xs
xsm
sm
md
lg

รัฐธรรมนูญฉบับสันติภาพของญี่ปุ่นตายแล้วหรือ?

เผยแพร่:   โดย: จอห์น เฟฟเฟอร์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Is Japan’s Peace Constitution Dead?
By John Feffer
10/07/2014

การที่รัฐบาลนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ของญี่ปุ่น “ตีความรัฐธรรมนูญกันใหม่” เพื่อให้แดนอาทิตย์อุทัยสามารถเข้าร่วม “การป้องกันตนเองร่วมกัน” ได้นั้น ได้รับการต้อนรับอย่างกระตือรือร้นจากสหรัฐฯ ผู้ซึ่งได้พยายามผลักดันมานมนานให้โตเกียวเข้าแบกรับความรับผิดชอบทางด้านความมั่นคงเพิ่มมากขึ้น ทว่าเมื่อนำเอาความตึงเครียดที่กำลังเพิ่มทวีขึ้นเรื่อยๆ ในภูมิภาคนี้ มาโยงใยสัมพันธ์กับการปรับเปลี่ยนจัดวางเชิงยุทธศาสตร์กันใหม่ของอาเบะแล้ว วอชิงตันก็อาจจะกำลังมุ่งหน้าสนใจระมัดระวังทำเรื่องเล็กๆ เฉพาะหน้า โดยมองไม่เห็นความยุ่งยากอันหนักหนาสาหัสที่จะเกิดตามมาในอนาคต

วอชิงตัน - ญี่ปุ่นอยู่ใต้ “รัฐธรรมนูญฉบับสันติภาพ” มาเป็นเวลาร่วมๆ 70 ปีแล้ว มาตราที่โดดเด่นเตะตาของกฎหมายสูงสุดของประเทศฉบับนี้ ย่อมได้แก่ มาตรา 9 ซึ่งมีเนื้อหามุ่งป้องกันไม่ให้แดนอาทิตย์อุทัยเข้าทำสงครามโดยถือว่ามันเป็นเครื่องมือของการแก้ไขคลี่คลายความขัดแย้งระหว่างประเทศ ปัจจุบัน มาตรา 9 นี้ก็กำลังแสดงความคร่ำคร่าแก่ชราของมันให้ปรากฏ

อันที่จริงแล้ว ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีหลังๆ มานี้ เนื่องจากได้มี “การตีความกันใหม่” ครั้งแล้วครั้งเล่า รัฐธรรมนูญฉบับสันติภาพนี้จึงอยู่ในสภาพอ่อนระโหยโรยแรงอยู่แล้ว การที่รัฐบาลของ ชินโซ อาเบะ ประกาศตัดสินใจทำ “การตีความกันใหม่” ครั้งล่าสุด จึงแทบจะเท่ากับเป็นการทำ “การุณยฆาต” เอกสารฉบับนี้ทีเดียว

ทั้งนี้รัฐบาลอาเบะประกาศมติคณะรัฐมนตรีฉบับหนึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งระบุว่าจะยื่นเสนอต่อรัฐสภาขอตีความรัฐธรรมนูญใหม่ เพื่อให้ญี่ปุ่นสามารถที่จะยึดมั่นผูกพันในหลักการแห่งการป้องกันตนเองร่วมกัน (principle of collective self-defence) ฟังดูแล้วอาจจะยังค่อนข้างเข้าใจยาก ถ้าจะพูดกันให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น ก็คือว่า รัฐบาลอาเบะต้องการให้ตีความรัฐธรรมนูญกันใหญ่ ซึ่งจะทำให้โตเกียวสามารถใช้กำลังทหารได้ ไม่เพียงในการป้องกันตนเองเท่านั้น หากยังใช้เพื่อช่วยเหลือพันธมิตรที่กำลังตกอยู่ในอันตรายได้ด้วย แม้กระทั่งการเข้าไปช่วยเหลือในขณะที่ญี่ปุ่นเองยังมิได้ถูกโจมตีแต่อย่างใด

นายกรัฐมนตรีอาเบะแถลงย้ำว่า การปฏิรูปเช่นนี้ก็เพื่อลดความเสี่ยงที่ญี่ปุ่นจะต้องเข้าไปพัวพันเกี่ยวข้องกับสงครามให้น้อยลง เขายังเน้นด้วยว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญในวิธีการดำเนินนโยบายการต่างประเทศและนโยบายทางการทหารของญี่ปุ่นแต่อย่างใด และด้วยเหตุฉะนี้จึงไม่ได้เป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญฉบับสันติภาพเลย อย่างไรก็ตาม ในทางเป็นจริงแล้วการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้มีนัยซึ่งสำคัญมากๆ หลายๆ ประการทีเดียว

