจะมองว่า มีความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขดัดแปลงแต่งเติมข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ในอดีตที่ผ่านมากันบ้าง

เหตุการณ์ที่กลายเป็นปัญหาขึ้นมาก็คือ การต่อสู้กันอย่างชุลมุนเพื่อช่วงชิงเกาะปะการัง “สคาร์โบโร โชล” (Scarborough Shoal) ในปี 2012 ทั้งนี้ฟิลิปปินส์ในเวลานั้นพยายามที่จะยืนยันอ้างอำนาจอธิปไตยของตนเหนือสคาร์โบโร โชล ดังนั้นจึงเข้าจับกุมชาวประมงจีนบางคนที่กำลังจับสัตว์น้ำสงวนในบริเวณเกาะปะการังแห่งนี้ และบันทึกภาพเผยแพร่ออกอากาศ ซึ่งแสดงให้เห็นชาวประมงจีนเหล่านี้พร้อมกับเปลือกหอยชนิดที่เป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ที่พวกเขาจับมา ครั้นแล้วก็มีเรือตรวจการณ์ทางทะเลของจีน 2 ลำปรากฏตัว ฝ่ายฟิลิปปินส์จึงถอยออกไปโดยไม่ได้ควบคุมนำตัวชาวประมงไปด้วย

เรือของจีนเหล่านี้ยังคงแล่นอยู่ในบริเวณนั้น และมีเรือประมงลำอื่นๆ แล่นเข้ามาสมทบ

คราวนี้ รายงานข่าวมุ่งให้ภูมิหลังชิ้นที่ 2 ของไฟแนนเชียลไทมส์ ที่ใช้ชื่อเรื่องว่า US strategists face a dilemma over Beijing's claim in the South China Sea (พวกนักยุทธศาสตร์สหรัฐฯเผชิญภาวะอิหลักอิเหลื่อจากการกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์ในทะเลจีนใต้ของปักกิ่ง) (ดูที่เรื่อง US strategists face a dilemma over Beijing's claim in the South China Sea, The Financial Times, 9 July 2014. หรือหากสามารถเข้าดูเว็บไซต์ของไฟแนนเชียลไทมส์ได้ ดูที่เว็บเพจ http://www.ft.com/intl/cms/s/0/b2176dea-0732-11e4-81c6-00144feab7de.html) เขียนเอาไว้อย่างนี้:

ในขณะที่ฤดูพายุไต้ฝุ่นกำลังขยับใกล้เข้ามา สหรัฐฯจึงพยายามทำหน้าที่เป็นคนกลางหาหนทางคลี่คลายปัญหา เมื่อถึงตอนท้ายของการหารือกันระหว่าง เคิร์ต แคมป์เบลล์ (Kurt Campbell) ซึ่งเวลานั้นเป็นนักการทูตอเมริกันระดับสูงสุดที่ดูแลเอเชีย (เขาดำรงตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกอยู่ในตอนนั้น –ผู้แปล) กับ ฟู่ อิง (Fu Ying) รองรัฐมนตรีต่างประเทศซึ่งดูแลด้านเอเชียของจีน ทางฝ่ายสหรัฐฯเชื่อว่าพวกเขาสามารถทำข้อตกลงเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายต่างก็ถอยออกมาจากบริเวณพิพาทได้สำเร็จแล้ว โดยที่ในสัปดาห์ถัดมา พวกเรือของฟิลิปปินส์ก็ออกจาก สคาร์โบโร โชล และเดินทางกลับบ้าน อย่างไรก็ดี เรือของทางฝ่ายจีน ยังคงอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวต่อไป

กรณีเกาะปะการัง สคาร์โบโร โชล นี้ มีบทบาทอันสำคัญในการผลักดันให้สหรัฐฯกับพวกชาติพันธมิตร นำเอาอีกส่วนหนึ่งของวิธีการอย่างใหม่ในการรับมือกับสถานการณ์ในทะเลจีนใต้ออกมาใช้ ซึ่งได้แก่ การยื่นฟ้องต่อศาลยุติธรรม (รัฐมนตรีต่างประเทศฟิลิปปินส์) อัลเบิร์ต เดล โรซาริโอ (Albert del Rosario) บอกกับไฟแนนเชียลไทมส์ว่า กรณีนี้แหละที่เป็น “ตัวกระตุ้นสำคัญที่สุด” ให้มะนิลาตัดสินใจยื่นฟ้องจีนต่อศาลระหว่างประเทศ ในเรื่องที่แดนมังกรอ้างกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่ครอบคลุมกว้างขวางยิ่งในทะเลจีนใต้ (โดยอาศัยแผนที่ซึ่งขีดเส้นประคร่าวๆ รวม 9 เส้นที่กินอาณาบริเวณเกือบทั่วทั้งทะเลจีนใต้ –ผู้แปล)

แต่ถึงแม้ยังคงมีความโกรธเกรี้ยวกันอยู่ไม่ใช่น้อยๆ เกี่ยวกับเส้นทางที่เหตุการณ์ใน สคาร์โบโร โชล คลี่คลายพัฒนาไป คณะรัฐบาลโอบามาก็ยังไม่ได้แสดงให้เห็นความปรารถนาใดๆ ที่จะเปิดประเด็นปัญหานี้ขึ้นมาใหม่ และผลักดันให้ฝ่ายจีนถอยออกไป

อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่เธอแถลงข่าวในสิงคโปร์เมื่อเดือนที่แล้ว ฟู่ได้ปฏิเสธว่าไม่ได้มีการทำความตกลงใดๆ ระหว่างเธอกับพวกนักการทูตอเมริกันเมื่อปี 2012 “ดิฉันไม่ทราบเรื่องข้อตกลงอะไรที่คุณกำลังพูดถึงนี่เลย” เธอกล่าว ทั้งนี้พวกเรือของฝ่ายจีนไม่ได้ผละออกจากบริเวณดังกล่าว เนื่องจากพวกเขาหวั่นเกรงว่า ฟิลิปปินส์อาจจะหักหลังพวกเขา

“ทั้งหมดที่จีนกำลังทำอยู่ในเวลานี้ ก็คือการจับตาเฝ้ามองเกาะแห่งนี้ (สคาร์โบโร โชล) อย่างใกล้ชิด เนื่องจากเกรงว่าฟิลิปปินส์จะทำเรื่องอย่างที่พวกเขาเคยทำ (การส่งเรือไปยังเกาะแห่งนี้) อีกครั้งหนึ่ง” ฟู่ บอก

ทว่าพวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯบอกเล่าเรื่องไปในอีกทางหนึ่ง โดยยังคงยืนยันว่ามีการทำความเข้าใจกันอย่างชัดเจนในระหว่างการพบปะหารือกันเมื่อปี 2012 (ระหว่างแคมป์เบลล์ กับ ฟู่) คราวนั้นว่า ฝ่ายจีนจะนำเอาแนวความคิดเรื่องที่ให้จีนและฟิลิปปินส์ต่างก็ถอนตัวออกจากสคาร์โบโร โชล นี้ ไปเสนอต่อพวกผู้นำอาวุโสในกรุงปักกิ่ง

เจ้าหน้าที่อเมริกันเหล่านี้กล่าวว่า ไม่เป็นที่ชัดเจนว่า ทาง ฟู่ ได้พยายามแล้วจริงๆ ในการเสนอแนวความคิดเรื่องนี้ในปักกิ่ง (แต่ไม่ประสบความสำเร็จ) หรือว่ากระทรวงการต่างประเทศจีน ถูกขัดขวางสกัดกั้นโดยส่วนประกอบอื่นๆ ภายในระบบของจีนที่มีแนวทางแบบสายเหยี่ยวมากกว่า เป็นต้นว่า ถูกขัดขวางจากฝ่ายทหาร


เรื่องที่ไฟแนนเชียลไทมส์รายงานมานี้ ฟังดูเบาโหวงไม่มีน้ำหนักเอาเสียเลย

และผมขอเติมความคิดเห็นที่ผ่านการไตร่ตรองมาแล้วของผมเองสักหน่อยเถอะ ภาพสถานการณ์ชนิดที่สาธารณรัฐประชาชนจีนกำลังตกลงยินยอมให้สหรัฐฯทำหน้าที่เป็นคนกลาง เพื่อแก้ไขปัญหาซึ่งฝ่ายจีนมีอยู่กับฟิลิปปินส์ อย่างที่ไฟแนนเชียลไทมส์เล่ามานี้ คงต้องบอกว่า “มั่วฉิบหาย” (horsepucky) เพราะไม่สามารถหาคำที่สุภาพกว่านี้มาใช้ได้แล้ว

การที่สาธารณรัฐประชาชนจีนมีความชิงชังรังเกียจ ในการนำเอาเรื่องที่แดนมังกรต่อสู้แย่งชิงกับฟิลิปปินส์ มาทำให้กลายเป็นเรื่องระดับนานาชาตินั้น ถือเป็นหลักการอันหนักแน่นและซาบซึ้งกันเป็นอันดีในแวดวงการทูตของจีนอยู่แล้ว

บางทีอาจจะด้วยความสุภาพ ฟู่จึงตกลงที่จะนำข้อเสนอของสหรัฐฯนี้กลับไปรายงานต่อปักกิ่ง นี่เป็นสิ่งที่มีความเป็นไปได้มากที่สุด ถึงแม้จะเป็นเรื่องที่คาดหมายกันได้ล่วงหน้าอยู่แล้วว่าคณะผู้นำจีนจะต้องตัดสินใจปฏิเสธไม่ยอมให้สหรัฐฯเข้ามาเกี่ยวข้องใดๆ กับเรื่องนี้ อันที่จริงแล้ว ตามรายงานที่ปรากฏอยู่ในสื่อฟิลิปปินส์เอง ซึ่งผมขอนำมาเสนอในลำดับถัดๆ จากนี้ ก็สนับสนุนการตีความในลักษณะนี้นะครับ

สิ่งที่เกิดขึ้นมาจริงๆ ในเดือนมิถุนายน 2012 จึงดูจะไม่ใช่การที่ความบริสุทธิ์จริงใจใสซื่อของ เคิร์ต แคมป์เบลล์ ถูกช่วงชิงเอาไปกระทำย่ำยีให้เสียหายโดยฝีมือของนักการทูตจีนผู้ขี้ขลาดตาขาว หากแต่น่าจะเป็นเทศกาลสนุกสนานแห่งการสมรู้ร่วมคิด, การขาดไร้ความสามารถ, และการไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกัน โดยที่มีตัวรัฐมนตรีต่างประเทศ อัลเบิร์ต เดล โรซาริโอ ของฟิลิปปินส์ เป็นศูนย์กลาง

การเจรจาระหว่างฟิลิปปินส์กับฝ่ายจีนนั้น ไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของแคมป์เบลล์ เลยนะครับ และเฉพาะสำหรับในเรื่องที่เราพูดกันอยู่นี้ ก็ไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของ เดล โรซาริโอ ด้วย

