เอพี - เอกสารลักษณะคล้ายสารานุกรมที่เกี่ยวข้องกับแผนจารกรรมในยุคสงครามเย็น ที่ถูกซุกซ่อนไว้ในถังเก็บนม ใต้กระท่อมในชนบทของรัสเซีย ได้รับการเผยโฉมเป็นครั้งแรก
เอกสารดั้งเดิมที่เปิดโปงแวดวงข่าวกรองครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ เป็นต้นว่า ใครกำลังตามสอดแนมใครในโซเวียต ได้รับการเปิดเผยในวันนี้ (7 ก.ค.) ภายหลังถูกเก็บซ่อนไว้มานานถึง 2 ทศวรรษ
แฟ้มเอกสารที่ วาสิลี มิโตรฮิน เจ้าหน้าที่อาวุโสของหน่วยเคจีบี ลอบนำออกจากแดนหมีขาวเมื่อปี 1992 มีเนื้อหาอธิบายแผนก่อวินาศกรรม, คลังอาวุธวางกับระเบิด และกองทัพสายลับที่แฝงตัวในชาติตะวันตก ซึ่งเป็นเรื่องราวในชีวิตจริงที่เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ตัวละครสายลับชาวโซเวียตในซีรีส์โทรทัศน์ “ดิ อเมริกันส์” หรือ ปฏิบัติการลับข้ามแดน
ในความเป็นจริงแล้ว การเป็นสายลับชั้นยอดนั้นเป็นเรื่องยาก โดยเอกสารชุดนี้เผยว่า มีบางส่วนได้รับการปูนบำเหน็จบำนาญจากสหภาพโซเวียตที่ตระหนักในคุณูปการที่พวกเขามีต่อประเทศ ขณะที่คนอื่นๆ ปากไม่มีหูรูด ขี้เมา และไม่น่าเชื่อถือ
คริสโตเฟอร์ แอนดรูว์ นักประวัติศาสตร์ด้านข่าวกรอง กล่าวว่า บรรดาเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของอังกฤษและสหรัฐฯ ได้พิจารณาว่า เอกสารจำนวนมหาศาล ซึ่งหอจดหมายเหตุเชอร์ชิลล์ แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์นำออกเผยแพร่ชุดนี้ว่าเป็น “แหล่งข่าวด้านข่าวกรองเพียงแหล่งเดียวที่สำคัญที่สุดเท่าที่เคยมีมา”
ทั้งนี้ มิโตรฮิน คือนักจดหมายเหตุระดับอาวุโสประจำสำนักงานด้านข่าวกรองต่างประเทศของเคจีบี ที่แปรพักตร์ลอบนำเอกสารเหล่านี้กลับไปคัดลอกที่บ้าน และจัดพิมพ์รวบรวมเป็นหมวดหมู่ โดยเขาได้นำเอกสารเหล่านี้ไปซ่อนในกระท่อมชนบท ขณะที่นำบางส่วนยัดลงไปในถังเก็บนม หรือนำไปฝัง
หลังจากสหภาพโซเวียตล่มสลายเมื่อปี 1991 มิโตรฮินได้เดินทางไปยังประเทศแถบทะเลบอลติก ที่ไม่ได้รับการยืนยันว่าเป็นประเทศใด เพื่อส่งตัวอย่างเอกสารให้แก่สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ แต่แล้วก็ถูกตีกลับมา เขาจึงลองไปที่สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษ สถานที่ซึ่งนักการทูตรุ่นน้องเรียกเขาไปพบแล้วถามว่า “รับชาสักถ้วยไหมครับ”
แอนดรูว์ กล่าวว่า “ประโยคนั้นเปลี่ยนชีวิตเขาไปเลย”
ภายหลังที่มิโตรฮินลักลอบหนีออกจากรัสเซีย เขาก็ใช้ชีวิตที่เหลือในอังกฤษ โดยเปลี่ยนชื่อและได้รับความคุ้มครองจากตำรวจ จนกระทั่งเสียชีวิตลงเมือปี 2004 ด้วยวัย 81 ปี
วีรกรรมของมิโตรฮิลยังไม่ได้รับการประกาศให้โลกรู้ จนกระทั่งเมื่อปี 1999 แอนดรูว์ตีพิมพ์หนังสือที่มีเค้าโครงมาจากเอกสารของเขา วรรณกรรมเล่มนั้นได้สร้างความตื่นเต้นให้แก่ผู้อ่านด้วยการเผยตัวตนของสายลับเคจีบีหลายคน ซึ่งรวมถึง เมลิตา นอร์วูด วัย 87 ปี หรือ “สายลับหญิงรุ่นทวด” ที่ช่วยโซเวียตล้วงความลับเรื่องระเบิดปรมาณูของอังกฤษมานานหลายปี