สำหรับปฏิกิริยาจากประเทศต่างๆ นั้น สหรัฐฯ ซึ่งได้เคยเพียรพยายามกระตุ้นเร่งรัดมานานแล้ว ให้ญี่ปุ่นเข้าแบกรับความรับผิดชอบทางด้านความมั่นคงเพิ่มมากขึ้น ได้ออกโรงมาแถลงยกย่องชมเชยความเคลื่อนไหวอันฮึกห้าวของอาเบะคราวนี้ในทันที โดยรัฐมนตรีกลาโหมอเมริกัน ชัค เฮเกล เรียกการตัดสินใจครั้งนี้ว่าเป็น “จังหวะก้าวอันสำคัญของญี่ปุ่น ในขณะที่ญี่ปุ่นกำลังเสาะแสวงหาหนทางเพื่อให้ตนเองมีคุณูปการอย่างใหญ่หลวงยิ่งขึ้นต่อสันติภาพและความมั่นคงของภูมิภาคและของโลก”

ทว่าพวกชาติเพื่อนบ้านของญี่ปุ่นดูจะมีความกระตือรือร้นน้อยกว่านี้นักหนา โดยที่ปัจจุบันญี่ปุ่นก็ได้ยุ่งเกี่ยวพัวพันอยู่ในข้อพิพาทช่วงชิงดินแดนในทะเลหลายๆ กรณี ทั้งกับจีน, เกาหลีใต้, และรัสเซีย และประเด็นปัญหาเหล่านี้เองกลายเป็นปัจจัยกำหนดท่าทีของประเทศเหล่านี้ในการตอบสนองต่อคำแถลงของคณะรัฐบาลอาเบะ

ตัวอย่างเช่น เกาหลีใต้ซึ่งถึงแม้พรรครัฐบาลกับพรรคฝ่ายค้านสำคัญ จะไม่ค่อยลงรอยเห็นพ้องอะไรกันเอาเลย แต่อาเบะก็ประสบความสำเร็จในการทำให้พวกเขาผนึกกำลังสามัคคีกันอย่างน้อยก็เป็นการชั่วคราว โดยที่ตัวแทนของทั้งสองพรรคต่างออกมาประณามโจมตีความเคลื่อนไหวในคราวนี้ของญี่ปุ่น ว่าเป็นภัยคุกคามต่อเสถียรภาพของภูมิภาค ส่วนทางด้านสื่อมวลชนของจีนนั้นใช้ถ้อยคำกระด้างเกรี้ยวกราดยิ่งกว่านี้อีก โดยถึงกับระบุว่าญี่ปุ่น “มีเจตนารมณ์อันชั่วร้าย” อยู่เบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงตีความรัฐธรรมนูญกันใหม่คราวนี้

ไม่เพียงเท่านั้น ภายในแดนอาทิตย์อุทัยเอง ใช่ว่าประชาชนชาวญี่ปุ่นทั้งมวลจะแสดงความยินดีต้อนรับการเปลี่ยนแปลงทางนโยบายคราวนี้ หลักฐานซึ่งเห็นได้ชัดเจนที่สุดก็คือการที่นายกรัฐมนตรีอาเบะถูกบังคับให้ใช้วิธีผลักดันการเปลี่ยนแปลง ด้วยการออกมติคณะรัฐมนตรีในการตีความรัฐธรรมนูญกันใหม่ แทนที่จะพยายามขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงเนื้อหาข้อความของรัฐธรรมนูญกันตรงๆ ทั้งนี้เนื่องจากพรรคแกนนำรัฐบาลผสมของอาเบะ ตลอดจนเหล่าพันธมิตรทางการเมือง ไม่มั่นใจว่าจะสามารถรวบรวมเสียงสนับสนุนในรัฐสภาได้ถึงสองในสาม ซึ่งจำเป็นสำหรับการเปลี่ยนแปลงแก้ไขรัฐธรรมนูญนั่นเอง