ประธานาธิบดีเบนิโญ อากีโน ของฟิลิปปินส์นั้น มีความรู้สึกสิ้นหวังเสียแล้วที่จะได้รับผลสัมฤทธิ์อะไรในการมีปฏิสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐประชาชนจีนในประเด็นปัญหาเกาะสคาร์โบโร โซล โดยผ่านทาง เดล โรซาริโอ ผู้มีนิสัยชอบทะเลาะวิวาทและชอบเล่นงานกล่าวโทษจีนเป็นประจำ ดังนั้นแทนที่จะพึ่งพา เดล โรซาริโอ เขาจึงเปิดช่องทางติดต่อหลังบ้านกับสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยผ่านทางวุฒิสมาชิกฟิลิปปินส์ผู้หนึ่ง ซึ่งก็คือ อันโตนิโอ ตริลลาเนส ที่ 4 (Antonio Trillanes IV) (ทาง เดล โรซาริโอ ก็ดูเหมือนจะตอบโต้แก้เผ็ด ด้วยการส่งอดีตผู้ร่วมงานทางธุรกิจของเขาคนหนึ่งไปยังปักกิ่ง เพื่อเป็นตัวแทนของเขาในคณะผู้แทนอย่างไม่เป็นทางการที่เป็นคณะของตัว เดล โรซาริโอ เอง และคอยทำหน้าที่กวนน้ำให้ขุ่นต่อไปเรื่อยๆ)

ตริลลาเนส ไม่ใช่เป็นผู้ทำหน้าที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับจีนเพียงแค่การไปพูดจาด้วยเป็นครั้งเป็นคราวเท่านั้น หากแต่ดูเหมือนว่าเขาจะมีฐานะเป็นช่องทางซึ่งเป็นที่รับรองกัน สำหรับการมีปฏิสัมพันธ์กันเบื้องหลังฉากระหว่างฟิลิปปินส์กับสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยที่ตัวเขาเองออกมาคุยอวดว่าได้เคยติดต่อพบปะกับผู้รับผิดชอบของกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนมาถึง 16 ครั้งเกี่ยวกับเรื่องสคาร์โบโร โชล นี้ในช่วงระหว่างเดือนพฤษภาคม ถึง กรกฎาคม ปี 2012 เราคงสามารถทึกทักเอาได้ว่า เขาเคยพบปะกับ ฟู่ อิง มามากกว่า 1 ครั้ง โดยที่นักการทูตหญิงชาวจีนผู้นี้ นอกจากมีตำแหน่งเป็นรองรัฐมนตรีต่างประเทศฝ่ายกิจการเอเชียแล้ว ก่อนหน้านั้นยังเคยเป็นเอกอัครราชทูตจีนประจำฟิลิปปินส์ ตลอดจนได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจให้คอยทำหน้าที่เป็นใบหน้ายิ้มหวานๆ ของสาธารณรัฐประชาชนจีนสำหรับฟิลิปปินส์อีกด้วย

เป็นที่ชัดเจนว่า ตริลลาเนส นั้นเกลียดชัง โรซาริโอ เขาถึงกับเคยเรียก เดล โรซาริโอ ว่าเป็น “คนทรยศขายชาติ” และแน่นอนทีเดียวว่า เดล โรซาริโอ ก็ตอบโต้ด้วยถ้อยคำอันสมน้ำสมเนื้อพอๆ กัน

เมื่อเรื่องราวบทบาทหน้าที่ของ ตริลลาเนส ถูกแฉออกมาในเดือนกันยายน 2012 ปรากฏว่า ฮวน ปองเซ เอนริเล (Juan Ponce Enrile) ประธานวุฒิสภาของฟิลิปปินส์ ดูเหมือนพยายามที่จะดิสเครดิต ตริลลาเนส ตลอดจนช่องทางลับทางการทูตของเขา จึงได้ออกมากล่าววิพากษ์วิจารณ์ ตริลลาเนส อย่างรุนแรง

ในการแสดงให้เห็นถึงอภิสิทธิ์ของทางรัฐบาลซึ่งสามารถที่จะนำเอาข้อมูลข่าวสารปกปิด ออกมาเปิดเผยได้ในเวลาที่เกิดความจำเป็นทางการเมืองขึ้นมา ปรากฏว่าเอนริเลได้งัดเอารายงานลับบางชิ้นที่มาจากเอกอัครราชทูตฟิลิปปินส์ประจำสาธารณรัฐประชาชนจีนออกมาแฉ โดยที่ ตริลลาเนส ได้ไปพูดสรุปการเจรจาของเขาให้เอกอัครราชทูตฟิลิปปินส์ผู้นี้รับฟัง ทั้งนี้ เอนริเล ยังถือโอกาสเพิ่มเติมข้อสังเกตของเขาเองซึ่งเต็มไปด้วยการตำหนิประณามโจมตีเอาไว้ด้วย เพื่อให้เกิดภาพรวมเกี่ยวกับพฤติการณ์ของ ตริลลาเนส ว่า เป็นสิ่งที่เลวร้ายอันไม่พึงกระทำอย่างที่สุด

อย่างไรก็ตาม รายงานลับจากเอกอัครราชทูตฟิลิปปินส์เหล่านี้ จริงๆ แล้วไม่ได้มีเนื้อหามุ่งประณาม ตริลลาเนส อีกทั้งให้ภาพเกี่ยวกับลักษณะการติดต่อระหว่างแคมป์เบลล์ กับ ฟู่ ในลักษณะที่ค่อนข้างน่าเชื่อถือด้วย โดยรายงานลับระบุเอาไว้ดังนี้:

“ไม่เคยมีการเจรจาใดๆ ระหว่างฝ่ายจีนกับฝ่ายอเมริกัน มีเฉพาะการพบปะกันครั้งหนึ่งกับ เคิร์ต แคมป์เบลล์ มิสเตอร์แคมป์เบลล์นั้นไม่ได้ทำหน้าที่เป็นผู้เจรจา นอกจากนั้น รัฐมนตรี เดล โรซาริโอ ก็ไม่ได้อยู่ในการพบปะดังกล่าวด้วย”

ทางด้านประธานาธิบดีอากีโนนั้น แม้จะแสดงให้เห็นถึงความอึดอัดเคอะเขิน แต่ก็ออกมาแสดงท่าทีอย่างค่อนข้างกระจ่างชัดเจน โดยยกย่อง ตริลลาเนส ว่ามีผลงานในการเจรจาหารือที่ทำให้ทั้งฝ่ายจีนและฝ่ายฟิลิปปินส์ลดระดับการเผชิญหน้าลงมาได้ ... และในเดือนกันยายน 2012 แทนที่จะตัดขาดเลิกคบค้ากับ ตริลลาเนส เขากลับยืนยันว่าวุฒิสมาชิกผู้นี้ยังคงเป็นผู้แทนอย่างไม่เป็นทางการของเขา ดังนี้ (มีเนื้อความบางส่วนที่ผู้เขียนอ้างเป็นภาษาตากาล็อก แล้วแปลข้อความดังกล่าวใส่ไว้ในวงเล็บ –ผู้แปล):

อากีโนถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับคำแถลงฉบับหนึ่งของทำเนียบประธานาธิบดี ซึ่งระบุว่า ตริลลาเนส ประสบ “ความสำเร็จในระดับไม่มากนัก” ในบทบาทของเขาในฐานะที่เป็นผู้ทำหน้าที่เจรจาอยู่หลังบ้าน

ประธานาธิบดีอากีโนได้ตอบว่า ผลงานของ ตริลลาเนส ได้ช่วยลดจำนวนเรือของฝ่ายจีนในบริเวณเกาะสคาร์โบโร โชล ซึ่งกำลังทำให้ความตึงเครียดลดระดับลงมา อย่างไรก็ตาม อากีโนกล่าวว่าเขาไม่มั่นใจเกี่ยวกับจำนวนตัวเลขเรือที่แน่นอน

"Yon naman siguro pwede nating i-credit doon sa efforts rin at efforts ni Senator Trillanes at iba pang efforts ano." (เรื่องนี้เราสามารถให้เครดิตแก่ความพยายามต่างๆ ของวุฒิสมาชิกตริลลาเนส และความพยายามของคนอื่นๆ)

อากีโนยอมรับว่าเขารู้สึกไม่สบายใจที่ต้องออกมาพูดจาถกเถียงเกี่ยวกับการทำงานของ ตริลลาเนส แบบลงรายละเอียด เพราะการพูดจาที่กระทำกันไปนั้นอยู่ในลักษณะไม่เป็นทางการ

"'Pag informal nito, hindi pwedeng sabihin publicly sa China. Meron silang considerations sa pag-a-address nung kanilang constituencies. So hindi ko pwedeng ibigay sa inyo lahat ng detalye pero mukhang napakaliwanag na humupa naman nang maski papaano 'yung tension diyan at nakatulong si Senator Trillanes." (เมื่อมันไม่เป็นทางการ มันย่อมหมายความว่าเราไม่สามารถที่จะพูดจาถกเถียงกันในเรื่องนี้กับฝ่ายจีนอย่างเปิดเผยได้ พวกเขามีข้อที่ต้องพิจารณาในเวลาที่พวกเขาจะบอกกล่าวกับพวกผู้ลงคะแนนของพวกเขา ดังนั้นทางเราจึงไม่สามารถให้รายละเอียดทั้งหมดแก่พวกท่านได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นมามันก็ดูเหมือนจะเป็นที่ชัดเจนมากๆ แล้วว่า ความตึงเครียดได้ลดลง และวุฒิสมาชิกตริลลาเนส มีส่วนช่วยเหลือเรื่องนี้)


สำหรับเรื่องที่ว่าการดำเนินการถอนเรือของทั้งสองฝ่าย จริงๆ แล้วเกิดขึ้นในลักษณะไหนกันแน่นั้น นักหนังสือพิมพ์ชาวฟิลิปปินส์ เอลเลน ตอร์เดซิลลัส (Ellen Tordesillas) ได้จัดทำรายงานแบบลำดับเวลาเอาไว้ชิ้นหนึ่ง (ดูรายละเอียดได้ที่เว็บเพจ http://forum.philboxing.com/viewtopic.php?f=19&t=226439&start=0) ตั้งแต่เมื่อปี 2012 โดยที่มีเนื้อหาซึ่งน่าสนใจดังนี้:

หลายวันทีเดียวก่อนที่ประธานาธิบดีอากีโนจะออกเดินทางไปยังลอนดอนและสหรัฐฯ ฟู่ อิง ไปอยู่ที่วอชิงตัน ดีซี และได้พบกับ เคิร์ต แคมป์เบลล์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก

แหล่งข่าวหลายรายในกระทรวงการต่างประเทศฟิลิปปินส์ และของฝ่ายจีนระบุว่า แคมป์เบลล์ได้เสนอแนะให้ฝ่ายจีนกับฝ่ายฟิลิปปินส์ถอนเรือออกมาจาก ปานาตัก โชล (Panatag Shoal ชื่อของสคาร์โบโร โชล ที่เรียกขานกันในฟิลิปปินส์) พร้อมๆ กัน เพื่อเป็นการลดระดับความตึงเครียดคราวนี้

เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศฟิลิปปินส์ผู้หนึ่งบอกว่า แฮร์รี โธมัส (Harry Thomas) เอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำมะนิลา ได้ถ่ายทอดข่าวสารต่อไปให้ เดล โรซาริโอ ว่า ปักกิ่งได้ตกลงแล้วที่จะให้มีการถอนเรือออกมาพร้อมๆ กัน

นี่คือ “ข้อตกลง” ซึ่ง เดล โรซาริโอ ออกมากล่าวหาในเวลาต่อมาว่า ปักกิ่งได้ทรยศหักหลังไม่ยอมรักษาสัญญา เขายังได้อ้างอิงถึงการตกลงนี้เอาไว้ในการแถลงอีกหลายต่อหลายครั้ง

...

