เอเอฟพี - องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ได้เปิดฉากการสอบสวนภายในหน่วยงาน ภายหลังกองกำลังรักษาสันติภาพร่วมของยูเอ็น ในรัฐดาร์ฟูร์ที่มีปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นรุนแรงถูกกล่าวหาว่าพยายามปกปิดกรณีที่กองกำลังซูดานก่ออาชญากรรมต่อพลเรือนตนเอง
กองกำลังรักษาสันติภาพร่วมระหว่างองค์การสหประชาชาติและสหภาพแอฟริกา (UNAMID) ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2007 ได้รับมอบหมายภารกิจที่สำคัญที่สุดคือ การปกป้องพลเรือน และให้วามช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในรัฐดาร์ฟูร์ ของซูดาน อันเป็นจุดศูนย์กลางของเหตุรุนแรง ที่คร่าชีวิตประชาชนไปเกือบ 300,000 คนและทำให้ชาวซูดานถึง 2 ล้านคนต้องกลายสภาพเป็นผู้พลัดถิ่น
เมื่อเดือนที่แล้ว อัยการสูงสุดของศาลอาญาระหว่างประเทศ (ไอซีซี) ได้ขอให้ยูเอ็นสืบสวนข้อกล่าวหาที่บั่นทอนความน่าเชื่อถือเหล่านี้ พร้อมทั้งสอบสวนสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงจากหลายประเทศ เช่น ฝรั่งเศส และอังกฤษ เพื่อหาหลักฐานสนับสนุน
สตีเฟน ดูจาร์ริก โฆษกของ บัน คีมูน เลขาธิการยูเอ็นระบุวานนี้ (2 ก.ค.) ว่า บันกำลังวิตกกังวลกับข้อกล่าวหา “ร้ายแรง” เหล่านี้
ดูจาร์ริกกล่าวว่า “ข้อกล่าวหาเหล่านี้เกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหามากมาย ตัวอย่างเช่น การรายงานสถานการณ์ในดาร์ฟูร์อย่างไม่ตรงตามความเป็นจริง โดยเฉพาะการที่กองกำลังล้มเหลวในการปกป้องคุ้มครองพลเรือน และข้อกล่าวหาที่ว่า UNAMID บริหารงานผิดพลาด” พร้อมกันนี้เขาได้ตั้งข้อสังเกตว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมากองกำลังรักษาสันติภาพเริ่มตกเป็นเป้าในการสอบสวนและพิจารณาทบทวนหลายต่อหลายครั้ง
เขากล่าวเสริมว่า “เลขาธิการยังคงให้คำมั่นว่าจะปรับปรุงศักยภาพของ UNAMID และตั้งใจแน่แน่ว่าจะดำเนินมาตรการที่จำเป็นทุกรูปแบบ เพื่อแก้ไขการกระทำผิดใดๆ ก็ตาม”
“เขาได้สั่งการให้สำนักเลขาธิการทบทวนรายงานผลการสืบสวนและไต่สวนโดยทั้งหมดที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่กลางปี 2012 เพื่อตรวจสอบว่ากองกำลังได้ปฏิบัติตามคำแนะนำของพวกเขา และมีการลงมือแก้ไขประเด็นปัญหาใดๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างสุดความสามารถหรือไม่”
“การพิจารณาทบทวนซึ่งจะแล้วเสร็จภายในเวลา 1 เดือนคราวนี้ จะทำให้ท่านเลขาธิการตัดสินใจได้ว่ามีการลงมือทำอะไรไปบ้าง และหากเป็นข้อเสนอแนะที่สำคัญ ก็ต้องพิจารณาว่าจำเป็นต้องดำเนินมาตรการแก้ไขเช่นไร”
ทั้งนี้ สื่อหลายเจ้าได้พากันกล่าวหา UNAMID โดยคำวิพากษ์วิจารณ์ซึ่งเป็นที่โจษจันมากที่สุดมาจาก ไอชา เอล-บาซรี อดีตโฆษกของ UNAMID ที่ตีพิมพ์ในนิตยสารอเมริกัน “ฟอเรน โพลิซี” (นโยบายการต่างประเทศ)