ยิ่งกว่านั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญยังจะต้องจัดทำประชามติให้ประชาชนทั่วประเทศยืนยันเห็นชอบอีกด้วย จังหวะก้าวนี้ก็ดูจะไม่ใช่เรื่องง่ายดายอะไรเลย โดยตามผลการสำรวจที่จัดทำกันเมื่อเร็วๆ นี้ ชาวญี่ปุ่น 58% ทีเดียวคัดค้านการปฏิรูปล่าสุดคราวนี้ของอาเบะ ดังนั้นการแก้ไขเพื่อโยนมาตรา 9 ของรัฐธรรมนูญฉบับสันติภาพทิ้งไป ก็น่าที่จะเผชิญกับพลังคัดค้านพอๆ กันนี้ ถึงแม้ว่าในช่วงที่เขาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยแรกนั้น อาเบะได้พยายามแผ้วถางปูทางเกี่ยวกับเรื่องนี้เอาไว้บ้างแล้ว โดยที่ได้มีการออกกฎหมายเกี่ยวกับการลงประชามติกันใหม่ ซึ่งไม่มีการกำหนดอัตราส่วนขั้นต่ำสุดของผู้ออกมาใช้สิทธิ

ชินโซ อาเบะ นั้นได้เคยประกาศให้ทราบกันตั้งแต่เริ่มแรกแล้วว่า เขาต้องการให้ญี่ปุ่นกลับมามีบทบาททางการทหารอย่างแข็งกร้าวจริงจังเพิ่มมากขึ้น ทว่าคราวนี้ก็ไม่ใช่ครั้งแรกหรอก ที่รัฐบาลญี่ปุ่นไม่ว่าชุดใดก็ตาม ได้ทำการตีความรัฐธรรมนูญกันใหม่ เพื่อขยายบทบาทหน้าที่ของฝ่ายทหาร ซึ่งในปัจจุบันยังคงเรียกชื่อกันอย่างเป็นทางการว่า “กองกำลังป้องกันตนเอง” (Self-Defence Forces)

ภายหลังที่เกาหลีเหนือได้ยิงจรวดเข้ามาในน่านฟ้าของแดนอาทิตย์อุทัยเมื่อปี 1998 ญี่ปุ่นก็มีการตีความรัฐธรรมนูญกันใหม่ เพื่อทำให้ตนเองสามารถเข้าร่วมอยู่ในระบบป้องกันขีปนาวุธของสหรัฐฯได้ หรือภายหลังเหตุการณ์วินาศกรรม 11 กันยายน 2001 ญี่ปุ่นก็ได้ออกกฎหมายใหม่ๆ ซึ่งเปิดทางให้กองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่น สามารถเข้าไปสนับสนุนกองทหารสหรัฐฯที่ตั้งอยู่ภายนอกญี่ปุ่นได้ นอกจากนั้นยังได้ยกเลิกข้อห้ามในการใช้กำลังทหาร ในกรณีที่แดนอาทิตย์อุทัยถูกโจมตี

ช่วงใกล้ๆ เข้ามาอีก โตเกียวก็มีการตีความรัฐธรรมนูญกันใหม่ ซึ่งทำให้มีการกำจัดข้อห้ามในเรื่องการส่งออกยุทโธปกรณ์กันอย่างเป็นทางการ (ถึงแม้ในทางเป็นจริง ญี่ปุ่นก็ได้ขายยุทโธปกรณ์เช่นนี้มานมนานแล้ว เพียงแต่เสแสร้างแกล้งทำเป็นว่ามันเป็นอุปกรณ์เพื่อใช้ในกิจการด้านพลเรือน)

เมื่อมองกันโดยภาพรวมแล้ว จึงเห็นได้ว่าแทนที่พวกอนุรักษนิยมชาวญี่ปุ่นจะพุ่งเป้าเข้าโจมตีรัฐธรรมนูญฉบับสันติภาพกันตรงๆ พวกเขาก็กลับนิยมหันไปใช้วิธีตีความเอกสารฉบับนี้กันใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้ค่อยๆ ควักเอาเจตนารมณ์ดั้งเดิมของมาตรา 9 ออกไปเรื่อยๆ