แหล่งข่าวฝ่ายจีนหลายรายบอกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในกรุงวอชิงตันก็คือ ฟู่ อิง ได้บอกกับ แคมป์เบลล์ว่า เธอจะถ่ายทอดข้อเสนอแนะของฝ่ายสหรัฐฯนี้ไปยังปักกิ่ง

ทางปักกิ่งตอบมาว่า พวกเขาจะ “ค่อยๆ ถอนออกมา” จากเกาะปะการังที่พิพาทกันอยู่นี้ “ไม่เคยมีการให้คำมั่นสัญญาเลยว่าจะมีการถอนเรือออกมาทั้งหมด” แหล่งข่าวฝ่ายจีนรายหนึ่งกล่าว พร้อมกับอธิบายว่า “พวกเขา (คณะผู้นำจีนในปักกิ่ง) จำเป็นต้องคำนึงถึงบรรดาท่านผู้ชมภายในประเทศด้วย”

จีนนั้นคัดค้านเสมอมาต่อการที่สหรัฐฯเข้ามาแทรกแซงในความขัดแย้งในเอเชีย และแหล่งข่าวหลายรายกล่าวว่า พวกเจ้าหน้าที่ฝ่ายจีนไม่ได้ประทับใจอะไรเลยในการที่ฝ่ายอเมริกันกำลังทำหน้าที่เจรจาแทนฝ่ายฟิลิปปินส์

เนื่องจากเชื่อในคำยืนยันของโธมัส (เอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำมะนิลา) เดล โรซาริโอ จึงออกคำสั่งให้เรือของฟิลิปปินส์ถอนออกมาในช่วงกลางคืนนั้นเอง ครั้นมาในตอนเช้า ประธานาธิบดีรู้สึกไม่พอใจที่ เดล โรซาริโอ ได้ออกคำสั่งดังกล่าว ดังนั้นเขาจึงพูดคุยกับ ตริลลาเนส เพื่อให้ไปสอบถามฝ่ายจีนว่าทำไมจึงยังมีเรือของพวกเขา อยู่ในบริเวณดังกล่าว ในเมื่อฝ่ายฟิลิปปินส์ได้ถอนเรือของตนออกมาหมดแล้ว

ตริลลาเนสไม่ได้รับรู้เลยว่ามีการทำข้อตกลงดังกล่าวโดยใช้เส้นทางที่ผ่านไปทางสหรัฐฯ ภายหลังได้รับคำสั่งจากประธานาธิบดีแล้ว เขาได้ติดต่อกับคู่เจรจาของเขาในประเทศจีน เพื่อติดตามผลภายหลังจากที่ฝ่ายฟิลิปปินส์มีความความเคลื่อนไหวไปแล้ว ในเมื่อทั้งสองประเทศได้ตกลงกันเอาไว้แล้วเกี่ยวกับ “การถอนเรือออกมาพร้อมๆ กัน”

ทางฝ่ายจีนได้ส่งคำพูดไปถึงอากีโน ผ่านทาง ตริลลาเนส โดยระบุว่าพวกเขาจะออกคำแถลงฉบับหนึ่งเพื่ออธิบายแจกแจงเกี่ยวกับการที่พวกเขาจะสั่งให้เรือของพวกเขากลับมายังท่าเรือ พร้อมกันนั้นก็ขอร้องให้เวลาพวกเขา 48 ชั่วโมงในการถ่ายทอดคำสั่งเหล่านี้ไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในปักกิ่ง

อากีโนได้ออกเดินทางไปยังลอนดอนและสหรัฐฯ ด้วยความรู้สึกโล่งใจว่าความตึงเครียดได้ลดระดับลงมาแล้ว

ฟิลิปปินส์นั้นได้แถลงว่าได้ถอนเรือทั้งหลายของพวกเขาออกมาเพื่อความปลอดภัย เนื่องจากอากาศเลวร้ายในบริเวณเกาะสคาร์โบโร โชล สำหรับจีนนั้นแถลงว่าเรือของพวกเขาจะกลับไปท่าเรือเพื่อเติมเชื้อเพลิงและเสบียงต่างๆ

แต่ก่อนที่จีนจะสามารถถอนเรือของพวกเขาออกมาจนเสร็จสิ้น กระทรวงการต่างประเทศฟิลิปปินส์ก็ได้ออกคำแถลงฉบับหนึ่ง กล่าวหาจีนว่าทรยศหักหลังไม่ทำตามข้อตกลง นี่ทำให้จีนโกรธมาก โดยฝ่ายจีนยืนยันว่าไม่ได้มีการทำความตกลงใดๆ ในเรื่องนี้เลย


ดูเหมือนว่าเรื่องราวที่ผมเรียบเรียงออกมานี้ น่าจะใกล้เคียงกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น มากกว่ารายงานข่าวของไฟแนนเชียลไทมส์นะครับ เพราะเมื่อพิจารณากันแล้ว ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลในทางปฏิบัติ (ฟู่ ดำเนินการเจรจากับ ตริลลาเนส ผู้แทนที่ได้รับมอบหมายจากอากีโน อยู่แล้ว) หรือเหตุผลในเชิงหลักการ (จีนจะต้องไม่สนับสนุนให้สหรัฐฯเข้ามีบทบาทเกี่ยวข้องในกรณีพิพาททวิภาคีระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนกับฟิลิปปินส์) จึงดูไม่น่าเป็นไปได้เลยที่ ฟู่ กำลังหลอกลวงและหักหลัง แคมป์เบลล์

ในทางกลับกัน มันก็ไม่น่าเชื่อถือเอาเสียเลยที่ แคมป์เบลล์ จะเชื่อว่า การเสแสร้างวางตัวเป็น “คนกลางผู้ซื่อสัตย์” ของอเมริกา จะสามารถโน้มน้าวชักจูงให้รองรัฐมนตรีต่างประเทศของจีนผู้หนึ่ง ละทิ้งยุทธศาสตร์พื้นฐานของสาธารณรัฐประชาชนจีนในเรื่องการหาทางแก้ไขข้อพิพาทในแบบทวิภาคี และตกลงรอมชอมในประเด็นปัญหาเกี่ยวกับฟิลิปปินส์ โดยไม่มีรัฐมนตรีต่างประเทศฟิลิปปินส์เกี่ยวข้อง หรือกระทั่งไม่ได้อยู่ในห้องเจรจาด้วยซ้ำ

แท้ที่จริงแล้ว กำลังมีการเจรจากันระหว่าง ตริลลาเนส กับสาธารณรัฐประชาชนจีน ในเรื่องให้ทั้งสองฝ่ายถอนเรือออกไป โดยที่จะอยู่ในลักษณะของการยื่นหมูยื่นแมว ไม่ใช่การถอนออกมาพร้อมๆ กัน ดังข้อความในรายงานของเอกอัครราชทูตฟิลิปปินส์ประจำปักกิ่ง ดังนี้:

“การดำเนินการซึ่งวุฒิสมาชิก (หมายถึงวุฒิสมาชิกตริลลาเนส) กำลังพิจารณาอยู่นั้น จะอยู่ในลักษณะที่ฝ่ายหนึ่งถอนออกมาก่อน จากนั้นอีกฝ่ายหนึ่งก็จะถอนบ้าง ฯลฯ พวกเขากำลังหารือกันเกี่ยวกับวิธีในการถอนตัวออกมาจากเกาะสคาร์โบโร โชล ในตอนนั้นเอง เขาก็ได้รับโทรศัพท์จาก พีนอย [PNoy หมายถึงประธานาธิบดีเบนิโญ อากีโน ที่ 3] สอบถามว่าทำไมเรือของฝ่ายจีนยังคงอยู่ที่นั่น ในเมื่อมีการทำความตกลงกันแล้วว่าจะถอนเรือออกมาพร้อมๆ กัน เขา (ตริลลาเนส) รำพึงกับตัวเองว่า “นี่ไม่ใช่สิ่งที่จะดำเนินการกันสักหน่อย” ทั้งนี้เขากำลังทำการปกป้อง (protecting) ฝ่ายจีนนั่นเอง”

ตรงนี้ผมขอแทรกสักหน่อยนะครับ โดยจะขออนุมานว่า เอกอัครราชทูตฟิลิปปินส์ต้องการที่จะระบุว่า ตริลลาเนส “กำลังทำการแก้ต่าง (defending)” ไม่ใช่ “กำลังทำการปกป้อง (protecting)” ให้แก่ฝ่ายจีน

เห็นได้อย่างชัดเจนว่า การที่ เดล โรซาริโอ ยืนกรานว่าสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ให้คำมั่นสัญญาที่จะถอนเรือออกไปพร้อมๆ กับเรือของฟิลิปปินส์ และการที่เขาออกมาประณามฝ่ายจีนว่าทรยศหักหลัง เป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความยุ่งยากสับสน

ในตอนนั้น สาธารณรัฐประชาชนจีนได้กล่าวย้ำผ่านช่องทางทั้งที่เป็นทางการและที่ไม่เป็นทางการว่า ฝ่ายจีนรู้สึกว่าการที่ เดล ราซาริโอ กำลังประณามสาธารณรัฐประชาชนจีนว่าไม่ทำตามคำมั่นในการถอนเรือของฝ่ายตนออกมาพร้อมๆ กับเรือของฝ่ายฟิลิปปินส์นั้น เป็นการพูดจาคำโตโดยที่ตัวเองก็ไม่ได้เข้าใจอะไรเลย

ดังที่ในคำแถลงอย่างเป็นทางการของจีน ซึ่งปรากฏอยู่ในเว็บท่า (web portal) China.gov ระบุว่า:

