คลิปตำรวจปราบจลาจลออกมาคุกเข่าขอโทษผู้ชุมนุมเมื่อวันอังคาร (25) หลังต้องกลายเป็นที่จงเกลียดจงชังท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมือง
เอเจนซีส์ - ยูเครนประกาศยุบหน่วยตำรวจปราบจลาจลที่เป็นที่จงเกลียดจงชังของผู้ประท้วง เพื่อฟื้นความเชื่อมั่นและเอกภาพ ในเวลาที่ประเทศกำลังแตกแยกทางการเมืองและเผชิญภาวะแหลกเหลวทางเศรษฐกิจ ขณะเดียวกัน อังกฤษ-อเมริกาเห็นพ้องอัดฉีดเคียฟโดยยกให้ไอเอ็มเอฟเป็นแม่งาน พร้อมหยอดมอสโกควรมีส่วนร่วมลงขันด้วย อย่างไรก็ตาม รัสเซียยังคงแสดงความไม่พอใจ โดยล่าสุดประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน สั่งตรวจเช็กความพร้อมรบของกองทัพหมีขาว
อาร์เซน อวาคอฟ รักษาการรัฐมนตรีมหาดไทยยูเครน โพสต์บนเฟซบุ๊กเมื่อวันพุธ (26 ก.พ.) ว่า ได้ลงนามคำสั่งยุบหน่วยตำรวจปราบจลาจล หรือ “เบอร์คุต” ทั้งนี้ให้มีผลทันที โดยจะมีการเปิดเผยรายละเอียดในภายหลัง ซึ่งอาจรวมถึงอนาคตของตำรวจราว 5,000 คนของหน่วยนี้ ว่าจะถูกปลดหรือโอนย้ายไปสังกัดหน่วยงานอื่น
บางช่วงบางตอนระหว่างการประท้วงในกรุงเคียฟที่เริ่มต้นตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ตำรวจเบอร์คุตถือโล่และปืนไรเฟิลเข้าสลายการชุมนุม, ซุ่มยิงจากระยะไกล, และทุบตีผู้ประท้วงที่ถูกจับอย่างทารุณ โดยเฉพาะกรณีที่ชายคนหนึ่งถูกบังคับให้เปลื้องผ้าท่ามกลางอุณหภูมิติดลบและตำรวจบางคนถ่ายภาพเก็บไว้ จากนั้นภาพนี้ได้ไปปรากฏบนอินเทอร์เน็ตเป็นที่โจษขานไปทั่วโลก
การตัดสินใจคราวนี้คาดว่า เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการฟื้นความเชื่อมั่นและเอกภาพของรัฐบาลรักษาการที่ต้องรับมือศึกสองด้าน ทั้งการคุกคามจากกระแสแบ่งแยกดินแดนในพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงใต้ที่สนับสนุนรัสเซีย กับความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้
บรรดาผู้นำรักษาการของยูเครนยังถูกกลุ้มรุมจากการตัดสินใจของรัสเซียในการระงับเงินอัดฉีดกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์ที่ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน รับปากไว้กับวิกเตอร์ ยานูโควิช ที่ถูกรัฐสภายูเครนปลดจากตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว และขณะนี้เร่ร่อนหลบหนีหมายจับอยู่ในเมืองใดเมืองหนึ่งในประเทศ
คำมั่นดังกล่าวเป็นการตกรางวัลที่ยานูโควิชยกเลิกการทำสัญญาการค้ากับสหภาพยุโรป (อียู) และหันกลับมาคบค้าสนิทสนมกับมอสโกแทน
การตัดขาดของเครมลินทำให้รัฐบาลยูเครนที่มีภาระในการชำระหนี้ต่างประเทศ 13,000 ล้านดอลลาร์ในปีนี้ แต่มีเงินอยู่ในคลังไม่ถึง 18,000 ล้านดอลลลาร์ ต้องหันไปฝากความหวังกับตะวันตกโดยตั้งเป้าขอเงินอัดฉีดถึง 35,000 ล้านดอลลาร์
ทั้งอเมริกาและอังกฤษต่างประกาศสนับสนุนการร่วมมือกันช่วยเหลือยูเครนภายใต้การนำของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ)
นอกจากนั้น จอห์น เคร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ยังแถลงระหว่างต้อนรับการมาเยือนของวิลเลียม เฮก รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ เมื่อวันอังคาร (25) ว่า สถานการณ์ของยูเครนไม่ใช่การต่อสู้ระหว่างตะวันตกกับตะวันออก ซึ่งเป็นการตอบโต้คำกล่าวอ้างของรัสเซียโดยตรงที่ว่า ยูเครนกำลังถูกบีบให้ต้องเลือกข้างครั้งสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์