การตัดสินใจในเรื่องการตีความรัฐธรรมนูญกันใหม่เพื่อให้มีการยอมรับเรื่องการป้องกันตนเองร่วมกันคราวนี้ ยังบังเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่โตเกียวกำลังจะเดินหน้าผลักดันให้มีการก่อสร้างฐานทัพทหารแห่งใหม่ของสหรัฐฯในเกาะโอกินาวะอีกด้วย ถึงแม้มีเสียงคัดค้านอย่างหนักแน่นจากประชาชนชาวโอกินาวะเกือบๆ สองในสาม แต่สหรัฐฯกับญี่ปุ่นก็ยังคงกำลังวางแผนการที่จะโยกย้ายฐานทัพอากาศเหล่านาวิกโยธินสหรัฐฯฟูเตนมะ (Futenma Marine Air Force Base) ให้ไปอยู่ในอาณาบริเวณที่จัดสร้างขึ้นมาใหม่ในเขตเฮโนโกะ (Henoko) ซึ่งอยู่บริเวณส่วนเหนือของเกาะแห่งนี้

ทั้งโตเกียวและวอชิงตันต่างกำลังออกแรงบีบคั้นกดดันอย่างมหาศาลต่อ ฮิโรกาซุ นากาอิมะ (Hirokazu Nakaima) ผู้ว่าการโอกินาวะ เพื่อให้เขาเปลี่ยนจุดยืนและหันมาสนับสนุนการจัดตั้งฐานทัพแห่งใหม่ดังกล่าวบนเกาะแห่งนี้ โดยที่ในเวลานี้เริ่มมีการทำงานจัดเตรียมสถานที่ก่อสร้างเบื้องต้นกันแล้ว ขณะที่งานขุดเจาะสำรวจมีกำหนดเริ่มต้นขึ้นตอนสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้

ชาวโอกินาวะนั้นคัดค้านมานานแล้วในข้อตกลงที่จะให้จัดสร้างฐานทัพแห่งใหม่ ซึ่งโตเกียวกับวอชิงตันได้ทำการเจรจาตกลงกันมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1990 แล้ว ทั้งนี้พวกเขาได้ดำเนินการประท้วงแบบอหิงสาด้วยการเข้าไปนั่งยึดพื้นที่เอาไว้โดยสงบ ณ หมู่บ้านเฮโนโกะ อย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลามากกว่า 15 ปี เวลานี้ขบวนการเคลื่อนไหวคัดค้านกำลังจัดทำแผนการที่จะขยายการต่อต้านของพวกเขาไปถึงจุดที่ทำการก่อสร้างฐานทัพด้วย

น่าสังเกตว่าการที่ญี่ปุ่นกำลังปรับเปลี่ยนจุดยืนทางการทหารของตนอย่างรวดเร็วเช่นนี้ ปรากฏขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับที่สหรัฐฯป่าวร้องอย่างเอิกเกริกในเรื่อง “การปักหมุดในเอเชีย-แปซิฟิก” หรือก็คือการปรับเปลี่ยนจัดวางกำลังเชิงยุทธศาสตร์เสียใหม่ โดยที่คณะรัฐบาลโอบามา กำลังเน้นย้ำความสำคัญของการที่ต้องปรับเปลี่ยนจุดโฟกัสทางการทหารและทางเศรษฐกิจมาที่เอเชียตะวันออก

ทว่าการปรับเปลี่ยนเช่นนี้กำลังเกิดขึ้นในจังหวะเวลาที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (เพนตากอน) มีทรัพยากรต่างๆ ที่สามารถนำมาใช้สอยได้น้อยลงกว่าในอดีต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับงบประมาณด้านกลาโหมซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลในยุคคณะรัฐบาลจอร์จ ดับเบิลยู บุช ดังนั้นเพื่อที่จะบรรลุความสำเร็จในการปักหมุดนี้ วอชิงตันจึงจำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยทรัพยากรต่างๆ จากพวกชาติพันธมิตรรายสำคัญๆ ในภูมิภาค อันได้แก่ เกาหลีใต้, ออสเตรเลีย, ฟิลิปปินส์, และญี่ปุ่น

ถึงแม้มีรัฐธรรมนูญฉบับสันติภาพคอยกีดขวางอยู่ แต่ปัจจุบันญี่ปุ่นก็สามารถคุยได้ว่าตนมีกองทัพขนาดใหญ่โตที่สุดกองทัพหนึ่งของโลก แดนอาทิตย์อุทัยยังตั้งงบประมาณใช้จ่ายทางการทหารมากที่สุดเป็นอันดับ 8 ของโลก แซงหน้าชาติเอเชียอื่นๆ ทั้งหมดยกเว้นจีนเท่านั้น อีกทั้งยังกำลังวางแผนเพิ่มการใช้จ่ายทางด้านนี้อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอในช่วงระยะเวลา 5 ปีถัดจากนี้