รัฐมนตรีต่างประเทศ อัลเบิร์ต เดล โรซาริโอ ของฟิลิปปินส์ แถลงเมื่อวันศุกร์ว่า มะนิลากำลังรอคอยให้ปักกิ่งกระทำตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ ด้วยการเคลื่อนย้ายเรือของฝ่ายจีนที่ยังคงอยู่ในทะเลสาบน้ำเค็ม (ลากูน) ของเกาะหวงเอี๋ยน (Huangyan ชื่อที่จีนใช้เรียกเกาะสคาร์โบโร โชล)ออกไป หลังจากที่เรือของฟิลิปปินส์เท่านั้นที่ได้ถอนออกมาหมดแล้วในสัปดาห์นี้

ทางด้าน หง เหล่ย (Hong Lei โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน) ได้ตอบโต้คำพูดของ เดล โรซาริโอ โดยตั้งคำถามว่า ฝ่ายฟิลิปปินส์ได้รับคำมั่นสัญญาเช่นนั้นจากฝ่ายจีนที่ไหนและเมื่อใด

เขาเรียกร้องให้ฟิลิปปินส์แสดงการยับยั้งชั่งใจเกี่ยวกับคำพูดและการกระทำของตนเอง และหันมาทำสิ่งที่จะมีส่วนช่วยให้สายสัมพันธ์ทวิภาคีมีการพัฒนาคืบหน้าไป


และในรายงานข่าวที่เผยแพร่โดย โกลบัลไทมส์ (Global Times) บอกไว้อย่างนี้:

จวง กั๋วตู (Zhuang Guotu) ผู้อำนวยการศูนย์เพื่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา (Center for Southeast Asian Studies) ของมหาวิทยาลัยเซี่ยเหมิน (Xiamen University) บอกกับโกลบัลไทมส์ (หนังสือพิมพ์ขนาดแทบลอยด์ของเหรินหมินรึเป้า ซึ่งเป็นของพรรคคอมมิวนิสต์จีน) ว่า “จีนไม่ได้เคยให้คำมั่นสัญญาใดๆ เลยว่าจะถอนตัวออกมาจากบริเวณน่านน้ำรอบๆ เกาะแห่งนั้น ฝ่ายฟิลิปปินส์ต่างหากที่กำลังพูดเช่นนั้นเอาเองเพื่อให้ตนเองหลุดพ้นจากสถานการณ์อันอิหลักอิเหลื่อ”

กระนั้นก็ตาม สาธารณรัฐประชาชนจีนก็ได้ดำเนินปฏิบัติการในทางสนับสนุนกระบวนการลดระดับความตึงเครียด

โดยในวันที่ 18 มิถุนายน สาธารณรัฐประชาชนจีนประกาศว่า กำลังจะเคลื่อนย้ายเรือประมงจำนวน 20 ลำซึ่งอยู่ในทะเลสาบน้ำเค็มบนเกาะ โดยกล่าวว่า:

“สืบเนื่องจากสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย และคลื่นลมแรงในบริเวณน่านน้ำของเกาะหวงเอี๋ยน (เกาะปานาตัก โชล) เพื่อช่วยเหลือบรรดาชาวประมงและเรือประมงของจีนให้สามารถถอยออกมายังที่พักพิงซึ่งปลอดภัย เรือ “หนานไห่โจว-115” (Nanhaijiu-115) จึงได้ออกเดินทางไปยังพื้นที่ดังกล่าวเพื่อให้ความช่วยเหลือที่จำเป็น” สถานเอกอัครราชทูตจีนประจำฟิลิปปินส์ ระบุในคำแถลงฉบับหนึ่งซึ่งโพสต์บนเว็บไซต์ของตนเมื่อวันอาทิตย์

ในทางเป็นจริงแล้ว จากคำแถลงของตัว เดล โรซาริโอ เอง เมื่อถึงวันที่ 25 มิถุนายน ก็ไม่มีเรือใดๆ เลยอยู่ในบริเวณเกาะแห่งนี้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรือของจีนหรือเรือของฟิลิปปินส์ นี่เป็นสภาวการณ์ซึ่งคงทำให้รู้สึกอึดอัดใจ ดังนั้นรายงานข่าวของไฟแนนเชียลไทมส์ที่กล่าวหาว่าจีนหลอกลวงหักหลัง จึงไม่ยอมที่จะเอ่ยถึง

อย่างไรก็ตาม อีก 2 วันต่อมา พวกเรือของสาธารณรัฐประชาชนจีนได้แล่นกลับเข้าไปอีก สันนิษฐานได้ว่า สาธารณรัฐประชาชนจีนต้องการแสดงความขุ่นเคืองใจ ต่อการที่ประธานาธิบดีอากีโนออกคำแถลงระบุว่า ฟิลิปปินส์จะส่งเครื่องบินตรวจการณ์ไปบินเหนือเกาะปะการังแห่งนี้ (และผมขอคาดหมายด้วยว่า ฝ่ายจีนยังมองหาข้อแก้ตัวให้แก่การกระทำเช่นนี้ของตน จากคำแถลงหลายๆ ครั้งของกระทรวงกลาโหมฟิลิปปินส์ที่ระบุว่า มีความจำเป็นที่ฟิลิปปินส์จะต้องเข้าควบคุมเกาะแห่งนี้เอาไว้ ในลักษณะของการชิงลงมือก่อนที่ฝ่ายจีนจะทันหวนกลับมา)

บางทีเหตุผลเบื้องลึกอาจจะอยู่ที่ว่า สาธารณรัฐประชาชนจีนตระหนักแล้วว่า ช่องทางการหารือที่ผ่าน ตริลลาเนส ได้ถูกระเบิดพังทลายไปอย่างสิ้นเชิงแล้ว และความริเริ่มทั้งหลายกลับมาขึ้นอยู่กับ เดล โรซาริโอ ดังนั้น ทางเลือกดีที่สุดซึ่งมีอยู่ก็คือการหวนกลับไปสู่สถานะเดิมก่อนหน้านั้น (ทั้งนี้ภายหลังจากที่ได้ถอยออกมาจากเกาะปะการังแห่งนี้ในเชิงสัญลักษณ์อยู่เป็นเวลาสองสามวัน เพื่อเป็นการบ่งบอกให้ทราบว่าสาธารณรัฐประชาชนจีนสามารถรักษาสัญญา และก็จะรักษาคำมั่นที่ตนเองได้ให้ไว้ผ่านทาง ตริลลาเนส)

สาธารณรัฐประชาชนจีนได้กลับไปปรากฏตัวที่เกาะปะการังแห่งนี้อีกครั้งหนึ่ง และก็รักษาสถานะนี้เอาไว้สืบต่อมาจนถึงวันนี้ ปัจจุบันกลุ่มเรือของสาธารณรัฐประชาชนจีน เข้าควบคุมทางเข้าออกเกาะปะการังแห่งนี้ โดยได้ขึงสายเคเบิลขวางปากทางเอาไว้ แต่ก็อำนวยความสะดวกในการเข้าออกให้แก่เรือประมงฟิลิปปินส์บางลำอยู่เป็นครั้งคราว

ในส่วนการออกคำสั่งของฟิลิปปินส์ที่ให้เรือของฝ่ายตนถอนออกมานั้น ขอเชิญท่านผู้สังเกตการณ์ทั้งหลายคาดเดากันเอาเองว่า นั่นเป็นเพราะ รัฐมนตรีต่างประเทศ เดล โรซาริโอ เป็นคนงี่เง่าไม่รู้เรื่องรู้ราว จึงได้ออกคำสั่งให้พวกเรือฟิลิปปินส์ละทิ้งเกาะปะการังแห่งนี้ โดยแค่ได้รับฟังคำบอกเล่าแต่เพียงฝ่ายเดียวของเอกอัครราชทูตอเมริกัน ทั้งๆ ที่สาธารณรัฐประชาชนจีนได้ยืนกรานมานานแล้วในจุดยืนที่ว่าประเทศทั้งสองควรต้องเจรจากันเองในลักษณะทวิภาคี (และจนกระทั่งเวลานี้ก็ยังยืนกรานเช่นนี้อยู่) และไม่ได้มีการยืนยันใดๆ จากช่องทางหลักในการเจรจากับปักกิ่ง แถมตัวเขายังไม่ได้แจ้งให้ประธานาธิบดีของตนเองทราบก่อนออกคำสั่งด้วยซ้ำ ...

... หรือว่าแท้ที่จริงแล้ว เขาทำเป็นเชื่อถือในคำพูดอะไรก็ตามทีซึ่งเอกอัครราชทูตอเมริกันถ่ายทอดต่อมาให้เขารับทราบ เพื่อที่จะได้สามารถออกมายืนยันว่ามีการทำความตกลง (ที่มีอยู่แต่ในความคิดฝันเท่านั้น) กันจริงๆ ในอันที่จะให้ทั้งสองฝ่ายอพยพล่าถอยออกมาพร้อมๆ กัน แล้วเขาจะได้อ้างเป็นเหตุผลสำหรับการเร่งรีบอพยพล่าถอยออกมาแต่ฝ่ายเดียวของฟิลิปปินส์ จากนั้นเขาก็จะได้สามารถกล่าวหาฝ่ายจีนว่าไว้วางใจไม่ได้ และทำลายข้อตกลงใดๆ ที่ทำท่าจะบังเกิดความคืบหน้า ตลอดจนขัดขวางยกเลิกกระบวนการระดับทวิภาคีระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนกับฟิลิปปินส์ ซึ่ง เดล โรซาริโอ (และสหรัฐฯ) ได้ถูกกีดกันออกมาให้คอยเฝ้าชมอยู่ภายนอกเท่านั้น

ประธานาธิบดีอากีโนนั้น ให้การหนุนหลัง เดล โรซาริโอ ในกรณีอัปยศล้มเหลวนี้ น้อยกว่าอัตราระดับเต็มปากเต็มคำนักหนา ดังที่ปรากฏให้เห็นคำแถลงฉบับหนึ่ง ดังนี้:

ทำเนียบมาลากาญัง [Malacanang ทำเนียบประธานาธิบดีฟิลิปปินส์] กำลังปล่อยให้เป็นหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นผู้ตอบโต้การกล่าวอ้างของจีนที่ว่า ฝ่ายเขาไม่เคยให้คำมั่นสัญญาใดๆ ว่าจะถอนเรือของพวกเขาออกมาจากเกาะ ปานาตัก โชล ซึ่งพิพาทอยู่กับฟิลิปปินส์

“ประการแรกสุด คำมั่นสัญญาดังกล่าวควรได้รับการพิจารณาว่ามีจุดมุ่งหมายเพื่อลดระดับความตึงเครียด โดยที่จะต้องคำนึงอยู่เสมอถึงความอ่อนไหวเกี่ยวกับสิ่งที่พูดกันออกมา ประการที่สอง เราจะส่งเรื่องให้กระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ตอบโต้ในประเด็นปัญหาเฉพาะเจาะจงประเด็นนี้” อาบิไกล วัลเต (Abigail Valte) ผู้ช่วยโฆษกทำเนียบประธานาธิบดี แถลง


