เอเอฟพี - กระบวนการจัดตั้งรัฐบาลของอิรักดูเหมือนจะต้องยืดเยื้อออกไปอีก ในขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจและชนเผ่าต่างๆ กำลังต่อต้านการโจมตีของกองกำลัง "รัฐอิสลาม" ซึ่งพยายามขยับเข้าใกล้กรุงแบกแดดมากขึ้น ด้านสหรัฐฯ ประเมินว่ามีความเสี่ยงที่ทหารอเมริกันผู้ให้คำปรึกษาแก่กองทัพอิรักอาจโดนจู่โจมจากพวกที่แทรกซึมเข้ามา
บรรดาชาติมหาอำนาจและผู้นำทางศาสนาของชาวมุสลิมนิกายชีอะห์ "อยาโตเลาะห์ อาลี อัลซิสทานี" ต่างพากันกดดันสมาชิกรัฐสภาของอิรักให้ละทิ้งเรื่องความเห็นที่แตกต่างของพวกเขาเอาไว้ก่อน ในระหว่างที่ประเทศกำลังเผชิญหน้ากับการโจมตีที่นำโดยบรรดานักรบญิฮัด ซึ่งขณะนี้ได้บุกยึดครองพื้นที่ในทางตะวันตกและทางเหนือเป็นพื้นที่กว้างขวางเอาไว้แล้ว
ทางด้านหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ รายงานว่า กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ได้ข้อสรุปการประเมินกองทัพอิรักแล้ว โดยเตือนทหารอเมริกันที่เข้าไปเป็นที่ปรึกษาให้กองทัพรัฐบาลอิรัก อาจมีความเสี่ยงด้านความปลอดภัยจากการแทรกซึมโดยพวกสุดโต่งนิกายสุหนี่ และกองทหารกับกองกำลังท้องถิ่นที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน
หนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าวซึ่งอ้างข้อมูลจากเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ยังระบุอีกว่า การประเมินครั้งนี้พบว่ามีหน่วยทหารในกองทัพอิรักเพียงแค่ประมาณครึ่งหนึ่งของทั้งหมดเท่านั้น ที่มีความสามารถเพียงพอที่จะปฏิบัติหน้าที่ได้ตามคำแนะนำของทหารสหรัฐฯ
สำหรับทางด้านกลุ่มนักรบญิฮัดของ "รัฐอิสลาม" (IS) เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (14 ก.ค.) ก็ได้เข้าโจมตีพื้นที่สุดท้ายที่ยังอยู่นอกเหนือการควบคุมของพวกเขาในเมืองดูลุยญา ที่ตั้งอยู่ทางเหนือของกรุงแบกแดดไปประมาณ 80 กิโลเมตร หลังจากที่เริ่มโจมตีครั้งแรกเมื่อวันอาทิตย์ (13 ก.ค.)
มาร์วาน มิตาบ เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ระบุว่า กองกำลังของรัฐอิสลามได้เจรจากับชนเผ่าที่ถือครองพื้นที่แถบอัลจาเบอร์ โดยเสนอว่าจะไว้ชีวิตบรรดานักรบของพวกเขาและบรรดาทหารของกองทัพอิรัก หากว่าพวกเขายอมจำนน แต่บรรดาชนเผ่าปฏิเสธข้อเสนอนั้น ทำให้เกิดการบุกโจมตีอีกครั้งในพื้นที่ทางตอนใต้ของเมืองดูลุยญา
โอมาร์ อัลจาบูรี หนึ่งในนักรบของชนเผ่า ระบุว่า พวกเขาได้ต้านทานข้าศึกมาเป็นเวลา 48 ชั่วโมงแล้ว แต่ต้องการกำลังหนุนและการป้องกันทางอากาศ เพื่อรักษาเมืองเอาไว้ พร้อมทั้งระบุอีกว่า แม้ในตอนนี้จะยังต้านไว้ได้ แต่กระสุนของพวกเขาก็ใกล้จะหมดเต็มที
เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (14 ก.ค.) นอกจากเมืองดูลุยญา ยังมีความรุนแรงเกิดขึ้นในพื้นที่อื่นๆ โดยเกิดเหตุระเบิดคาร์บอมบ์สองคันในกรุงแบกแดด และยังมีเหตุระเบิดริมถนนในพื้นที่ใกล้เคียง ทำให้มีคนตายอย่างน้อย 7 ราย
อีกทั้งยังมีระเบิดฆ่าตัวตายในพื้นที่คานากิน ทางตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงแบกแดด ทำให้กลุ่มนักรบชาวเคิร์ดเสียชีวิต 3 ราย ขณะที่การโจมตีทางอากาศของกองทัพอิรักไปโดนบ้านหลังหนึ่งในเมืองไบจิ ทางเหนือของแบกแดด ทำให้มีชาวบ้านเสียชีวิต 3 ราย
ทางด้านเมืองโมซุล ซึ่งถูกยึดครองโดยกองกำลังของ "รัฐอิสลาม" ในเดือนที่แล้ว ผู้นำทางศาสนาของคริสตจักรคาทอลิกในอิรัก ระบุว่า 2 แม่ชีและ 3 เด็กกำพร้าที่ถูกจับ ได้รับการปล่อยตัวแล้วเมื่อวันจันทร์ (14 ก.ค.)