แฟ้มเอกสารลับของมิโตรฮิน ระบุว่า นอร์วูด เป็น “สายลับผู้ซื่อสัตย์ น่าเชื่อถือ และเคร่งครัดในวินัย” ที่ได้รับรางวัลเหรียญกล้าหาญจากการปฏิบัติภารกิจ
เธอเป็นคนที่น่าเชื่อถือมากกว่า “สายลับเคมบริดจ์” ชื่อดัง ที่เป็นเจ้าหน้าข่าวกรองระดับสูงของอังกฤษที่ลอบทำภารกิจให้โซเวียต แฟ้มเอกสารชุดนี้ระบุว่า กาย เบอร์เกส ยังสามารถประพฤติตนได้ “อย่างคงเส้นคงวาแม้ว่าจะเมา” ขณะที่โดนัลด์ แมคลีน “เก็บความลับได้ไม่เก่งนัก”
เอกสารที่ได้รับการเปิดเผยเมื่อเร็วๆ นี้ ยังรวมถึงรายชื่อสายลับเคจีบีราว 1,000 คน ที่แฝงตัวในสหรัฐฯ เมื่อช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งมีความยาวถึง 40 หน้า
หนึ่งในสายลับซึ่งเป็นที่ขึ้นชื่อลือชามากที่สุด คือ โรเบิร์ต ลิปกา ที่ใช้นามแฝงว่า “แดน” เขาเป็นลูกจ้างสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ ที่ได้รับค่าจ้าง 27,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ จากการล้วงความลับให้รัสเซียในช่วงทศวรรษ 1960 หลังจากอังกฤษส่งข้อมูลของมิโตรฮินให้แก่หน่วยงานข่าวกรองอเมริกัน ทั้งนี้ ลิปกาถูกจับกุมและจำคุกนานถึง 18 ปี
นอกจากนี้ เอกสารที่ถูกแบ่งเป็นหลายตอนชุดนี้ยังเปิดเผยด้วยว่า สายลับโซเวียตได้ซุกซ่อนอาวุธและอุปกรณ์สื่อสารในสถานที่ลับทั่วประเทศสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ซึ่งรวมถึงแผนที่กรุงโรมที่เผยตำแหน่งที่ตั้งคลังอาวุธ พร้อมทั้งคำอธิบายเพื่อการค้นหาโดยละเอียด แต่ไม่เป็นที่ชัดเจนว่า เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของตะวันตกสามารถหาคลังแสงพบทั้งหมดกี่แห่ง
ขณะที่สายลับบางส่วนตั้งเป้าสอดแนมโลกตะวันตก แต่ก็มีอีกจำนวนมากที่ถูกส่งไปล้วงความลับจากชาติสมาชิกสหภาพโซเวียตด้วยกัน โดยเอกสารฉบับนี้ระบุรายชื่อสายลับที่ถูกส่งไปยังประเทศเชโกสโลวาเกียในสมัยนั้น เพื่อแฝงตัวไปกับกลุ่มหนอนบ่อนไส้ที่อยู่เบื้องหลังการลุกฮือซึ่งรู้จักกันในชื่อ “ปราก สปริง” ของฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตย เมื่อปี 1968 ขณะที่มีส่วนอื่นๆ คอยสะกดรอย คารอล วอยตีวา นักบวชชาวโปแลนด์ ซึงได้รับการแต่งตั้งเป็นสมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น ปอลที่ 2 ในเวลาต่อมา โดยหน่วยเคจีบีเกิดความคลางแคลงว่า ว่าที่พระสันตะปาปามี “แนวคิดต่อต้านระบอบคอมมิวนิสต์อย่างรุนแรง”
หอจดหมายเหตุเชอร์ชิลล์ ได้อนุญาตให้คณะนักวิจัยเปิดกล่องบรรจุแฟ้มเอกสารภาษารัสเซียหลายพันแฟ้มทั้งหมด 19 กล่อง ซึ่งมิโตรฮินเป็นผู้จัดพิมพ์จากฉบับที่เขาคัดลอกด้วยลายมือ ขณะที่เอกสารฉบับคัดลอกก็ยังคงได้รับการจัดเรียงเป็นหมวดหมู่
แอนดรูว์ กล่าวว่า มิโตรฮินต้องเผชิญความเสี่ยงใหญ่หลวง เมื่อเขาทราบดีว่า “กระสุนนัดเดียว” จะพุ่งตรงมายังท้ายทอย หากเขาถูกจับได้
แอนดรูว์ ชี้ว่า “เอกสารเหล่านี้เป็นสิ่งที่สำคัญต่อเขามากเสียจน เขายอมนำชีวิตตัวเองไปแขวนบนเส้นด้าย”