เมื่อพิจารณาจากบริบทนี้แล้ว ก็ไม่น่าประหลาดใจอะไรที่ เดล โรซาริโอ รู้สึกว่าตนเองถูกบีบบังคับให้ต้องยื่นใบลาออกต่ออากีโน สืบเนื่องจากความสับสนวุ่นวายเอิกเกริกในกรณีสคาร์โบโร โชล ทว่าอากีโนก็ปฏิเสธไม่ยอมรับใบลา แต่อารมณ์ความรู้สึกไม่สบายใจภายในชนชั้นนำฟิลิปปินส์ เพราะความกังวลเกี่ยวกับวาระมุ่งเผชิญหน้าของ เดล โรซาริโอ ยังคงสามารถมองเห็นได้จากข้อเขียนเรื่อง Why there’s no Asean joint communiqué (ทำไมอาเซียนไม่ออกแถลงการณ์ร่วม) ของ เอร์ลินดา เอฟ บราซิลลิโอ (Erlinda F Brasilio) ปลัดกระทรวงการต่างประเทศฟิลิปปินส์ (ดูรายละเอียดได้ที่เว็บเพจ http://globalnation.inquirer.net/44771/why-there%E2%80%99s-no-asean-joint-communique) ซึ่งมีเนื้อหามุ่งแก้ต่างให้แก่การทูตแบบมุ่งโหมกระพือกระแสต่อต้านจีนของ เดล โรซาริโอ ในที่ประชุมของสมาคมอาเซียน เมื่อเดือนกรกฎาคม 2012

เดล โรซาริโอ ยังกวนน้ำให้ขุ่นต่อไปอีกเมื่อเดือนกันยายน 2012 ด้วยการกล่าวอ้างอย่างไม่น่าเชื่อถือเอาเสียเลยว่า ข้อตกลงเรื่องทั้งสองฝ่ายถอนเรือออกมาจากเกาะสคาร์โบโร โชล พร้อมๆ กันนั้น เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการที่เขาได้เจรจากับ หม่า เค่อชิง (Ma Keqing) เอกอัครราชทูตจีนประจำฟิลิปปินส์ (อ่านรายละเอียดได้ที่รายงานข่าวเรื่อง Chinese renege on agreement over disputed shoal ฝ่ายจีนทรยศหักหลังไม่รักษาข้อตกลงในเรื่องเกาะปะการังที่พิพาทกันอยู่ ในเว็บเพจ http://www.sunstar.com.ph/manila/local-news/2012/09/27/chinese-renege-agreement-over-disputed-shoal-245170) ทั้งนี้คงไม่จำเป็นต้องบอกว่าเรื่องเล่าหลังสุดของเขานี้ ขัดแย้งกับทั้งเวอร์ชั่นของ ตริลลาเนส และเวอร์ชั่นของแคมป์เบลล์ โดยที่ 2 เวอร์ชั่นดังกล่าวนี้ก็เป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นอย่างทนโท่อยู่แล้วว่า เดล โรซาริโอ ไม่ได้เป็นคู่สนทนากับฝ่ายจีนที่ทรงประสิทธิภาพแต่อย่างใดเลย

ส่วนการประกาศออกมาว่า สหรัฐฯกับฟิลิปปินส์ได้ถูกผลักดันด้วยการทรยศหักหลังของสาธารณรัฐประชาชนจีน จนกระทั่งหมดสิ้นน้ำอดน้ำทนแล้ว ในที่สุดจึงได้ตัดสินใจด้วยความเสียใจมากกว่าความโกรธกริ้ว และนำกรณีของฟิลิปปินส์ขึ้นฟ้องร้องต่อศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศซึ่งพิจารณาคดีความทางด้านกฎหมายทะเลของสหประชาชาตินั้น ในทางเป็นจริงแล้ว ดูเหมือนสหรัฐฯได้ตัดสินใจไปแล้วที่จะนำเอาข้อพิพาทสคาร์โบโร โชล ไปพึ่งพิงเวทีระหว่างประเทศ ตั้งแต่ก่อนที่ความไม่รื่นรมย์ของการถกเถียงกันว่าทั้งสองฝ่ายจะถอนเรือออกมาพร้อมๆ กัน หรือถอนกันแบบยื่นหมูยื่นแมว จะเสร็จสิ้นครบกระบวนการด้วยซ้ำ

ทั้งนี้ในขณะที่การเจรจายังคงน้ำลายแตกฟองกันอยู่เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน (การตกลงกันในเรื่องนี้มีอันล้มครืนลงไปในวันที่ 26 มิถุนายน เมื่อสาธารณรัฐประชาชนจีนส่งเรือกลับเข้าไปยึดครองเกาะปะการังนี้อีกครั้งหนึ่ง) ก็ปรากฏรายงานข่าวดังนี้:

เจ้าหน้าที่สหรัฐฯผู้หนึ่งกล่าวในวันพฤหัสบดีว่า วอชิงตันให้การสนับสนุนแผนการริเริ่มของฟิลิปปินส์ที่จะแก้ไขข้อพิพาทระหว่างมะนิลากับปักกิ่งในเรื่องเกาะปานาตัก โชล ด้วยวิธีการทางกฎหมาย...

จอย ยามาโมโตะ (Joy Yamamoto) ที่ปรึกษาของแผนกการเมือง และรักษาการรองหัวหน้าคณะนักการทูตของสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำมะนิลา ได้ขานรับคำแถลงของ [เอกอัครราชทูต] โธมัส ในเรื่องนี้

“เรามีท่าทีที่สม่ำเสมอเป็นอย่างยิ่งมาโดยตลอดในกรณีพิพาทนี้ ที่จะให้การสนับสนุนการใช้กฎหมายระหว่างประเทศมาแก้ไขข้อพิพาท ดังนั้น เราจึงสนับสนุนเรื่อยมาให้จีนและฟิลิปปินส์ตกลงกันในประเด็นปัญหานี้ด้วยการใช้วิธีการระดับระหว่างประเทศ” ยามาโมโตะ บอก


เมื่อพิจารณาจากบริบทดังกล่าวนี้แล้ว ผมก็ขอคาดเดาว่าสิ่งที่ เคิร์ต แคมป์เบลล์ ยื่นเสนอต่อ ฟู่ อิง ที่เวอร์จิเนีย ในตอนต้นเดือนมิถุนายน 2012 น่าที่จะอยู่ลักษณะเช่นนี้: “ถอนตัวออกไปจากสคาร์โบโร โชล เสียดีๆ ไม่อย่างนั้นสหรัฐฯก็จะสนับสนุนการยื่นฟ้องร้องของฟิลิปปินส์เกี่ยวกับแผนที่เส้นประ 9 เส้น (9-dash line)”

ด้วยความช่วยเหลือสนับสนุนอย่างกระตือรือร้นของ เดล โรซาริโอ มันก็เหมือนกับมีการกำหนดเตรียมการกันเอาไว้แล้วว่า การเจรจาระหว่างจีนกับฟิลิปปินส์จะต้องประสบความล้มเหลว แล้วฟิลิปปินส์ก็ยื่นฟ้องร้องคดีของตนให้ศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศตัดสิน

คราวนี้ก็มาถึงการตอบคำถามตามคำขอที่ว่า หลังจากเรื่องจริงๆ ผ่านพ้นไปถึง 2 ปีแล้ว และทั้งๆ ที่ข้อมูลสาธารณะที่มีบันทึกกันเอาไว้ก็ทำให้การบอกเล่าเหตุการณ์ในเวอร์ชั่นของสหรัฐฯถูกตั้งคำถามอย่างสาหัสสากรรจ์ แล้วทำไมสหรัฐฯจึงยังรู้สึกว่ามีความจำเป็นที่จะต้องโหมโปรโมตป่าวร้องเรื่อง “การทรยศหักหลัง” ในกรณีสคาร์โบโร โชล ต่อสาธารณชน ในจังหวะเวลาตอนนี้

ผมมีความเห็นว่า ประการแรกทีเดียว นโยบายเรื่องทะเลจีนใต้ของสหรัฐฯนั้น มีความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกันใหม่ เรื่องนี้มีการพูดเอาไว้ในรายงานข่าวของไฟแนนเชียลไทมส์ดังนี้:

“ความพยายามทั้งหลายของเราในการป้องปรามจีน [ในทะเลจีนใต้] เห็นได้ชัดเจนว่าไม่ได้ผลเลย” เจ้าหน้าที่อาวุโสของสหรัฐฯคนหนึ่งกล่าวยอมรับ

เมื่อปี 2010 สหรัฐฯได้อ้างเหตุผลความชอบธรรมของการที่ตนเองให้ความสนใจเน้นหนักในเรื่องที่สหรัฐฯจะต้องเข้าถึงประดาพื้นที่ห่างไกลทั้งหลายของทะเลจีนใต้ให้จงได้ โดยบอกว่า มันเป็นเรื่องของ “ผลประโยชน์แห่งชาติในด้านเสรีภาพทางการเดินเรือ”

ผลประโยชน์อันสำคัญของสหรัฐฯในด้านเสรีภาพทางการเดินเรือนั้น ถ้าพูดกันอย่างไม่ต้องอ้อมค้อมแล้ว ก็คือเสรีภาพของเรือทหารสหรัฐฯที่จะดำเนินการสอดแนมตรวจการณ์ภายในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของสาธารณรัฐประชาชนจีนได้นั่นแหละ และก็ปรากฏว่าสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ยินยอมอ่อนข้อในเรื่องนี้ในทางพฤตินัยอย่างรวดเร็วมากทีเดียว

ขณะที่ในอีกด้านหนึ่งนั้น เนื่องจากสาธารณรัฐประชาชนจีนต้องพึ่งพาอาศัยเสรีภาพในการเดินเรือเพื่อการสัญจรเชิงพาณิชย์เป็นอย่างมากในระดับที่มีผลตัดสินการดำรงคงอยู่ของประเทศนี้ทีเดียว (เราต้องไม่ลืมว่า เรือพาณิชย์ซึ่งสัญจรผ่านไปมาในทะเลจีนใต้นั้น ส่วนใหญ่ที่สุดก็เป็นเรือที่แล่นเข้าแล่นออกบรรดาท่าเรือของจีนนั่นเอง) ดังนั้น มันจึงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยากเย็นเต็มทีที่ฝ่ายจีนจะกระทำการล่วงละเมิดเสรีภาพทางการเดินเรือ จนกระทั่งทำให้สหรัฐฯต้องออกมาปฏิบัติการ