ทางด้านเฮกขานรับว่า ยูเครนต้องการความช่วยเหลือทางการเงินจากแหล่งต่างๆ ซึ่งรวมถึงรัสเซีย
รัฐมนตรีต่างประเทศเมืองผู้ดีมีกำหนดเดินทางไปเคียฟเร็วๆ นี้ ขณะที่วิลเลียม เบิร์นส์ รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศสหรัฐฯ เดินทางถึงยูเครนเมื่อวันอังคาร และเตรียมเข้าพบหารือกับโอเล็คซานเดอร์ ตูร์ชินอฟ รักษาการประธานาธิบดียูเครน เย็นวันพุธ
วันเดียวกัน แคทเธอลีน แอชตัน ประธานด้านนโยบายการต่างประเทศของอียู เสร็จสิ้นการเยือนเคียฟเป็นเวลา 2 วัน และได้ระบุถึงแนวทางการแก้ปัญหาเศรษฐกิจระยะสั้นสำหรับยูเครน แต่ไม่ได้พาดพิงถึงการขยายสินเชื่อหลายหมื่นล้านดอลลาร์ที่ตูร์ชินอฟร้องขอแต่อย่างใด
ตูร์ชินอฟและเหล่าผู้นำรักษาการที่ถูกรัสเซียตั้งคำถามถึงความชอบธรรมตามกฎหมายของยูเครน รวมทั้งประณามว่า ใช้ความรุนแรงไต่เต้ายึดอำนาจจากยานูโควิชนั้น กำลังพยายามจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวเพื่อบริหารประเทศก่อนที่จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ 25 พฤษภาคม
มีรายงานในวันพุธว่า จะมีการประกาศรายชื่อคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ในเวลา 1 ทุ่มวันพุธ ตามเวลาท้องถิ่น (ตรงกับ 24.00 น.เวลาเมืองไทย) บนเวทีการชุมนุมที่จัตุรัสไมดาน (จัตุรัสเอกราช) กลางกรุงเคียฟ
ในส่วนกระแสการแบ่งแยกดินแดนนั้นสร้างความกังวลอย่างมากต่อผู้นำรักษาการ มีรายงานว่า ตูร์ชินอฟผลุนผลันออกจากการประชุมฉุกเฉินของรัฐสภาเมื่อวันอังคาร เพื่อร่วมหารือเรื่องนี้กับหน่วยงานความมั่นคง โดยจุดร้อนของปัญหานี้อยู่ที่เขตปกครองตนเองไครเมีย ที่ล่าสุดฝูงชนได้ขับไล่นายกเทศมนตรีเมืองเซวาสโตโปล และแต่งตั้งพลเมืองรัสเซียขึ้นดำรงตำแหน่งแทน และมีการนัดหมายชุมนุมเพื่อแสดงการสนับสนุนรัสเซียในวันพุธ
ทางด้านสำนักข่าวของทางการรัสเซียรายงานในวันพุธว่า ประธานาธิบดีปูติน ได้ออกคำสั่งให้ทำการตรวจความพร้อมรบของกองทัพรัสเซียที่ประจำอยู่ทางภาคตะวันตกและภาคกลางของประเทศ รวมทั้งพื้นที่ซึ่งมีพรมแดนติดต่อกับยูเครนในทันที
ทั้งนี้ คำสั่งตรวจเช็กคราวนี้ครอบคลุมหน่วยทหารของกองทัพบก, กองทัพเรือ, และกองทัพอากาศ ซึ่งตั้งฐานอยู่ในพื้นที่ภาคทหารตะวันตก อันเป็นอาณาบริเวณกว้างขวางรวมถึงพื้นที่ชายแดนประชิดยูเครน, เบลารุส, พวกประเทศริมทะเลบอลติก, และทวีปอาร์กติก
ตามรายงานของสำนักข่าวอินเตอร์แฟกซ์ รัฐมนตรีกลาโหม เซอร์เก ชอยกู กล่าวว่า การตรวจความพร้อมรบนี้มุ่งที่จะรับมือกับสถานการณ์วิกฤตซึ่งกำลังคุกคามความมั่นคงทางทหารของรัสเซีย ตลอดจนเป็นการปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายไปด้วย
อย่างไรก็ตาม เมื่อปีที่แล้ว ปูตินก็เคยออกคำสั่งตรวจสอบความพร้อมรบในทันทีเช่นนี้มาแล้ว พร้อมกับกล่าวในตอนนั้นว่าควรที่จะมีการซักซ้อมเรื่องนี้เป็นประจำ
ชอยกูระบุว่า การตรวจความพร้อมรบคราวนี้จะเริ่มตั้งแต่วันพุธ (26) ไปสิ้นสุดในวันที่ 3 มีนาคม