ระหว่างที่ชาวอิรักกำลังบาดเจ็บล้มตายจากการสู้รบ สมาชิกรัฐสภาอิรักผู้หนึ่งก็ออกมาเปิดเผยว่า การประชุมสภาที่มีกำหนดเปิดขึ้นในวันนี้ (15 ก.ค.) คงจะต้องเลื่อนออกไปก่อน และนั่นอาจจะส่งผลให้กระบวนการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าออกไปด้วย
ฮัซซีน อัล-มาลิกี สมาชิกรัฐสภาจากกลุ่มของ นูริ อัล-มาลิกี นายกรัฐมนตรีอิรัก ได้ออกมาระบุว่า บรรยากาศต่างๆ ชี้ให้เห็นว่าคงจะต้องเลื่อนประชุมออกไปก่อน เพราะบรรดากลุ่มการเมืองต่างๆ ยังไม่สามารถตกลงกันได้
ทั้งนี้ รัฐสภาอิรักได้มีการประชุมไปแล้ว 2 ครั้งเพื่อเลือกประธานสภา ซึ่งจะต้องดำเนินการให้สำเร็จ เพื่อที่กระบวนการจัดตั้งรัฐบาลจะได้เดินหน้าต่อไปได้ แต่การประชุมทั้ง 2 ครั้งก็ล้มเหลวไม่เป็นท่า
มาห์ดี ฮาเฟซ ผู้รักษาการประธานรัฐสภา ได้กล่าวในการประชุมครั้งล่าสุดเมื่อวันอาทิตย์ (13 ก.ค.) ว่าไม่มีการบรรลุข้อตกลงใดเลย เพราะบรรดากลุ่มการเมืองไม่สามารถตกลงกันได้ จากนั้นก็มีการเลื่อนประชุมมาเป็นวันนี้ (15 ก.ค.)
ขณะที่การประชุมเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมก็ต้องหยุดลงเมื่อมีการกล่าวโจมตีกันของบรรดาสมาชิกรัฐสภา หลังจากนั้นเมื่อจะเริ่มประชุมต่อก็ไม่สามารถทำได้ เพราะองค์ประชุมไม่ครบ
นิโคไล มลาเดนอฟ ผู้แทนสหประชาชาติในอิรัก ได้ออกมาเตือนว่า ความล้มเหลวในการเลือกประธานสภาคนใหม่ ประธานาธิบดีคนใหม่ รวมถึงรัฐบาลชุดใหม่ ทำให้มีความเสี่ยงว่าประเทศนี้กำลังจะเกิดความปั่นป่วนวุ่นวาย
ด้านอดีตนายกรัฐมนตรีอิรัก อิบราฮิม อัลจาฟารี ก็ได้ออกมาพูดเมื่อวันอาทิตย์ (13 ก.ค.) เกี่ยวกับการประชุมสภาที่จะมีขึ้นในวันนี้ (15 ก.ค.) ว่าถ้าภายใน 48 ชั่วโมงยังตกลงกันไม่ได้ ให้ประชุมกันอีก 48 วันก็คงตกลงกันไม่ได้อยู่ดี
อย่างไรก็ตาม เสียงเรียกร้องเหล่านั้นก็ไม่ได้รับความสนใจ แถมโอกาสก็ดูจะลางเลือนลงไปทุกที ที่จะแก้ปัญหาความเห็นที่แตกต่างกันเรื่องการตั้งผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่สำคัญๆ รวมถึงปัญหาอื่นๆ ให้ได้โดยเร็ว
สายสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลอิรักกับเขตพื้นที่ปกครองตนเองของชาวเคิร์ดในอิรัก ตกต่ำที่สุดเท่าที่เคยมีมา นอกจากนี้ผู้นำอิรักก็ยังอยากจะดำรงตำแหน่งในวาระที่สามโดยไม่สนใจเสียงต่อต้านของบรรดาสมาชิกรัฐสภา
รัฐบาลของชาวเคิร์ด ได้เข้าครอบครองเขตพื้นที่บ่อน้ำมันทางตอนเหนือ หลังจากที่ได้เข้าควบคุมเขตพื้นที่อื่นๆ ที่กองทัพอิรักได้ทอดทิ้งไว้ตั้งแต่เมื่อเดือนที่แล้ว ช่วงที่ถอยหนีการบุกโจมตของกองกำลัง "รัฐอิสลาม" นอกจากนี้ มัซซุด บาร์ซานี ประธานาธิบดีของชาวเคิร์ด ยังได้เรียกร้องให้มีการทำฉันทามติเพื่อจะประกาศตัวเป็นประเทศเอกราช
มาลิกี ได้กล่าวหาชาวเคิร์ดว่า ฉวยโอกาสในตอนที่รัฐบาลถูกรุกรานและให้ที่พักพิงแก่กองกำลังของ "รัฐอิสลาม" ขณะที่อีกฝ่ายก็โต้กลับมาว่า อิรักไม่ยุติธรรมเรื่องการหักส่วนแบ่งรายได้น้ำมัน พร้อมทั้งเรียกร้องให้มาลิกีลงจากตำแหน่ง
มาลิกี เป็นชาวอาหรับนิกายชีอะห์ ที่ถูกมองจากฝ่ายตรงข้ามว่า เป็นผู้นำที่ทำให้เกิดความแตกแยกทางศาสนา เขายังไม่มีแผนที่จะลงจากตำแหน่ง แม้ว่าแรงสนับสนุนทางการเมืองของเขากำลังง่อนแง่นเข้าไปทุกที แถมยังมีเสียงเรียกร้องจากสหรัฐฯ ให้เปลี่ยนเอาเขาลงจากอำนาจ แต่ถึงกระนั้นหลังจากที่รัฐบาลผสมของเขาชนะการเลือกตั้งเมื่อเดือนเมษายน ก็ยังไม่มีฉันทามติที่ชัดเจนจากคนส่วนใหญ่ ว่าจะเอาใครมาแทนที่นักการเมืองวัย 64 ปีคนนี้