แต่ถึงแม้สหรัฐฯขยันขันแข็งเสียเหลือเกินในการออกมาประกาศปกป้องเสรีภาพทางการเดินเรือ (และเอาการเอางานเสียเหลือเกินในการปฏิเสธว่าตนเองไม่เข้าข้างฝ่ายใดในประเด็นปัญหาพิพาททางอธิปไตยทั้งหลายในทะเลจีนใต้) วอชิงตันกลับไม่อยู่ในฐานะที่จะแสดงบทบาทตอบโต้สวนกลับอะไรได้โดยตรง ในกรณีการสำแดงกำลังอย่างสุดขีดชนิดโดดเด่นเตะตาที่สุดของสาธารณรัฐประชาชนจีนในทะเลจีนใต้ อันได้แก่ การเคลื่อนย้ายแท่นขุดเจาะน้ำมัน HYSY 981 เข้าไปยังน่านน้ำที่พิพาทอยู่กับเวียดนามในบริเวณนอกชายฝั่งหมู่เกาะพาราเซล (Paracel Islands)

ในเวลาที่ธรรมดาๆ กว่านี้ สหรัฐฯอาจมีความเต็มใจที่จะยอมรับว่า สำหรับกรณีนี้สาธารณรัฐประชาชนจีนมีหลักฐานสนับสนุนการอ้างกรรมสิทธิ์ของตนในบริเวณดังกล่าว เหนือชั้นหนักแน่นกว่าของฝ่ายเวียดนาม ซึ่งนั่นเป็นเพราะสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ดำเนินการสำแดงอำนาจอธิปไตยเหนือหมู่เกาะพาราเซลอย่างชัดเจนครั้งแล้วครั้งเล่านั่นเอง ขณะที่สิ่งทีเวียดนามกระทำมีเพียงการคอยกวนน้ำให้ขุ่นด้วยการใช้ “การเมืองแห่งความโกรธเกรี้ยว” มาประคับประคองการกล่าวอ้างสิทธิ์ของตนเอาไว้เท่านั้น

ทว่าเวลาในตอนนี้คือช่วงเวลาแห่งความยุ่งยากซับซ้อน และดังนั้นสหรัฐฯ, ฟิลิปปินส์, กับญี่ปุ่น จึงได้รวมหัวกันเพื่อทำให้เกิดความมั่นใจว่า เวียดนามจะต้องไม่ยอมอับอายขายหน้าเสียศักดิ์ศรีด้วยการต้องยอมรับอำนาจอธิปไตยเหนือหมู่เกาะพาราเซลของสาธารณรัฐประชาชนจีน ตลอดจนเวียดนามจะต้องไม่ยอมตกลงแบ่งปันเขตเศรษฐกิจจำเพาะที่ทับซ้อนกันอยู่กับจีนโดยถือตามข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้ ถึงแม้ว่าหากเวียดนามยอมกระทำเช่นนั้นแล้ว บางทีอาจจะทำให้ปัญหาที่เน่าเปื่อยกลัดหนองมานานปัญหาหนึ่งในทะเลจีนใต้ กลายเป็นเรื่องที่ผ่านเลยและไม่ต้องให้ความใส่ใจอีกต่อไป

ความล้มเหลวไม่สามารถที่จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการดำเนินการของแท่นขุดเจาะ HYSY 981 เช่นนี้ ดูเหมือนจะทำให้สหรัฐฯมองเห็นความจำเป็นที่จะต้องหันมานิยามจำกัดความเรื่องผลประโยชน์แห่งชาติของอเมริกาในทะเลจีนใต้กันเสียใหม่ เพื่อให้วอชิงตันสามารถออกแรงผลักดันได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นในการทำให้สาธารณรัฐประชาชนต้องยอมถอยหลังกลับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จะเป็นการดีมากถ้าการออกแรงผลักดันให้ถอยหลังกลับไปดังกล่าวนี้ บรรจุเอาไว้ด้วยการคุกคามว่า หากไม่ยินยอมถอยก็จะเผชิญกับผลลัพธ์ซึ่งสาธารณรัฐประชาชนมีความปรารถนาให้เกิดขึ้นมาน้อยที่สุด กล่าวคือ การเผชิญหน้ากับกำลังทหารของสหรัฐฯ มันเป็นการคุกคามที่สหรัฐฯยืนยันว่าเป็นเรื่องถูกต้องชอบธรรม สืบเนื่องจากกรณีเกาะปะการัง สคาร์โบโร โชล ได้สาธิตให้เห็นแล้วว่า สาธารณรัฐประชาชนจีนนั้นเป็นปรปักษ์ที่สามารถทรยศหักหลังได้อย่างชนิดอันตรายยิ่ง

ในรายงานข่าวของไฟแนนเชียลไทมส์ที่ผมกล่าวไว้ข้างต้นนี้ น่าสนใจมากที่ได้มีการตัดคำบางคำออกไปในเวลาที่พูดอ้างอิงเกี่ยวกับผลประโยชน์แห่งชาติของสหรัฐฯในทะเลจีนใจ กล่าวคือไฟแนนเชียลไทมส์เน้นเพียงแค่ว่า “คณะรัฐบาลโอบามาได้ประกาศว่าทะเลจีนใต้เป็น “ผลประโยชน์แห่งชาติ” ของสหรัฐฯอย่างหนึ่งเมื่อปี 2010” ขอให้สังเกตให้ดีนะครับว่า มีการตัดเอาวลีอธิบายขยายความซึ่งมีความสำคัญมากที่ว่า “ในด้านเสรีภาพทางการเดินเรือ” ออกไป

พวกผู้เชี่ยวชาญในเรื่องการเยาะเย้ยถากถาง อาจจะอยากต่อยอดไปอีกว่า หากมีการพัฒนาปรับปรุงถ้อยคำของวลีนี้กันต่อไปแล้ว ในขั้นถัดไปสหรัฐฯก็อาจจะประกาศว่า ทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นท้องทะเลที่อุดมด้วยก้อนหิน, แนวปะการัง, และเกาะปะการัง แถมตั้งอยู่ห่างไกลถึง 10,000 ไมล์จากแผ่นดินมาตุภูมิ ถือเป็น “ผลประโยชน์แกนกลาง” (core interest) อย่างหนึ่งของอเมริกาก็เป็นได้ ทั้งนี้เหล่าผู้เชี่ยวชาญการเยาะเย้ยถากถาง น่าจะชื่นชอบมากเป็นพิเศษ เมื่อมีการนำเอาคำว่า “ผลประโยชน์แกนกลาง” นี้ มาใช้กับสหรัฐฯ เพราะคำๆ นี้เองที่สาธารณรัฐประชาชนจีนได้เคยพยายามนำเอาใช้ในปี 2010 โดยประสงค์จะให้หมายถึงอาณาบริเวณที่อยู่รอบๆ สาธารณรัฐประชาชนจีน แต่แล้วปรากฏว่าถูกวอชิงตันวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง

ในวันนี้ ถ้าสหรัฐฯประกาศเพียงแค่ว่า “ในทะเลจีนใต้” นั้นถือเป็นผลประโยชน์แห่งชาติอย่างหนึ่งของตน (โดยตัดวลีขยายความที่ว่า “ในด้านเสรีภาพทางการเดินเรือ”) มันก็สามารถบ่งชี้ส่อนัยอะไรได้ตั้งมากมาย เรียกว่าสามารถบ่งชี้ส่อนัยอะไรก็ได้ตามแต่ที่สหรัฐฯจะต้องการบ่งชี้นั่นแหละครับ ในทางปฏิบัติแล้ว นี่ย่อมหมายความว่าสหรัฐฯมีสิทธิพิเศษที่จะกระทำการใดๆ ตามอำเภอใจฝ่ายเดียวในสิ่งที่ตนเองนิยามกำหนดเอาเองว่าเป็นผลประโยชน์แห่งชาติของตน โดยไม่ถูกจำกัดกีดกั้นจากข้อพิจารณาอันเข้มงวดต่างๆ ในทางกฎหมายระหว่างประเทศ (ทั้งนี้สำหรับสาธารณรัฐประชาชนจีนแล้ว ส่วนใหญ่ที่สุดทีเดียวมีความพยายามที่จะวิเคราะห์ที่จะทำความเข้าใจเนื้อหาของบรรดากฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องอย่างระมัดระวัง ส่วนสหรัฐฯนั้น จากการที่ไม่ยอมให้สัตยาบันอนุสัญญากฎหมายทะเลของสหประชาชาติ จึงถือได้ว่าอยู่ในจุดยืนที่ย่ำแย่กว่า) และโดยไม่ถูกจำกัดกีดกั้นจากจุดยืนของสมาคมอาเซียน (สำหรับสาธารณรัฐประชาชนจีน ส่วนใหญ่ที่สุดทีเดียวได้พยายามทำให้รัฐสมาชิกอาเซียนแตกคอกัน และก็นับว่าประสบความสำเร็จทีเดียว)

เมื่อเร็วๆ นี้ สหรัฐฯยังมีความเคลื่อนไหวอีกอย่างหนึ่งในเรื่องเกี่ยวทะเลจีนใต้ ได้แก่การเรียกร้องให้ห้ามทำการก่อสร้างทุกๆ อย่างในอาณาบริเวณนี้ (โดยที่สาธารณรัฐประชาชนจีนนั้น กำลังสาละวนอยู่กับการขุดเจาะ, ขยาย, และปรับปรุงพื้นที่เกาะต่างๆ ซึ่งตนอ้างกรรมสิทธิ์ เพื่อเพิ่มความเข้มแข็งให้แก่การอ้างอำนาจอธิปไตยเหนือเกาะเหล่านี้) การเรียกร้องดังกล่าวมีรายละเอียดดังนี้:

ระหว่างไปพูดที่สำนักคลังสมองแห่งหนึ่งในกรุงวอชิงตัน ไมเคิล ฟุชส์ (Michael Fuchs) เจ้าหน้าที่อาวุโสของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้แสดงความวิตกกังวลอย่างใหญ่หลวง เกี่ยวกับ “การเพิ่มทวีขึ้นของสถานการณ์เล็กๆ น้อยๆ ที่ดูเหมือนไม่สำคัญ” สืบเนื่องจากการที่ประเทศจีนผู้ยืนกรานแข็งกร้าว ตลอดจน 5 ชาติเพื่อนบ้านที่มีขนาดเล็กกว่า ต่างพยายามช่วงชิงกันเข้าควบคุมหมู่เกาะเล็กๆ หรือแนวปะการังต่างๆ ในแถบน่านน้ำซึ่งอุดมสมบูรณ์ไปด้วยสัตว์น้ำ ตลอดจนมีความเป็นไปได้ที่จะเป็นแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ

ฟุชส์บอกว่า การกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์ต่างๆ เหล่านี้ ไม่ได้มีการกล่าวอ้างอันไหนโดดๆ ที่เป็นตัวการทำให้เกิดความตึงเครียดในเวลานี้ขึ้นมา แต่เขาขอวิพากษ์วิจารณ์แบบแผนแห่งความประพฤติ “ชนิดมุ่งยั่วยุ” ของจีน