กองทัพญี่ปุ่นในปัจจุบันติดอันดับ 1 ใน 10 ในดัชนีแสนยานุภาพทางทหารของทั่วโลก (Global Firepower index) ยิ่งเมื่อมีทั้งเครื่องบินขับไล่ไอพ่นรุ่นใหม่ๆ ตลอดจนเรือพิฆาต และอากาศยานไร้นักบิน (โดรน) เพื่อการตรวจการณ์สอดแนม ไว้ใช้งาน จึงมีความเป็นไปได้ที่แดนอาทิตย์อุทัยจะได้เลื่อนอันดับสูงยิ่งขึ้นไปอีกด้วยซ้ำ ทั้งนี้ญี่ปุ่นได้ทำข้อตกลงกับสหรัฐฯเอาไว้แล้วว่าจะซื้อเครื่องบินขับไล่ เอฟ-35 เป็นจำนวน 42 ลำ ซึ่งจะต้องสิ้นค่าใช้จ่ายรวมประมาณ 10,000 ล้านดอลลาร์

พูดกันง่ายๆ ก็คือ ถ้าหากไม่มีญี่ปุ่นแล้ว การปักหมุดในเอเชีย-แปซิฟิกจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เนื่องจากเพนตากอนไม่อาจหางบประมาณใช้จ่ายมารองรับได้ ในอดีตสิ่งที่เคยดึงรั้งโตเกียวเอาไว้ไม่ให้เพิ่มระดับในการร่วมมือทางทหารกับสหรัฐฯให้มากยิ่งขึ้น ก็คือรัฐธรรมนูญฉบับสันติภาพนี่เอง มาถึงเวลานี้ อาเบะก็เท่ากับได้เคลื่อนย้ายอุปสรรคดังกล่าวออกไปแล้ว

ย้อนหลังกลับไปในอดีต ถึงแม้สหรัฐฯเคยเป็นผู้แสดงบทบาทสำคัญที่สุดในการร่างรัฐธรรมนูญของญี่ปุ่นฉบับนี้เมื่อปี 1946 แต่ทุกวันนี้วอชิงตันกำลังพยายามผลักดันอย่างหนักเพื่อให้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญเสียใหม่ เมื่อมองจากทัศนะมุมมองของการประหยัดเงินภาษีอากรของชาวอเมริกันแล้ว การที่สหรัฐฯกระตุ้นสนับสนุนนโยบายการทหารอย่างใหม่ของญี่ปุ่นนี้ก็ดูจะสมเหตุสมผลเป็นอย่างยิ่ง

ทว่าเมื่อนำเอาความตึงเครียดที่กำลังเพิ่มทวีขึ้นเรื่อยๆ ในภูมิภาคนี้ มาโยงใยสัมพันธ์กับการปรับเปลี่ยนจัดวางเชิงยุทธศาสตร์กันใหม่ของอาเบะแล้ว การคาดคำนวณของวอชิงตันก็อาจจะเข้าทำนองมุ่งหน้าสนใจระมัดระวังทำเรื่องเล็กๆ เฉพาะหน้า โดยมองไม่เห็นความยุ่งยากอันหนักหนาสาหัสที่จะเกิดตามมาในอนาคต

ข้อเขียนชิ้นนี้มาจาก สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส (ไอพีเอส) http://www.ipsnews.net ซึ่งเป็นสถาบันเพื่อการสื่อสารระหว่างประเทศที่มีสำนักข่าวระดับโลกเป็นแกนกลาง ไอพีเอสก่อตั้งขึ้นในปี 1964 มีความชำนาญเป็นพิเศษในการเสนอข่าวด้านพัฒนาการทางสังคมและเศรษฐกิจ, สิทธิมนุษยชน, สิ่งแวดล้อม, ตลอดจนเรื่องนโยบายการต่างประเทศของพวกมหาอำนาจพัฒนาแล้ว ซึ่งมองจากแง่มุมของการที่พวกเขามีปฏิสัมพันธ์กับพวกประเทศกำลังพัฒนา
กำลังโหลดความคิดเห็น