เขาแจกแจงลงรายละเอียดเกี่ยวข้อเสนอของสหรัฐฯที่จะขอให้ทุกๆ ฝ่ายสมัครใจระงับกิจกรรมทั้งหลายทั้งปวงซึ่งเป็นตัวเพิ่มระดับความตึงเครียดเอาไว้ก่อน โดยเขาระบุว่านี่จะเป็นการเติมเต็มสร้างความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นให้แก่ ปฏิญญาฉบับที่จีนและสมาคมอาเซียนประกาศออกมาในปี 2002 ซึ่งเรียกร้องให้ทุกๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องในทะเลจีนใต้แสดงความยับยั้งชั่งใจตนเอง ทั้งนี้คาดหมายว่าสหรัฐฯจะผลักดันข้อเสนอนี้ในระหว่างการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของเอเชียที่ประเทศพม่าในเดือนหน้า

ฟุชส์กล่าวว่า เหล่าประเทศผู้อ้างกรรมสิทธิ์ทั้งหลายจำเป็นที่จะต้องทำความตกลงกันเกี่ยวกับเงื่อนไขรายละเอียดต่างๆ ของเรื่องนี้ แต่เขาก็เสนอแนะให้หยุดการก่อตั้งสถานีหรือที่มั่นแห่งใหม่ๆ และหยุดการก่อสร้างหรือการถมทะเลใดๆ ก็ตามที่จะเป็นการเปลี่ยนแปลงสถานีหรือที่มั่นซึ่งมีอยู่แล้วในเวลานี้ในระดับรากฐาน เขายังเสนอด้วยว่าชาติผู้อ้างกรรมสิทธิ์ใดๆ ก็ไม่ควรจะไปหยุดยั้งชาติผู้อ้างกรรมสิทธิ์รายอื่นๆ จากการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ที่ได้เคยทำกันมานานแล้วในพื้นที่พิพาท


สิ่งที่ฟุชส์พูดออกมานี้ ฟังดูเหมือนกับว่าสหรัฐฯได้ตัดสินใจแล้วว่า จำเป็นที่จะต้องเพิ่มแรงผลักดันอาเซียน เพื่อให้ออกนโยบายต่อต้านสาธารณรัฐประชาชนจีนกันแบบเจ๋งๆ และถึงแม้ว่าสหรัฐฯเองไม่ได้เป็นสมาชิกอาเซียนกับเขาด้วย แต่สหรัฐฯก็จะแสดงความกระตือรือร้นและเป็นฝ่ายรุกให้มากยิ่งขึ้นอีก เพื่อผลักดันนโยบายของอาเซียน รวมทั้งเพื่อต้านทานความพยายามของสาธารณรัฐประชาชนจีนที่มุ่งแบ่งแยกและส่งอิทธิพลต่อสมาคมแห่งนี้

อันที่จริงแล้ว ท่าทีใหม่ของสหรัฐฯเช่นนี้ –ไม่ว่าจะเรียกมันว่า “บทเพลงสวดศพแด่การวางตัวเป็น ‘คนกลางผู้สัตย์ซื่อ’” (Requiem for the "Honest Broker) หรือ “เรากำลังจะเอียงเข้าข้างใดข้างหนึ่งแล้ว – ข้องใจไหม?” (We're Taking Sides: Got A Problem With that?) ได้เคยปรากฏให้เห็นไปเรียบร้อยแล้ว ในเหตุการณ์ส่งเสบียงให้แก่หน่วยนาวิกโยธินฟิลิปปินส์ซึ่งตั้งประจำอยู่บนซากเรือรบเซียร์รา มาเดร (Sierra Madre) บนเกาะปะการัง โธมัส เซคกันด์ โชล (Thomas Second Shoal) เมื่อเดือนเมษายน 2014

เหตุการณ์ดังกล่าวนี้ ในตอนนั้นได้รับการยกย่องเชิดชูว่า เป็นการที่ “เรือเล็กๆ ที่กล้าหาญของฟิลิปปินส์ สามารถหลบหลีกฝ่าการปิดกั้นของเรือตรวจการณ์ทางทะเลแสนอุ้ยอ้ายของสาธารณรัฐประชาชนจีนได้สำเร็จ” แต่อย่างที่ผมได้ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ในข้อเขียนชิ้นหนึ่งซึ่งเผยแพร่ทางเอเชียไทมส์ออนไลน์ตั้งแต่ในตอนนั้น จริงๆ แล้วเหตุการณ์นี้เป็นการฝึกซ้อมการเคลื่อนไหวอย่างสอดประสานกันของกลุ่มพันธมิตรต่อต้านสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งมุ่งประสงค์ที่จะออกแรงผลักดันทำให้จีนต้องยอมถอยหลังกลับ โดยที่ตัวแสดงในเรื่องนี้มีทั้ง เรือเล็กของฟิลิปปินส์ซึ่งบรรทุกข้าวของและพวกนักหนังสือพิมพ์ตะวันตกจนเต็มเพียบ, เครื่องบินตรวจการณ์ของสหรัฐฯที่คอยบินอยู่เหนือศีรษะ, และการเข้าเทียบท่าอย่างบังเอิญจนน่าสงสัยของเรือพิฆาตญี่ปุ่น 2 ลำ

พอมาถึงเวลานี้ รายงานข่าวของไฟแนนเชียลไทมส์ได้บรรยายกันออกมาอย่างเปิดเผยทีเดียวว่า กรณีการเติมเสบียงที่ซากเรือเซียร์รา มาเดร เป็นผลงานอีกชิ้นหนึ่งของสหรัฐฯ ในความพยายามออกแรงผลักดันเพื่อทำให้จีนต้องยอมถอยหลังกลับไป อย่างไรก็ดี ไฟแนนเชียลไทมส์กลับบกพร่องล้มเหลว ตรงที่ไม่ได้สังเกตเห็นว่า กรณีนี้ยังมีความสำคัญมากในฐานะที่เป็นสัญญาณแสดงให้เห็นว่า สหรัฐฯตัดสินใจอย่างเด็ดขาดที่จะใช้ท่าทีซึ่งเปลี่ยนไปจากเดิมในทะเลจีนใต้ ทั้งนี้จากการที่สหรัฐฯให้ความสนับสนุนแก่ฟิลิปปินส์ในทางพฤตินัย นี่ย่อมหมายความว่าสหรัฐฯหันมาเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในกรณีพิพาททางดินแดนแล้วนั่นเอง การกระทำเช่นนี้ของสหรัฐฯยากที่จะหาเหตุผลความชอบธรรมใดๆ มารองรับ แม้กระทั่งจะอ้างว่าเป็นการบังคับใช้ข้อตกลงของอาเซียนก็ยังฟังไม่ขึ้น (เนื่องจากสหรัฐฯนั้นไม่ได้เป็นคู่สัญญากับอาเซียนในข้อตกลงนี้ รวมทั้งอาเซียนก็ไม่ได้ขอให้สหรัฐฯช่วยบังคับใช้ข้อตกลงในนามของสมาคมแต่อย่างใด)

ผมคาดหมายว่าในอนาคตข้างหน้า เรายังจะได้เห็นสหรัฐฯตัดสินใจเปลี่ยนจุดยืนอย่างเด็ดเดี่ยวในเรื่องของทะเลจีนใต้เพิ่มมากขึ้นไปอีก

บางทีในตอนนี้เราอาจจะกำลังขยับเข้าใกล้สถานการณ์ซึ่งสหรัฐฯจะประกาศออกมาอย่างเปิดเผยว่า ตนเองจะกระทำการต่างๆ ในทะเลจีนใต้เพื่อต่อต้านคัดค้านสาธารณรัฐประชาชนจีน ในนามของฟิลิปปินส์หรือของเวียดนาม ทั้งนี้เพื่อให้บรรลุถึงสิ่งที่สหรัฐฯนิยามเอาเองตามอำเภอใจว่าเป็นผลประโยชน์แห่งชาติของตน

สหรัฐฯมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างความชอบธรรมให้แก่การปรับเปลี่ยนหลักนิยม (doctrine) ของตนที่ใช้กับทะเลจีนใต้ ซึ่งกำลังออกไปในลักษณะกระทำการฝ่ายเดียวตามอำเภอใจเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ บางทีความจำเป็นเช่นนี้เอง คือเหตุผลเบื้องหลังการตัดสินใจรีแพกเกจเรื่องราวการเล่นเล่ห์เพทุบายในกรณีสคาร์โบโร โชล ของสหรัฐฯ/เดล โรซาริโอ กันเสียใหม่ ให้ออกมาในรูปที่ว่าฝ่ายจีนหักหลังจึงทำให้สหรัฐฯ/ฟิลิปปินส์โกรธเกรี้ยว จากการเสนอเรื่องราวให้ออกมาอย่างนี้ ก็สามารถประกาศได้ว่าความเคลื่อนไหวของสหรัฐฯนั้นเป็นการแก้เผ็ดความประพฤติที่ไม่เหมาะสมของสาธารณรัฐประชาชนจีน ไม่ใช่เป็นเพราะสาธารณรัฐประชาชนจีนประสบความสำเร็จในการเล่นเกมกับสถานการณ์ในทะเลจีนใต้ปัจจุบัน จึงกระตุ้นให้สหรัฐฯต้องเพิ่มระดับของการเผชิญหน้าขึ้นมา

ร่องรอยเพิ่มเติมของความเป็นไปได้นี้ ยังมีเค้าเงื่อนอยู่ในข้อเสนอของ คาร์ล เธเยอร์ (Carl Thayer) ตามรายงานข่าวดังต่อไปนี้:

ศาสตราจารย์ คาร์ไลล์ เอ เธเยอร์ (Carlyle A Thayer) แห่งมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ (University of New South Wales) ในประเทศออสเตรเลีย เสนอแนะว่าเวียดนามควรที่จะยื่นเสนอต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เพื่อขอให้เปิดการอภิปรายเรื่องการเคลื่อนย้ายแท่นขุดเจาะน้ำมันในทะเลจีนใต้อย่างผิดกฎหมายของจีน ตลอดจนผลกระทบของเรื่องนี้ที่มีต่อความมั่นคงระดับในภูมิภาค เธเยอร์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยชำนาญเป็นพิเศษในเรื่องเวียดนาม ได้กล่าวอีกว่า จีนมีฐานะเป็นมหาอำนาจรายหนึ่งของโลก เป็นไปได้ว่าจีนอาจจะใช้อำนาจยับยั้งของตนเพื่อคว่ำญัตติใดๆ ที่มีการพิจารณาในคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็น อย่างไรก็ตาม อย่างน้อยที่สุดประชาคมระหว่างประเทศก็จะเกิดความเข้าใจที่ดีขึ้นเกี่ยวกับไมตรีจิตมิตรภาพของเวียดนาม และพฤติการณ์ของจีน ตลอดจนการที่เวียดนามขอให้จีนถอนแท่นขุดเจาะออกไปจากน่านน้ำของเวียดนาม

เราจะต้องไม่ลืมว่า ปกติแล้วสหรัฐฯมักใช้วิธีหาข้ออ้างเสียก่อน โดยบอกว่าตนเอง “ได้พยายามเสนอให้คณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นลงมติแล้ว ทว่าถูกสกัดกั้นอย่างไร้เหตุผลด้วยการที่สาธารณรัฐประชาชนจีน และ/หรือ รัสเซีย ใช้อำนาจยับยั้ง” แล้วจากนั้นสหรัฐฯจึงจะเดินหน้ากระทำการผจญภัยทางด้านความมั่นคงตามอำเภอใจฝ่ายเดียวต่อไป

แล้วสิ่งต่างๆ ทั้งหมดนี้จะนำไปสู่อะไร ผมขอคาดการณ์ถึงภาพจำลองสถานการณ์แบบระบุเจาะจงกันเลย ผมเห็นว่าทั้งหมดนี้มันเกี่ยวข้องกับ “แปลง เอสซี-72” (SC-72) ซึ่งเป็นพื้นที่สำรวจหาน้ำมันและก๊าซในทะเลจีนใต้แปลงหนึ่ง ที่ตั้งอยู่นอกชายฝั่งเกาะพาลาวัน (Palawan) ของฟิลิปปินส์ ในบริเวณที่เรียกกันว่า รีด แบงก์ (Reed Bank) หรือ เรคโต แบงก์ (Recto Bank) พื้นที่แปลงนี้ฟิลิปปินส์อ้างกรรมสิทธิ์โดยระบุว่าอยู่ภายในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ 200 ไมล์ทะเลของตน ทว่าสาธารณรัฐประชาชนจีนก็อ้างกรรมสิทธิ์เช่นเดียวกัน

ท่ามกลางการโฆษณาป่าวร้องหลอกลวงมากมายเกี่ยวกับทรัพยากรล้ำค่ามหาศาลซึ่งอยู่ใต้ท้องทะเลจีนใต้นั้น มีความเป็นไปได้ที่แปลง เอสซี-72 อาจจะเป็น “ของจริง” โดยมีน้ำมันและก๊าซธรรมชาติปริมาณสูง ซึ่งเมื่อขุดเจาะขึ้นมาได้ก็จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศฟิลิปปินส์เจริญเติบโตขึ้นอย่างสำคัญ และทำให้รัฐบาลมีรายได้มั่งคั่ง ความโลภและความกระวนกระวายใจอันเนื่องมาจากแปลง เอสซี-72 นี่เอง คือเบื้องหลังข้อพิพาททางทะเลครั้งแล้วครั้งเล่าระหว่างฟิลิปปินส์กับสาธารณรัฐประชาชนจีน รวมทั้งกรณีเอะอะเกรียวกราวเกี่ยวกับเกาะสคาร์โบโร โชล ด้วย

รัฐบาลฟิลิปปินส์นั้นได้มอบหมายให้บริษัทฟิลิปปินส์ชื่อ ฟอรั่ม เอนเนอจี (Forum Energy) ซึ่งเจ้าของคือ มานูเอล วี ปังกิลินัน (Manuel V Pangilinan) มหาเศรษฐีชั้นนำคนหนึ่งของฟิลิปปินส์ (ปังกิลินัน ยังเป็นเพื่อนสนิทสนมของ เดล โรซาริโอ จริงๆ แล้ว ปังกิลินัน ผู้นี้แหละที่เป็นผู้แทนอย่างไม่เป็นทางการซึ่ง เดล โรซาริโอ ส่งไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อการทูตระดับทางการของเขาเจอทางตัน และประธานาธิบดีอากีโนหันไปพึ่งพาวุฒิสมาชิกตริลลาเนส) ทำหน้าที่ “ช่วยยืนยันสิทธิอธิปไตยของฟิลิปปินส์เหนือส่วนต่างๆ ของทะเลจีนใต้” โดยที่ฟิลิปปินส์ได้เปลี่ยนชื่อของทะเลแห่งนี้ให้เป็น “ทะเลฟิลิปปินส์ตะวันตก” (West Philippine Sea)

แปลง เอสซี-72 แต่เดิมเป็นพื้นที่ใจกลางของโครงการความร่วมมือและร่วมกันพัฒนาที่สาธารณรัฐประชาชนจีนกับฟิลิปปินส์คาดหวังว่าจะดำเนินการกัน ทว่าประเด็นหลักที่ทั้งสองฝ่ายขัดแย้งกันจนตกลงกันไม่ได้ก็คือ ฝ่ายฟิลิปปินส์ยืนกรานให้สาธารณรัฐประชาชนจีนต้องยอมรับว่า แปลง เอสซี-72 นั้นตั้งอยู่ภายในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของฟิลิปปินส์ เรื่องนี้ไม่ใช่เป็นแค่เพียงการอ้างสิทธิ์เพื่อจะได้เอาไปคุยโตโอ้อวดเท่านั้น เพราะมันหมายถึงว่าจะทำให้รัฐบาลฟิลิปปินส์ได้รับค่าสัมปทานไปเต็มๆ ทั้ง 100%

เมื่อบริษัทผู้ได้รับสัมปทานจากฟิลิปปินส์ ส่งเรือสำรวจลำหนึ่งเข้าไปที่แปลง เอสซี-72 ในปี 2011 เรือของสาธารณรัฐประชาชนจีนลำหนึ่งก็ได้ตรงเข้าไปท้าทายประลองความกล้า และเกือบจะแล่นชนเรือสำรวจลำนั้นทีเดียว กระนั้นก็ตาม ฝ่ายฟิลิปปินส์ยังคงยืนยันเสนอเรื่อยมาว่า ต้องการร่วมมือกับสาธารณรัฐประชาชนจีนในการพัฒนาแปลง เอสซี-72

ผมสงสัยว่าท่าทีเช่นนี้จะกำลังจะมีการเปลี่ยนแปลง

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผมขอจินตนาการวาดภาพสถานการณ์ว่า ถ้าหากฟิลิปปินส์เป็นฝ่ายชนะในการยื่นฟ้องต่อศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ เพื่อให้มีการตัดสินว่าแผนที่เส้นประ 9 เส้นของฝ่ายจีนไม่สามารถใช้เป็นหลักฐานยืนยันการอ้างกรรมสิทธิ์ ทางฟิลิปปินส์ ซึ่งรู้สึกย่ามใจมากยิ่งขึ้นจากชัยชนะของตน เมื่อบวกกับแรงสนับสนุนจากสหรัฐฯ ตลอดจนการประจบป้อยอจากญี่ปุ่น (โดยที่ญี่ปุ่นเองก็กำลังอยู่ในกระบวนการตีความรัฐธรรมนูญของตนเองเสียใหม่ เพื่อเปิดทางให้กองทัพญี่ปุ่นสามารถเข้าช่วยเหลือชาติเพื่อนมิตรผู้ทรงความสำคัญ โดยที่มีการเรียกขานแนวความคิดในเรื่องนี้ว่า “การร่วมกันป้องกันตนเอง” collective self defense) จะตัดสินใจเข้าพัฒนาแปลง เอสซี-72 เองโดยไม่รอสาธารณรัฐประชาชนจีน ในเวลาเดียวกับที่กองทัพสหรัฐฯจะค่อยช่วยเฝ้าติดตามสอดแนมเรือของสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งคงจะกำลังมุ่งก่อกวนขัดขวางความพยายามในการสำรวจและการผลิตน้ำมันและก๊าซแต่เพียงฝ่ายเดียวของฟิลิปปินส์ ...

... และ ถ้าหากจำเป็น เรือของกองทัพสหรัฐฯก็พร้อมที่จะเข้าสอดแทรกเพื่อพิทักษ์คุ้มครองเรือของฟิลิปปินส์

เมื่อเร็วๆ นี้ รัฐบาลฟิลิปปินส์เพิ่งต่ออายุสัมปทานให้แก่ ฟิเล็กซ์ เอนเนอจี (Philex Energy) ไปจนถึงเดือนสิงหาคม 2016 ซึ่งเพียงพอสำหรับการรอคอยให้กระบวนการอันยืดยาวของศาลอนุญาโตตุลาการเสร็จสิ้นลง และเปิดทางให้เรือฟิลิปปินส์แล่นเข้าไปยังน่านน้ำเรคโต แบงก์ โดยที่อย่างน้อยที่สุดก็มีความกำกวมลดลงไปแล้ว ว่าน่านน้ำตรงนั้นเป็นของฟิลิปปินส์ ไม่ใช่ของจีน

การวางแผนทำให้สาธารณรัฐประชาชนจีนต้องถูกเตะออกไปจากแปลงเอสซี-72 อาจจะถูกมองว่าช่างเป็นการแก้แค้นที่สมน้ำสมเนื้อกับการที่ปักกิ่งแสดงความอวดดีด้วยการส่งแท่น HYSY 981 ไปทำการขุดเจาะที่บริเวณนอกชายฝั่งหมู่เกาะพาราเซล

สหรัฐฯจะถึงขั้นก้าวเลยไปไกลกว่า สคาร์โบโร โชล และ เรคโก แบงก์ และแต่งตั้งตนเองให้กลายเป็นผู้พิทักษ์อเนกประสงค์ในเรื่องการปกป้องสิทธิต่างๆ ตามอนุสัญญากฎหมายทางทะเลของยูเอ็น หรือในการกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์ทั้งหลายของพวกชาติเพื่อนบ้านของสาธารณรัฐประชาชนจีนเสียเลยหรือไม่ ในโลกยุคที่แผนที่เส้นประ 9 เส้นของจีนถูกตัดสินว่าเป็นหลักฐานที่ใช้ไม่ได้แล้ว? คำตอบของคำถามนี้อาจจะอยู่ที่ว่า สหรัฐฯสามารถพาตัวเองเข้ามาให้สัตยาบันอนุสัญญากฎหมายทะเลของยูเอ็นได้หรือเปล่า ทั้งนี้ฝ่ายทหารและพวกชนชั้นนำทางการทูตทางการต่างประเทศของสหรัฐฯ มีเป้าหมายมุ่งผลักดันในเรื่องนี้มานานแล้ว ทว่ายังคงถูกคัดค้านจากพวกอนุรักษนิยมของสหรัฐฯ ซึ่งมองว่า อนุสัญญาฉบับนี้เป็นเพียงกลอุบายที่จะทำให้สหรัฐฯต้องสูญเสียอธิปไตยเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ในทะเลจีนใต้นั้น ดูเหมือนว่าอะไรๆ ก็ล้วนแล้วแต่เป็นไปได้ทั้งนั้น

ปีเตอร์ ลี เป็นนักเขียนที่สนใจเรื่องกิจการเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้ ตลอดจนจุดตัดกันระหว่างภูมิภาคเหล่านี้กับนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ ข้อเขียนชิ้นนี้ตีพิมพ์แรกสุดในบล็อก “ChinaMatters” (http://chinamatters.blogspot.com)
กำลังโหลดความคิดเห็น